… เสียงเรียกร้องของคนในพื้นที่ภาคใต้เกี่ยวกับ ‘คลองไทย’ หรือ ‘คอคอดกระ’ เมกะโปรเจ็กต์นี้มีมานาน แต่จนถึงปัจจุบันโครงการนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล ... “ฐานเศรษฐกิจ” เกาะติดเรื่องนี้ พร้อมนำเสียงสะท้อนจากคนในพื้นที่และผู้ที่เกี่ยวข้องบางส่วนจากเวทีเสวนา “คลองไทยสร้างเศรษฐกิจชาติ เศรษฐกิจใต้ ได้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ได้จริงหรือ?” จัดโดย สมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา ร่วมกับสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ณ โรงแรมมารีไทม์ ปาร์ค แอนด์สปา รีสอร์ท จ.กระบี่ มานำเสนอ
ทั้งนี้ ข้อสรุปเบื้องต้นที่ได้จากสมาคมการค้าและอุตสาหกรรมไทย-จีน ที่ได้ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้ ระบุว่า
‘คลองไทยแนว 9A’ ซึ่งตัดผ่าน 5 จังหวัด คือ ตรัง กระบี่ นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา ยาวประมาณ 135 กิโลเมตร โดยเริ่มจาก อ.สิเกา จ.ตรัง, จ.นครศรีธรรมราช และออกสู่อ่าวไทยที่ อ.ระโนด จ.สงขลา นั้น
การพัฒนาทั้ง 2 ฝั่งคลอง จะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้าและท่าเรือ ก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้าของภูมิภาคเอเชียตะวันออก รวมไปถึงแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ช่วยร่นระยะเวลาขนส่งได้ประมาณ 2 วัน เพราะไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา เรือประมงไทยสามารถจับปลาได้ 2 ฝั่งทะเล ไทยมีอำนาจต่อรองราคาสินค้า รวมถึงการกำหนดราคาสินค้าในฐานะตลาดขนาดใหญ่ อาทิ ราคาน้ำมันและยาง เป็นต้น ทั้งยังเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของสินค้าไทย ทำให้เกิดการจ้างงานในแขนงต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 2 ล้านตำแหน่ง เป็นต้น
พล.อ.พงษ์เทพ เทศประทีป นายกสมาคมคลองไทย ชี้แจงว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการคลองไทยลงพื้นที่มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้นำชุมชน กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ที่ตื่นตัวอยากให้โครงการคลองไทยเกิดขึ้นในพื้นที่
“โครงการนี้นับเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดขึ้นด้วยตัวของเขาเอง เป็นความต้องการของคนในพื้นที่ ไม่ใช่จากการชี้นำ เนื่องจากเขาเห็นว่า น่าจะเกิดประโยชน์กับประเทศชาติ ประวัติศาสตร์น่าจะจารึกไว้ว่า รัฐบาลได้เห็นคุณค่าของโครงการที่ดี ๆ เช่นนี้
หากรัฐบาลบรรจุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แล้วเดินหน้า จะด้วยวิธีใดก็ตาม เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเรื่องนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่ภาคประชาชนต้องการ” พล.อ.พงษ์เทพ กล่าวย้ำ
สอดรับกับความเห็นของ พล.ต.อ.สุนทร ซ้ายขวัญ นายกสมาคมชาวปักษ์ใต้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ชี้ว่า เสียงของคนในพื้นที่ อาทิ พัทลุง ตรัง กระบี่ และสงขลา มีความเข้าใจและต้องการในเรื่องนี้อย่างมาก เห็นด้วยที่จะให้โครงการนี้เกิดขึ้น สิ่งที่ประชาชนในพื้นที่อยากเห็น
อยากให้รัฐบาลรับเรื่องนี้ไปศึกษาเชิงลึก ดีก็ทำ ไม่ดีก็ไม่ทำ นี่คือ สิ่งที่คนในพื้นที่ต้องการ
“อยากให้รัฐบาลเข้ามาศึกษาและเข้าใจเรื่องนี้ โดยตั้งคณะกรรมการแห่งชาติขึ้นมาศึกษาความเป็นไปได้ในการขุดคลองไทย วันนี้ชาวบ้านยังรอคำตอบจากรัฐบาลว่า คิดอย่างไรกับโครงการนี้ ซึ่งต้องรีบดำเนินการศึกษา เพราะยิ่งปล่อยเวลาล่วงเลยไป ยิ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น”
ทั้งยังให้มุมมองเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงที่หลายฝ่ายมีข้อกังวล ว่า วันนี้มันหมดยุคไปแล้ว ที่การขุดคลองจะทำให้ความมั่นคงขาดไป จะเป็นการแบ่งแยกดินแดนคงไม่ใช่ ไม่เกี่ยวกัน มันคนละเรื่อง อยากให้คิดถึงมิติของเศรษฐกิจ มิติเรื่องของความร่วมมือร่วมกัน ไม่ใช่รบกันได้ง่าย ๆ แบ่งแยกกันจะทำได้ง่าย ๆ วันนี้รบกันทางด้านเศรษฐกิจ ประเทศไหนเศรษฐกิจดีก็ชนะไป เราต้องทำให้เห็นว่า เรื่องนี้ทำให้เศรษฐกิจใต้ เศรษฐกิจปักษ์ใต้ดีขึ้น เรื่องนี้สำคัญ
รศ.ดร.ธีรวุฒิ โศภิษฐิกุล นักวิชาการอิสระและผู้อำนวยการ โครงการผลิตและเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับเมืองพัทลุงและลุ่มน้ำทะเลสาบ กล่าวยอมรับว่า แม้ว่าโครงการนี้จะก่อประโยชน์อย่างมหาศาลแก่ประเทศและคนไทย คนใต้ ขณะเดียวกัน คนใต้ในเขตคลองก็จะต้องได้รับผลกระทบในทางลบด้วยเช่นกัน สูญเสียพื้นที่สำหรับการประกอบอาชีพและการอยู่อาศัย ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากแบบเดิม มาเป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ ต้องรับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษจากการเดินเรือและการพัฒนาอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ต้องรับความเสี่ยงจากภาวะน้ำเค็มที่จะเข้ามายังพื้นที่ภายใน รวมทั้งผลประทบต่อความมั่นคงของชาติและประชาชนคนภาคใต้ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อันเนื่องมาจากการจัดสรรรายได้และผลประโยชน์จากการขุดคลอง รวมทั้งการบริหารจัดการโครงการที่ไม่ลงตัว
“การจัดสรรรายได้และผลประโยชน์อย่างเหมาะสมและเป็นธรรมระหว่างเจ้าของทุน ทั้งจากนอกและในประเทศ ในฐานะเจ้าของคลองไทย และการกระจายรายได้อย่างเหมาะสมและเป็นธรรมระหว่างคนภาคใต้ คนในพื้นที่ขุดคลอง กับคนส่วนอื่นของประเทศไทย รวมทั้งความเสมอภาคในการใช้คลองไทย การมีส่วนร่วมในโครงการจะช่วยป้องกันมิให้เกิดปัญหาในอนาคตแบบที่เคยเกิดขึ้นจากกรณีการขุดคลองปานามา
และต้องไม่ให้ระบบการบริหารจัดการคลองเข้าไปอยู่ในระบบระหว่างประเทศ อันจะทำให้เกิดปัญหาแบบเดียวกันที่เกิดขึ้นกับคลองสำคัญหลัก ๆ ของโลกในอดีต ทั้งคลองสุเอซ คลองปานามา และคลองคีล ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักและให้ความสำคัญอย่างยิ่ง” รศ.ดร.ธีรวุฒิ ระบุ
นายพิชัย มานะสุทธิ์ ประธานหอการค้า จ.ตรัง กล่าวสอดคล้องกันว่า ส่วนตัวมิได้ต่อต้านโครงการนี้ แต่มองว่า ทุกโครงการเหมือนเหรียญ 2 ด้าน ที่ต้องมีทั้งบวกและลบ ส่วนตัวเห็นว่า ใครอยากได้คลองไทยคงต้องลงทุนเอง อาทิ เจ้าของบริษัทเรือต่าง ๆ ที่อยากให้เกิดเรื่องรายได้และผลตอบแทน ตลอดจนกระบวนการบริหารจัดการที่ต้องกำหนดให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดการยอมรับและเกิดความเชื่อมั่นด้วย
“ที่ผ่านมา อาจไม่มีตัวแทนจากภาคเอกชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้มากนัก เนื่องจากอาจมองว่า จะกระทบกับการท่องเที่ยวทางเรือฝั่งอันดามัน คือ ตั้งแต่ภูเก็ตไปถึงสตูล จึงอยากเห็นข้อมูลในเรื่องเหล่านี้ให้มากยิ่งขึ้น อาทิ เรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับแนวปะการัง ทั้งนี้ เนื่องจากประเทศไทยต้องพึ่งเรื่องการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก” นายพิชัยตั้งข้อสังเกต
‘คลองไทย’ เสริม ‘อีอีซี’
นายวิรวัฒน์ แก้วนพ วิศวกรคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา สะท้อนมุมมองว่า โครงการคลองไทยจะช่วยส่งเสริมโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ดังนี้
1.จะเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าเข้า-ออก ไปยังกลุ่มประเทศพัฒนาที่เข้าลงทุนอุตสาหกรรมชั้นสูงในพื้นที่อีอีซี ช่วยเรื่องต้นทุนให้อุตสาหกรรมในอีอีซีสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ช่วยประหยัดเวลาขนส่งได้ 1-2 วัน และหากเปรียบเทียบกับโครงการท่าเรือทวาย คลองไทยจะช่วยลดเวลาการขนส่งสินค้าอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการขนส่งผ่านทางท่าเรือทวายที่ต้องลำเลียงด้วยรถ ทั้งในเรื่องของต้นทุนการขนส่งและระยะเวลา
[caption id="attachment_257981" align="aligncenter" width="377"]
วิรวัฒน์ แก้วนพ[/caption]
2.ลดกรรมวิธีทางศุลกากร เนื่องจากคลองไทยตั้งอยู่ในดินแดนของไทย กรรมวิธีผ่านศุลกากรจึงกระทำที่ปลายทาง หากหวังพึ่งพาเรือทวายให้เป็นจุดรับส่งสินค้าจากทางยุโรป อาจจะต้องเสียเวลากับการตรวจผ่านแดนของเมียนมา ประกอบกับการเมืองของเมียนมายังไม่เสถียรภาพเท่าที่ควร หากมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในอนาคตอาจสร้างความยุ่งยากให้กับไทยได้
3.สามารถเชื่อมต่อระหว่างแหล่งท่องเที่ยวชายฝั่งอันดามันของไทย ที่มีนักท่องเที่ยวแต่ละปีมากถึง 20 ล้านคน เข้ากับเขตพื้นที่ท่องเที่ยวตามแนวอีอีซี ตามแผนการพัฒนาโครงการอีอีซี ที่มีแผนจะพัฒนาให้เขตพื้นที่พัทยากลายเป็นเมืองท่องเที่ยวนานาชาติ และเขตพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ให้เป็นเขตพื้นที่เชิงธรรมชาติที่จะรองรับนักท่องเที่ยวมากกว่า 40 ล้านคน/ปี กลายเป็นสิ่งสำคัญที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาใช้บริการ
4.ลดความแออัดของสังคมเมืองในภาคกลาง-ตะวันออก ที่ปัจจุบันประชากรกว่า 1 ใน 5 ของประเทศ อาศัยอยู่ในบริเวณอีอีซี หากโครงการอีอีซีทำสำเร็จจะยิ่งส่งผลให้จังหวัดเหล่านี้มีความแออัดสูงขึ้น ทำให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมาโครงการคลองไทยจะช่วยกระจายความเจริญไปยังภาคใต้ลดความแออัดของพื้นที่อีอีซี
5.จากโครงการอีอีซีจะส่งผลให้ปริมาณสินค้าส่งออกของไทยเพิ่มสูงขึ้น ส่งเสริมให้กองเรือพาณิชย์ของไทยที่ปัจจุบันอยู่ในลำดับที่ 4 ของอาเซียน ขยายขนาดของกองเรือทั้งจำนวนและขนาดของเรือ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมในอีอีซี หากมีคลองไทยที่สามารถเชื่อม 2 ฝั่งทะเลของไทยได้ กองเรือของไทยย่อมสามารถพัฒนาได้เหนือกว่ามาเลเซีย อินโดนีเซีย หรืออาจจะเทียบเท่าสิงคโปร์ เพราะสามารถเชื่อมต่อสู่ยุโรป เอเชียใต้ และจีน ได้ไวกว่าใช้ช่องทางของสิงคโปร์ถึง 2 วัน
……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,339 วันที่ 11-14 ก.พ. 2561 หน้า 14