แอล.พี.เอ็น.เปิดกลยุทธ์ปีวอก รุกตลาดตั้งเป้าโกยรายได้/ยอดขาย 1.76 หมื่นล.

13 ม.ค. 2559 | 03:00 น.
แม้ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2558 จะไม่ค่อยคึกคักเท่าใดนัก แต่สำหรับบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กลับมีอัตราการเติบโตสูงถึง 36% และปี 2559 นี้บริษัทตั้งเป้าการเติบโตที่ประมาณ 10% จากปีก่อน โดยเตรียมแผนพัฒนาโครงการ 8-10 โครงการ มีมูลค่าโครงการรวมประมาณ 1.7-1.8 หมื่นล้านบาท พร้อมตั้งเป้ารายได้และยอดขายอยู่ที่ประมาณ 1.76 หมื่นล้านบาท

[caption id="attachment_25884" align="aligncenter" width="600"] ห้องชุด ห้องชุด[/caption]

 4 เดือนแรกคาดยอดโอนหมื่นล้าน

นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ LPN เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแผนการดำเนินงานและกลยุทธ์ในปี 2559 ว่า เป้ารายได้และยอดขายที่ตั้งไว้ คาดว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าอย่างแน่นอน หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่คาดไม่ถึงอย่างเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น โดยช่วง 4 เดือนแรกปี 2559 คาดว่าจะมียอดโอนกรรมสิทธิ์จำนวน 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งมาจากการเร่งก่อสร้างโครงการที่มีกำหนดแล้วเสร็จในไตรมาส 2/59 ให้แล้วเสร็จภายในไตรมาส 1/59 จำนวน 3 โครงการ 2.2 พันหน่วย รวมมูลค่า 5.8 พันล้านบาท

ประกอบด้วย โครงการเดอะ ลุมพินี ทเวนตี้โฟร์ (The Lumpini 24) โครงการลุมพินี พาร์ค เพชรเกษม 98 และโครงการลุมพินี พาร์คบีช ชะอำ และการรับรู้รายได้จาก 4โครงการเดิมที่มีกำหนดโอนในไตรมาส 1/59ได้แก่ โครงการลุมพินี เพลส บรมราชชนนี-ปิ่นเกล้า โครงการลุมพินี พาร์ค นวมินทร์-ศรีบูรพา โครงการลุมพินี คอนโดทาวน์ ร่มเกล้า-สุวรรณภูมิ และโครงการลุมพินี ทาวน์ชิป รังสิต-คลอง1 เฟส 3 รวม 8.4 พัน หน่วย มูลค่าโครงการรวม 8.1 พันล้านบาท

สำหรับแผนงานก่อสร้างในช่วงที่เหลือของปี 2559 บริษัทมีโครงการที่มีกำหนดแล้วเสร็จอีก 4 โครงการ จำนวนประมาณ 6.7 พันหน่วย มูลค่าโครงการรวมประมาณ 6.07 พันล้านบาท โดยโครงการใหม่ที่จะพัฒนาในปีนี้จะมีขนาดเล็กลง มูลค่าโครงการเฉลี่ยไม่เกิน 1 พันล้านบาท จำนวน 1.5-1.6 พันหน่วยต่อโครงการหรือต่อเฟส ขนาดพื้นที่ 6-7 หมื่นตร.ม.ต่อโครงการ ปัจจุบันบริษัทมีโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จคงเหลือ ณ สิ้นปี 2558 อยู่ที่ประมาณ 3-4 พันล้านบาท

 ลดขนาดโครงการลดความเสี่ยง

ปี 2557 บริษัทมีนโยบายการปรับลดขนาดการพัฒนาโครงการลง และปีนี้ก็จะดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวต่อเนื่อง จากเดิมจุดแข็งของบริษัทคือการซื้อที่ดินแปลงใหญ่ เพื่อจะได้มีอำนาจการต่อรองด้านราคาที่สูง พัฒนาหน่วยในโครงการมากกว่า 2 พันหน่วย แต่ปัจจุบันปรับลดขนาดโครงการเหลือแค่ประมาณ 1 พันหน่วย ซึ่งเป็นขนาดที่ถือว่าไม่มีความเสี่ยงมาก ส่งผลให้ระยะเวลาการก่อสร้างเหลือเพียง 6-8 เดือน จากเดิมนานถึง 1.5 ปี

“เดิมทีอยู่ในช่วงขาขึ้น เราขายดีเราก็ทำโครงการใหญ่ ทำให้เราลดค่าใช้จ่ายลงได้ เพราะใช้จำนวนบุคลากรเท่าเดิม แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นโครงการเล็กก็ต้องมาดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย เพราะจำนวนโครงการที่เพิ่มมาเท่าตัว แต่ความเสี่ยงลดลงเพราะเราไม่จำเป็นต้องเร่งซื้อที่ดิน เอาเงินมาจมเพื่อรีบขายและขึ้นโครงการ กรณีที่ได้ที่ดินแปลงใหญ่ในราคาถูกมา ก็จะทยอยพัฒนาออกเป็นเฟส”

 อสังหาฯปี59 ยังมีปัจจัยเสี่ยง

นายโอภาส กล่าวเสริมว่า หากแบ่งอสังหาฯ ปี 2559 ออกเป็น 3 ช่วง คาดว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปี ตลาดจะคึกคักอย่างมาก โดยมีปัจจัยหนุนมาจากมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ด้วยการลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% เหลือ 0.01% และลดค่าจดจำนองจาก 1% มาอยู่ที่ 0.01% เพราะสินค้าส่วนใหญ่จะมาโอนในช่วง 4 เดือนแรก บริษัทเองก็มีสัดส่วนรายได้อยู่ในช่วงนี้ถึง 60% และเมื่อมีการเร่งโอนแล้วระยะ 4 เดือนที่เหลือในช่วงกลางปีคาดว่าอสังหาฯ คงชะลอตัว แต่จะกลับมาคึกคักอีกครั้งในช่วง 4 เดือนสุดท้ายของปี

สำหรับปัจจัยเสี่ยงในปีนี้ ส่วนตัวมองว่าเศรษฐกิจโลกยังคงไม่นิ่ง สหรัฐอเมริกายังคงมาตรการคิวอี ยุโรปมีก่อการร้าย เศรษฐกิจภายในประเทศน่าจะดีกว่านี้ หากมาตรการกระตุ้นด้านโครงสร้างพื้นฐานมีความชัดเจนและเป็นรูปธรรม ต้นทุนมีการปรับขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะต้นทุนที่ดิน ส่วนของวัสดุก่อสร้างจะมีผลกระทบไม่มาก เหตุไม่มีใครกล้าปรับขึ้นราคา เพราะจำนวนสินค้าคงเหลือมากกว่าความต้องการของตลาด หนี้ครัวเรือนยังน่าจับตา ส่วนของบริษัทมุ่งเน้นติดตามลูกค้าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะช่วง 6 เดือนก่อนโอน เพื่อไม่ให้เกิดการก่อหนี้ระหว่างทาง โดยยอดปฏิเสธสินเชื่อของบริษัททั้งปีเฉลี่ยที่ 5-6 %

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,121 วันที่ 10 - 13 มกราคม พ.ศ. 2559