เฟดภายใต้ปธ.คนใหม่‘เจอโรม พาวเวลล์’ ศก.ฟื้นดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่อง

10 ก.พ. 2561 | 04:38 น.
การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ครั้งล่าสุดสิ้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ที่ระดับ 1.25-1.50% การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมนโยบายครั้งแรกของปีนี้ และเป็นครั้งสุดท้ายของนางเจเน็ต เยลเลน ในตำแหน่งประธานเฟด เนื่องจากเธอหมดวาระการดำรงตำแหน่งลงในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2561

เฟดคาดว่าอัตราเงินเฟ้อเมื่อเทียบรายปีจะปรับตัวขึ้นในปีนี้ และมีเสถียรภาพอยู่ที่ระดับ 2% ซึ่งเป็นเป้าหมายของเฟดในระยะกลาง ขณะที่แนวโน้มความเสี่ยงในระยะใกล้ของเศรษฐกิจยังคงมีความสมดุล แต่เฟดกำลังจับตาพัฒนาการของเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบการแต่งตั้งนายเจอโรม พาวเวลล์ อดีตผู้บริหารวาณิชธนกิจ ให้ดำรงตำแหน่งประธานเฟดคนใหม่ต่อจากนางเยลเลน โดยพาวเวลล์เข้ารับตำแหน่งประธานเฟดคนที่ 16 อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปีที่ประธานเฟดไม่ได้จบการศึกษาในสาขาเศรษฐศาสตร์(เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขารัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน และเรียนต่อด้านนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์)

เป็นที่คาดหมายก่อนหน้านี้ว่า ประธานเฟดคนใหม่จะเดินหน้าสนับสนุนให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปตามแนวทางของนางเยลเลน นักวิเคราะห์เชื่อว่า ระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งประธานเฟด ภาพต่างๆ อาจยังไม่ชัดเจนนัก โดยเฉพาะในเรื่องแนวโน้มอัตราดอกเบี้ย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวก็มักจะสร้างแรงกดดันในตลาด จากสถิติที่ผ่านมาพบว่า ในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านตำแหน่งประธานเฟด เฉลี่ยแล้วในระยะ 6 เดือนแรกจะเป็นช่วงที่ดัชนีดาวโจนส์ปรับลดลง

TP10-3338-1A อย่างไรก็ตาม การเข้ารับตำแหน่งของพาวเวลล์ซึ่งถูกเสนอชื่อตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมามีเสียงขานรับที่ดีจากผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยส่วนหนึ่งมองว่าพาวเวลล์จะเป็นผู้มาสานต่อนโยบายของนางเยลเลน เพราะเขาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเฟดมาตั้งแต่ปี 2555 และมักจะสนับสนุนการตัดสินใจของเยลเลน

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า ตัวเลขดัชนีเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้นของสหรัฐฯรวมทั้งตลาดแรงงานที่ดูดีเกินคาด ทำให้เชื่อว่าประธานเฟดคนใหม่จะถูกสถานการณ์กดดันให้จำเป็นต้องเร่งปรับอัตราดอกเบี้ยเร็วขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้ปีนี้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 3 ครั้งหรือขึ้นมากกว่าที่เคยมีคาดการณ์กันไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว ทั้งนี้สิ่งที่นักวิเคราะห์นำมาพิจารณาก็คือ ในปี 2543 อัตราการว่างงานของสหรัฐฯเคยลดลงมาแตะระดับตํ่าสุดที่ 3.8% ซึ่งขณะนั้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯอยู่ที่ 6% จนกระทั่งมาในปี 2550 อัตราการว่างงานลงมาอยู่ที่ระดับ 4.4% อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ราวๆ 5.25% ซึ่งอัตราดังกล่าวอยู่ในบริบทสถานการณ์ที่ปกติ ดังนั้น หลายฝ่ายมองว่าในปีนี้ เมื่ออัตราการว่างงานมาอยู่ที่ 4.1% ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ตํ่า แต่อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังตํ่าเรี่ยอยู่ที่ระดับ 1.25% ซึ่งเป็นอัตราไล่เลี่ยในยุคที่สหรัฐฯประสบวิกฤติการเงิน จึงพากันคาดหมายว่า มีความเป็นไปได้ที่เฟดภายใต้บังเหียนของพาวเวลล์อาจจะต้องเร่งสปีดการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้เข้าสู่ระดับสถานการณ์ปกติที่เคยเป็นมา

ad-bkk

นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 เป็นต้นมา เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมา 5 ครั้งครั้งละ 0.25% และระดับอัตราดอกเบี้ยที่ 1.25-1.50% ที่เป็นอยู่ในขณะนี้ก็เป็นระดับเดียวกับเมื่อเดือนตุลาคมปี 2551 ถ้าหากเฟดขยับดอกเบี้ยเร็วเกินไปหรือมากเกินไปในปีนี้ก็ย่อมจะส่งผลกระทบต่อตลาดอย่างแน่นอน เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นเริ่มสะท้อนให้เห็นในการแบกภาระชำระหนี้ทั้งของผู้บริโภคทั่วไปและหนี้ของภาครัฐแล้วแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่ถูกปรับขึ้นมาจะยังคงอยู่ในเกณฑ์ตํ่ามากก็ตาม “เราต่างได้รับประโยชน์จากมาตรการลดภาษีถ้วนหน้าของรัฐบาล แต่จะมีผู้บริโภคมากน้อยแค่ไหนที่เตรียมตัวพร้อมเอาเงินที่ประหยัดได้จากการเสียภาษีน้อยลง มาจ่ายดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่สูงขึ้น” สเว็น เฮ็นริช ผู้ก่อตั้งบริษัทค้าหลักทรัพย์ นอร์ธแมน เทรดเดอร์ฯ ให้ความเห็น

ถ้าหากการปรับขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้มีขึ้น 3 ครั้งตามที่คาดหมายกันมาก่อนหน้า คาดว่าครั้งแรกจะมีขึ้นในเดือนมีนาคม และการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 3 ครั้งของปีนี้น่าจะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของเฟดขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 2.25-2.50% ในช่วงปลายปีนี้ แต่นั่นก็ยังเป็นอัตราที่ถือว่าตํ่ามากเมื่อเทียบกับอัตราในช่วงก่อนเกิดวิกฤติการเงิน ดังนั้นจึงยังมีทั้งความคาดหมายที่ว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 3 ครั้งและขึ้นใน อัตราเร่งมากกว่าเดิม เป็นความคลุมเครือที่ยังคงจะมีอยู่จนกว่าการประชุมเฟดครั้งต่อไปจะมีขึ้นซึ่งจะเป็นครั้งแรกภายใต้การนำของเจอโรม พาวเวลล์ ประธานคน ใหม่ซึ่งถึงตอนนั้น ฝุ่นที่ตลบคงสงบลงและเห็นอะไรได้ชัดขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,338 วันที่ 8 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว