สิงคโปร์ทุ่มลงทุนสุดตัว ตั้งงบก้อนใหญ่หนุน R&D วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

16 ม.ค. 2559 | 06:10 น.
รัฐบาลสิงคโปร์ทุ่มเทสร้างโอกาสให้กับอนาคตของประเทศด้วยงบประมาณสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 19,000 ล้านดอลลาร์(ประมาณ 684,000 ล้านบาท)ใน 5 ปี เผยงานวิจัยเริ่มเทียบชั้นระดับโลกในเทคโนโลยีกรองน้ำ สายตาสั้น และรักษาโรคมะเร็ง

หนังสือพิมพ์สเตรตส์ไทม์ส รายงานว่างบประมาณสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาของรัฐบาลสิงคโปร์ในช่วง 5 ปีข้างหน้านี้มีสัดส่วนเท่ากับ 1% ของจีดีพีประเทศโดยนายกรัฐมนตรีนายลี เซียน ลุง ประกาศว่าแผนพัฒนา 5 ปีสิ้นสุดปี 2563 มีเป้าหมายทำให้งานวิจัยและพัฒนามีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศมากขึ้น

สเตรตส์ไทม์ส ระบุว่าแผนพัฒนาการวิจัยและพัฒนา 5 ปี มีงบสนับสนุนรวมปีละ 4,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 144,000 ล้านบาท) เน้น 4 ภาคส่วนคือ วิศวกรรมและอุตสาหกรรมขั้นสูง วิทยาศาสตร์ชีวะการแพทย์และสุขภาพ บริการและเศรษฐกิจฐานดิจิตอลและกลุ่มสุดท้ายคือความยั่งยืนและชุมชนเมืองน่าอยู่

ภาคส่วนได้รับงบประมาณสนับสนุนในงานวิจัยและพัฒนามากที่สุดวิทยาศาสตร์ชีวะการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งจะได้รับงบในสัดส่วน 21% ซึ่งเท่ากับ 4,000 ล้านดอลลาร์ รองลงมาคือวิศวกรรมและอุตสาหกรรมขั้นสูงได้งบสนับสนุน 3,300 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 118,800 ล้านบาท) กลุ่มชุมชนเมืองน่าอยู่และความยั่งยืนได้งบสนับสนุน 900 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 32,400 ล้านบาท) กลุ่มบริการและเศรษฐกิจฐานดิจิตอลได้งบสนับสนุน 400 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 14,400 ล้านบาท)

ภาคส่วนอื่น ๆ ได้รับเงินสนับสนุนงบประมาณรัฐบาลทางด้านการวิจัยและพัฒนาแบบกระจาย คือนวัตกรรมและวิสาหกิจเพื่อกระตุ้นให้เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนได้เงิน 3,300 ล้านดอลลาร์ งบกลางเพื่อสนับสนุน งานวิจัยใหม่ ๆ ได้เงิน 2,500 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 90,000 ล้านบาท) ส่วนที่เหลือก็แบ่งกระจายไปในกลุ่มงานอื่น ๆ

สเตรตส์ไทม์ส ระบุโครงการวิจัยในสิงคโปร์มีการต่อยอมมาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 25 ปีที่ผ่านมารัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณสนับสนุนการวิจัยไปแล้วกว่า 40,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 1.44 ล้านล้านบาท) ทำให้สิงคโปร์เริ่มเป็นผู้นำในทางการแพทย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร สายตาสั้น และเทคโนโลยีการกรองน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศสิงคโปร์ที่ต้องซื้อน้ำจากต่างประเทศ

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางและมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ สามารถสร้างเยื่อซึ่งเลียนแบบโปรตีนชื่อว่า อะควาโพริน (aquaporin) ที่สามารถทำให้น้ำสะอาดได้ในภาวะแรงกดดันต่ำ เป็นการกรองด้วยเยื่ออะควาโพรินแทนเยื่อโพลิเมอร์ ทำให้การกรองน้ำมีราคาถูกลง

ศ. หว่อง เทียน ยิน (Wong Tien Yin) อดีตผู้บริหารสถาบันวิจัยตาสิงคโปร์ กล่าวว่านักวิจัยของสถาบันได้ค้นพบวิธีการแก้ปัญหาสายตาสั้น ซึ่งคนสิงคโปร์เป็น 8 ใน 10 คนด้วยการหยุดยั้งไม่ให้สายตาสั้นลงโดยใช้ยาหยอดตา โดยได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล

ผศ. โหยว เคลย์ กวน (Yeoh Khay Guan) ผู้เชี่ยวชาญโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร จากมหาวิทยาลัยระบบสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่าเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลทำให้ กลุ่มมะเร็งกระเพาะอาหารสิงคโปร์สามารถขยายขอบข่ายของการวิจัย จนค้นพบวิธีตรวจพบคนที่เป็นโรคมะเร็งชนิดนี้ ตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นทำให้มีการโอกาสในการรักษามากขึ้น โดยก่อนหน้านี้มะเร็งชนิดนี้มักตรวจไม่พบจนกระทั่งเป็นมากแล้วทำให้คนเอเชียหลายแสนคนหมดโอกาสในการรักษาได้ทันเวลา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,122 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2559