เรียกซีพี/ส.อาหารสัตว์แจง นำเข้าข้าวโพด-ข้าวสาลีทุบราคาในประเทศร่วง

13 ม.ค. 2559 | 12:00 น.
กมธ.เกษตร เรียกซีพี/สมาคมอาหารสัตว์ แจงหลังเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฟ้อง นำเข้าข้าวสาลี-ข้าวโพดทุบราคาในประเทศตกต่ำ ด้าน สศก.เผยพื้นที่ภาคเหนือกว่า 1 แสนไร่เป็นพื้นที่ที่ไม่ถูกต้อง ไม่มีเอกสารสิทธิ คู่ค้ากีดกัน บิ๊กซีพี ยันต้นทุนไทย สูงกว่าคู่แข่งขายในตลาดโลกยาก

[caption id="attachment_25951" align="aligncenter" width="600"] ปริมาณการใช้ข้าวโพดของไทยในแต่ละปี ปริมาณการใช้ข้าวโพดของไทยในแต่ละปี : กรมการค้าภายใน[/caption]

พล.ท. จเรศักณิ์ อานุภาพ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัจจัยการผลิต ในคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์(กมธ.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงกรณีได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เกี่ยวกับราคาข้าวโพดตกต่ำเพราะมีการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวสาลีเพื่อทดแทนข้าวโพดเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ ดังนั้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ จึงได้เรียกหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง เพื่อนำแนวทางการแก้ไขปัญหาเสนอไปยังรัฐบาลต่อไป

ด้านนางสาวสุทัศนีย์ ราชเรืองระบิน รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมเกี่ยวกับภาพรวมสถานการณ์ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย สรุปความว่า ปริมาณการใช้ข้าวโพดเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ของไทยมีประมาณ 4 ล้านตันต่อปี จากปี 2557 มีผลผลิตในประเทศประมาณ 4.8 ล้านตัน และปี 2558 คาดจะมีผลผลิตประมาณ 4.7 ล้านตัน จากความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องรวมกันสูงกว่า 5.3 ล้านตันต่อปี ดังนั้นส่วนที่ไม่เพียงพอจึงมีความจำเป็นต้องนำเข้า

"ในส่วนของปัญหาการนำเข้าข้าวสาลีจากต่างประเทศที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทย นั้น กระทรวงพาณิชย์ได้มีการประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและเอกชน โดยในเบื้องต้น ได้มีการมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้จัดหา เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดเพื่อใช้เองแทนการซื้อจากเอกชน"

ล่าสุดพบปัญหาเกี่ยวกับการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น พื้นที่ที่มีการบุกรุกป่า ซึ่งจะทำให้ถูกกีดกันการส่งออกเนื้อสัตว์ไปจำหน่ายยังต่างประเทศได้ ทำให้บริษัทรายใหญ่ของไทย มีข้อกำหนดว่าจะรับซื้อข้าวโพดที่ผลิตในประเทศในพื้นที่ที่ปลูกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยจะต้องมีเอกสารสิทธิและไม่มีการบุกรุกป่า

สอดคล้องกับนางสาวจริยา สุทธิไชยยา รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่ายังมีปัญหาการปลูกข้าวโพดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของไทยในพื้นที่ที่ไม่ถูกต้อง(ผิดกฎหมาย)ประมาณกว่า 1 แสนไร่ ประกอบกับปัญหาการค้าระหว่างประเทศ ที่ต่างประเทศจะให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาของวัตถุดิบการผลิตอาหารสัตว์ที่จะต้องมีความถูกต้องและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้ปัจจุบันข้าวโพดไทยจึงเป็นพืชสำคัญชนิดหนึ่งที่ต่างประเทศกำลังเฝ้าระวัง เช่นเดียวกับปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ที่สหภาพยุโรปได้ให้ใบเหลืองกับประเทศไทย ในส่วนของกระทรวงอยู่ระหว่างการส่งเสริมให้เกษตรกรลดการปลูกข้าวนาปรังและมาปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน ซึ่งรวมถึงข้าวโพดด้วย แต่ปัญหาราคาพันธุ์ข้าวโพดลูกผสมที่ยังมีราคาแพง ทำให้เกษตรกรไม่นิยมปลูก

นายเติมศักดิ์ บุญชื่น ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ เผยว่า ในปี 2558 ไทยมีการนำเข้าข้าวสาลีเพิ่มมากขึ้นในปริมาณ 2.9 ล้านตัน จากปี 2557 ที่นำเข้าเพียง 6 แสนตัน ขณะที่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ระบุว่าจะไม่รับซื้อข้าวโพดที่ปลูกในพื้นที่ภาคเหนือที่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ส่วนนายไพศาล เครือวงศ์วาณิช รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ซีพีเอฟได้ให้ข้อมูลต่อที่ประชุมเกี่ยวกับสถานการณ์ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อประกอบธุรกิจการผลิตอาหารสัตว์ในประเทศ มีดังนี้ ปี 2554 ปริมาณ 14.3 ล้านตัน ปี 2555 ปริมาณ 15.3 ล้านตัน ปี 2556 ปริมาณ 15.5 ล้านตัน ปี 2557 ปริมาณ 16.7 ล้านตัน จะเห็นว่าแนวโน้มความต้องการใช้ข้าวโพดเพิ่มขึ้นประมาณ 5-7% ต่อปี ราคาเฉลี่ยที่รับซื้อจากเกษตรกร ในปี 2558 ช่วงเดือนมกราคม ราคา 9.44 บาทต่อกิโลกรัม และมิถุนายน-สิงหาคม ราคาประมาณ 10 บาทต่อกิโลกรัม และกันยายน – ตุลาคม ราคาประมาณ 8.67 บาทต่อกิโลกรัม เป็นราคาที่ดีที่สุดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

"เมื่อเปรียบเทียบกับราคาข้าวโพดกับราคาข้าวสาลีในตลาดโลก ตั้งแต่ปี 2556-2558 ราคาข้าวโพดจะมีราคาที่ต่ำกว่าราคาข้าวสาลี แต่ไทยมีการนำเข้าข้าวสาลีในอัตราที่สูงกว่าข้าวโพด นอกจากนี้ ไทยยังมีปัญหาด้านการใช้แรงงานที่ผิดกฎหมาย และการทำการเกษตรที่ทำลายสิ่งแวดล้อม เช่น การบุกรุกพื้นที่ป่า เป็นต้น ทำให้ไทยต้องเสียเปรียบทางการค้ากับนานาประเทศ"

เช่นเดียวกับนายสุรเชษฐ์ จิวาลักษณ์ อนุกรรมการจัดซื้อสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย ได้กล่าวต่อที่ประชุม สรุปได้ว่า การนำเข้าข้าวสาลีไม่สามารถทดแทนข้าวโพดได้ทั้งหมด โดยอาหารสัตว์บางประเภทยังจำเป็นต้องใช้ข้าวโพดเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ ซึ่งข้าวสาลีไม่สามารถทดแทนได้ แต่ผู้ประกอบการมีความจำเป็นต้องนำเข้าข้าวสาลี เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดในประเทศออกสู่ตลาดล่าช้าและคุณภาพไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,121 วันที่ 10-13 มกราคม พ.ศ. 2559