ดึงJRFเปิดรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ขนสินค้าหนองปลาดุก-แหลมฉบังชี้ภาคเกษตรรับอานิสงส์

11 ม.ค. 2559 | 06:00 น.
รถไฟไทย-ญี่ปุ่นกดปุ่มเริ่มวันที่ 27 มกราคม 2559 นี้ ดึงกลุ่ม JRF ประเดิมทดลองเดินรถขนส่งสินค้าช่วงหนองปลาดุก-แหลมฉบัง ก่อนขยายเส้นทางเชื่อม 3 ประเทศ 3 ท่าเรือน้ำลึกและ 3 พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแนวเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ ร.ฟ.ท. เชื่อปลุกราคาผลิตภัณฑ์การเกษตรโซนตะวันตกกระหึ่มแน่ ส่วนไจก้าแบไต๋พร้อมจูงเอกชนไทย-ญี่ปุ่นเข้าร่วมเส้นทางโลจิสติกส์หลังผ่านการทดสอบแล้ว

แหล่งข่าวระดับสูงของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาระบบรางตามโครงการความร่วมมือทางรถไฟไทย-ญี่ปุ่นว่า การพัฒนาเส้นทางรถไฟแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกตอนใต้ (Lower East-West Corridor) เส้นทางกาญจนบุรี (บ้านพุน้ำร้อน)-กรุงเทพฯ-แหลมฉบังและกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ระยะทาง 574 กม. ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ลงนามในร่างบันทึกความร่วมมือ (MOC) กับกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่นนั้น ในระยะแรกจะทำการปรับปรุงเส้นทาง โดยได้ปรับปรุงเปลี่ยนราง เปลี่ยนหมอนเป็นช่วงๆ เพื่อเปิดทดลองเดินรถขนส่งสินค้าในช่วงปลายเดือนมกราคม 2559 เพื่อทดสอบคุณภาพรางขนาด 1 เมตร ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ก่อนเดินหน้าพัฒนาเป็นระบบทางคู่ และตั้งบริษัทร่วมทุนเดินรถในอนาคตต่อไป

ทั้งนี้แนวเส้นทางรถไฟดังกล่าวนี้ ญี่ปุ่นและไทยมีแผนเปิดโครงข่ายให้เชื่อมโยง 3 ท่าเรือของ 3 ประเทศและ 3 เขตเศรษฐกิจพิเศษในภูมิภาคนี้คือ ท่าเรือน้ำลึกทวายในเมียนมา ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังในประเทศไทย และท่าเรือน้ำลึกสีหนุวิลล์ของเวียดนามที่จะใช้เส้นทางจากอำเภออรัญประเทศผ่านไปเข้ากัมพูชา นอกจากนั้นยังเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของเมียนมา เขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว และเขตเศรษฐกิจพิเศษกาญจนบุรีในประเทศไทยอีกด้วย

“เบื้องต้นขณะนี้ได้แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบงานในวันที่ 27 มกราคม นี้เรียบร้อยแล้ว โดยฝ่ายไทยดัดแปลงรถให้สามารถรองรับการขนส่งตู้สินค้าขนาด 12 ฟุต กำหนดจุดขนส่งสินค้า และจัดเตรียมพื้นที่สำหรับการยกขนสินค้า ส่วนฝ่ายญี่ปุ่นจัดเตรียมตู้สินค้าขนาด 12 ฟุตและขนาด 20 ฟุต เตรียมเครื่องมือที่ใช้สำหรับทำการยกขนตู้สินค้าที่จะมีการทดลองทุกสถานี โดยดึงกลุ่มบริษัท Japan Freight Railway Company หรือ JRF เข้ามาดำเนินงาน แต่จากการหารือร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น(ไจก้า) สำนักงานประจำประเทศไทยแล้วคงจะยังไม่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนไทย-ญี่ปุ่นรายอื่นๆเข้าร่วมในครั้งนี้

แต่หากผลการทดสอบเป็นที่พึงพอใจก็จะเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ต่อไป โดยเฉพาะผู้ที่สนใจด้านการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ต่างๆ โดยเฉพาะการขนส่งผลิตภัณฑ์ประเภทสินค้าการเกษตร อาทิ อ้อย มันสำปะหลัง หรืออุตสาหกรรมต่างๆ อย่างอุตสาหกรรมอาหารทะเลในพื้นที่สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม ก็มีโอกาสอย่างมากที่จะเข้ามาร่วมในโครงการต่อไป”

ด้านนายทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)กลุ่มธุรกิจการเดินรถ ในฐานะประธานคณะทำงานศึกษาความเป็นไปได้ในการขนส่งตู้สินค้า ภายใต้ความร่วมมือระหว่างไทย-ญี่ปุ่นครั้งนี้ กล่าวว่า การเริ่มต้นโครงการรถไฟไทย-ญี่ปุ่นในวันที่ 27 มกราคม 2559 จะใช้รถไฟของญี่ปุ่นทั้งหัวจักร และแคร่บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 12 ฟุตในการทดลองเดินรถสินค้า แม้ว่าก่อนหน้านี้ทางญี่ปุ่นต้องการให้เป็นการทดลองวิ่งรถเปล่า แต่ฝ่ายไทยเห็นว่าควรต้องทดลองขนส่งสินค้าจริงๆ

“ขณะนี้อยู่ระหว่างการวางแผนเพื่อเตรียมขนส่งสินค้า และจะทำให้เห็นภาพจริง ส่วนระยะที่ 2 จะเป็นการก่อสร้างเป็นทางคู่ ซึ่งเส้นทางจะต้องก่อสร้างเชื่อมไปที่ท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมทวายในเมียนมาอีกด้วย โดยจะมีพิธีเริ่มต้นโครงการความร่วมมือรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ในวันที่ 27 มกราคม 2559 ที่สถานีหนองปลา-ท่าเรือแหลมฉบัง”

สำหรับความร่วมมือเพื่อพัฒนาเส้นทางรถไฟแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกตอนใต้ (Lower East-West Corridor) เส้นทางกาญจนบุรี (บ้านพุน้ำร้อน)-กรุงเทพฯ-แหลมฉบังและกรุงเทพฯ-อรัญประเทศ ระหว่างไทย-ญี่ปุ่นนั้น จะมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อบริหารการเดินรถ ซึ่ง ร.ฟ.ท. จะต้องเสนอแนวทางการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เช่นสัดส่วนหุ้น ขอบเขตของธุรกิจของบริษัทร่วมทุนภายในต้นปี 2559

นอกจากนี้จะมีการก่อสร้างเส้นทางช่วงที่ขาดอยู่ประมาณ 42 กม. แบ่งเป็นช่วงจาก กาญจนบุรี-พุนํ้าร้อน ระยะทาง 26 กม. และช่วงอรัญประเทศ-คลองลึก ระยะทาง 6 กม. โดยแนวเส้นทางรถไฟตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกตอนใต้ถือเป็นเส้นทางผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยจะสามารถพัฒนาได้รวดเร็ว เนื่องจากมีแนวเส้นทางรถไฟขนาดราง 1 เมตรเดิมเปิดให้บริการอยู่แล้วในปัจจุบันนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,121 วันที่ 10 - 13 มกราคม พ.ศ. 2559