‘อุตตม’โรดโชว์ EEC ลุยปีนี้ 3 แสนล้าน

11 ก.พ. 2561 | 07:31 น.
ร่างพ.ร.บ.อีอีซี ผ่านฉลุยสนช.170 เสียงโหวตเห็นชอบ “อุตตม” เร่งเครื่องวางแผนโรดโชว์ต่างประเทศทันที ตั้งเป้าดึงการลงทุนใน 3 จังหวัดปีนี้ 3 แสนล้านบาท ยืนยันมีแผนดูแลผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชน

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกพ.ศ. ... หรือพ.ร.บ.อีอีซี ในวาระ 2 และเห็นชอบวาระ 3 ให้ประกาศเป็นกฎหมายด้วยคะแนน 170 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง ใช้เวลาในการพิจารณาเกือบ 8 ชั่วโมง รัฐบาลหวังว่าจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ประเทศ

มาตราที่อภิปรายมาก เช่น มาตรา 6 ที่กำหนดพื้นที่อีอีซีครอบคลุมฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง โดยนายวันชัย ศารทูตทัต สมาชิก สนช.เสนอตัดประเด็นการออกพระราชกฤษฎีกาเพื่อเพิ่มพื้นที่อีอีซี ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อีอีซี ชี้แจงว่า บางโครงการ เช่น รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ควรให้สิทธิประโยชน์กับผู้ลงทุนต้นทางด้วย เช่น การพัฒนาพื้นที่มักกะสัน จึงมีเสียงเรียกร้องให้ออกพระราชกฤษฎีกาเพิ่มเติมได้

มาตรา 34 ประเด็นความจำเป็นในการหาที่ดินเพื่อการพัฒนาอีอีซี โดยมาตรานี้คณะกรรมาธิการฯ ได้ตัดถมทะเลออกทั้งหมด แต่มีข้อเสนอจาก พล.ร.อ.ธราธร ขจิตสุวรรณ สมาชิก สนช.เสนอให้ใส่เรื่องนี้ไว้ตามเดิม เพราะการพัฒนาท่าเรือจำเป็นต้องถมทะเลแต่ต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยคณะกรรมาธิการฯ ชี้แจงว่า เป็นเรื่องอ่อนไหวจึงตัดออก แต่การถมทะเลยังทำได้ตามเงื่อนไขกฎหมายปกติ

การพิจารณาของ สนช.ครั้งนี้ มีการตัดออกเพียงมาตราเดียว คือมาตรา 59/2 ที่ยกเว้นการใช้กฎหมายสถานศึกษาเอกชน และให้อำนาจเลขาธิการอีอีซีอนุมัติตั้งสถาบันอุดมศึกษาเอกชน

หลังการลงมติ นายวิษณุ กล่าวในที่ประชุมว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฝากขอบคุณสนช.ทุกคน และรัฐบาลจะใช้กฎหมายนี้ผลักดันเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้ขยายตัวต่อจาก 35 ปีที่แล้วที่ รัฐบาลพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผลักดันอีสเทิร์นซีบอร์ดสำเร็จ

[caption id="attachment_209714" align="aligncenter" width="503"] อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม[/caption]

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า หลังจากนี้ สนช.จะส่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ให้คณะรัฐมนตรีภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการประกาศใช้เป็นกฎหมาย และเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้จะมีการตั้งคณะกรรมการนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกภายใน 60 วัน และสรรหาเลขาธิการสำนักงานอีอีซีภายใน 90 วัน ในขณะที่การทำพัฒนาพื้นที่อีอีซีจะต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายฯ ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน และสร้างความมั่นใจให้ภาคประชาชนในการดูแลสิ่งแวดล้อมและสาธารณูปโภค โดยจะมีการตั้งกองทุนเพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่ ทั้งด้านสาธารณูปโภค สาธารณสุข สถาบันการศึกษา

นายอุตตม กล่าวว่า ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนการทำงานไว้แล้ว โดยเฉพาะการชักจูงการลงทุนที่จะเริ่มทันทีในเดือน ก.พ.นี้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น จีน สหรัฐฯ ยุโรป และการโรดโชว์รอบนี้จะเจาะกลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น อากาศยาน

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้จะสร้างความเชื่อมั่นการลงทุนในอีอีซีได้มากขึ้น โดยเฉพาะนักธุรกิจญี่ปุ่นที่จะมีรายใหม่เข้ามาลงทุน ในขณะที่นักธุรกิจจีนวางแผนเข้ามาลงทุนในอีอีซีเช่นกัน และปีนี้ตั้งเป้าหมายมีคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี 300,000 ล้านบาท

นายคณิศ กล่าวว่า ในปี 2561 จะผลักดัน 5 โครงการสำคัญ คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภาของการบินไทยและแอร์บัส โครงการท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 โครงการท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 โดยโครงการส่วนใหญ่จะดำเนินการให้เสร็จภายใน 5 ปี

ad-bkk ทุนใหม่เด้งรับ พ.ร.บ.อีอีซี นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมเหมราช กล่าวว่า การประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.อีอีซี จะเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักธุรกิจ หลังจากร่างกฎหมายฉบับนี้ล่าช้ามานาน และกฎหมายฉบับนี้จะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญของการลงทุนในอีอีซี ซึ่งที่ผ่านมาภาคเอกชนได้เสนอความเห็นให้ประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ก่อนการเลือกตั้ง เพื่อให้ไม่ต้องรอรัฐบาลใหม่

นางสาวจรีพร กล่าวว่า หลังเทศกาลตรุษจีนจะมีนักธุรกิจจีนเข้ามาดูลู่ทางการลงทุนกว่า 600 ราย เพื่อมาดูลู่ทางการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น ยานยนต์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ อากาศยาน โดยนักธุรกิจจีนสนใจเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อใช้โอกาสจากนโยบาย One Belt One Road ที่เชื่อมถึงประเทศไทย และถ้านักธุรกิจจีนกลุ่มนี้ลงทุนในไทยจริงเพียง 10% ก็เป็นที่น่าพอใจ

ส่วนนักธุรกิจญี่ปุ่น500 ราย ที่มาดูลู่ทางการลงทุนในอีอีซีในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ขณะนี้มีไม่น้อยกว่า 150 ราย ที่สนใจลงทุนในอีอีซี ซึ่งขณะนี้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กำลังโรดโชว์ที่ญี่ปุ่นก็จะเพิ่มความเชื่อมั่นการลงทุนมากขึ้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,339 วันที่ 9 - 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว