‘ถกลเกียรติ วีรวรรณ’ ช่องวันทุ่ม2พันล้าน เสริมทัพคอนเทนต์ดึงเรตติ้ง

16 ม.ค. 2559 | 03:00 น.
ปี 2559 เป็นอีกปีหนึ่งที่ทิศทางเศรษฐกิจจากการคาดการณ์ของหลายสำนัก ว่ายังไม่สู้ดี มีหลากปัจจัยลบที่ต้องรอลุ้น แต่ก็มีแรงหนุนจากสารพัดมาตรการอัดฉีดจากรัฐบาล ธุรกิจมีเดียเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ถูกมองว่า ไม่ค่อยสดใส แต่ผู้ประกอบการก็ไม่ย่อท้อ ยังคงลงทุนกันต่อเนื่อง ซึ่งหนึ่งในนั้นยังรวมถึงช่อง ONE (วัน) ที่ประเดิมต้นปีกับผังที่อัดแน่นในงบประมาณกว่า 2 พันล้านบาท "ฐานเศรษฐกิจ" ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ "ถกลเกียรติ วีรวรรณ" ในอีกบทบาทหนึ่ง นอกเหนือจากผู้กำกับละครเวทีและผู้บริหารค่ายเอ็กแซกท์ บทบาทที่กล่าวถึง คือ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ช่องวัน 31 บริษัท จีเอ็มเอ็มวันทีวี จำกัด ถึงทิศทางธุรกิจและภาพรวมของอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอล

 แผนรุกตลาดปี 2559

บริษัทวางแผนใช้งบลงทุนกว่า 2 พันล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ 1.คอนเทนต์ 1.5 พันล้านบาท ใช้กับละครกว่า 700 ล้านบาท หรือในสัดส่วน 50-56% ที่เหลือเป็นคอนเทนต์อื่นๆ 2.การบริหารจัดการของทางช่องวันประมาณ 500 ล้านบาท ซึ่งในด้านของละครนั้น จะปรับผังเวลาใหม่ จากเดิมเคยวางผังรายการในวันจันทร์-พฤหัสฯ ตั้งแต่ 20.15.-22.15น. ปรับเวลามาเป็น 20.20-22.20 น. ขณะที่วันเสาร์-อาทิตย์ เริ่มตั้งแต่ 18.20 -20.20น. และระหว่างคอนเทนต์ละคร จะมีรายการที่ช่วยดึงผู้ชมให้อยู่ในช่องวันทั้งก่อนและหลังละคร

ปัจจุบันบริษัทได้ดำเนินธุรกิจเข้าสู่ปีที่สามของการเริ่มต้นอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอล และเมื่อย้อนไปในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา บริษัทจะค่อนข้างให้ความสำคัญกับเรื่องของการรับชมและการเข้าถึงทีวีดิจิตอลของผู้ชมเป็นหลัก แต่ในปีนี้จะเน้นเรื่องคอนเทนต์ให้ตอบโจทย์โพสิชันนิงของช่องให้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาซูเปอร์ไพรม์ไทม์ของทุกวัน ตั้งแต่เวลา 20.15-22.15 น.และช่วงเวลากลางวันของวันเสาร์-อาทิตย์ให้ตอบโจทย์ผู้ชมดีขึ้น

 จุดแข็งของช่องวัน

ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมา ช่องวันมีเรตติ้งช่องอยู่ในระดับ 0.3 โดยรายการที่มีเรตติ้งสูงสุด คือ 1. รายการศึกวันดวลเพลง อยู่ที่ 2.7 และละคร สามารถทำเรตติ้งสูงสุดได้ถึงระดับ 3 กว่า ซึ่งมีอยู่ 3 เรื่อง คือ สื่อริษยา, เล่ห์ระตี และบัลลังก์เมฆ ส่งผลให้ราคาโฆษณาพุ่งขึ้นกว่า 3 หมื่นบาท -1.5 แสนบาท/นาที ซึ่งไตรมาสแรกของปีนี้ หลังจากที่ส่งละครใหม่ตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นไป เช่น เพื่อเธอ , นางบาป และเรือนร้อยรัก เป็นต้น น่าจะส่งผลให้ช่องวันสามารถขยับค่าโฆษณาได้เพิ่มอีกประมาณ 50% ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นไป พร้อมทั้งเชื่อว่า จะส่งผลให้รายได้ปีนี้โตขึ้นอีก 80%

ในปีที่ผ่านมาช่องวันอยู่ในช่วงที่ลองผิดลองถูกบ่อยมาก แม้บริษัทจะดำเนินธุรกิจเกี่ยวข้องกับทีวีมายาวนานก็ตาม แต่การดำเนินธุรกิจสถานีโทรทัศน์ นับว่าเป็นเรื่องใหม่และใหญ่สำหรับช่องวันมาก และที่ผ่านมาจากการลองถูกลองผิด บริษัทได้เรียนรู้พฤติกรรมของคนไทยหนึ่งสิ่ง คือ ชอบดูละคร และละครก็เป็นคอนเทนต์ที่สามารถทำเรตติ้งได้ดี ซึ่งนับเป็นความโชคดีและเป็นจุดแข็งของบริษัทที่มีทีมงานที่มีประสบการณ์ด้านการผลิตละครมาอย่างยาวนาน

นอกจากคอนเทนต์ละครแล้ว บริษัทยังเน้นคอนเทนต์ประเภทบันเทิงและกีฬาต่างๆไม่แพ้กัน โดยในช่วงวันจันทร์-ศุกร์ก่อนละคร จะมีรายการศึกวันดวลเพลง และรายการเดอะสตาร์เดลี่ เป็นต้น นอกจากนี้ในด้านของคอนเทนต์กลุ่มรายการข่าวและกีฬา ก็จะยังคงให้ความสำคัญเช่นเดิม เช่น การถ่ายทอดสดฟุตบอล ระหว่างไทย-อิรัก ในเดือนมีนาคมนี้ รวมถึงจะจัดทัวร์นาเมนต์รายการกีฬาขึ้นมาเอง ซึ่งกำลังศึกษาอยู่หลายรายการ เช่น มวย ฟุตบอล วอลเล่ย์บอล เนื่องจากมองว่าเป็นกีฬาที่คนไทยสนใจ

ปัจจุบันคอนเทนต์ต่างๆที่เคยอยู่ช่องฟรีทีวีเดิม ขณะนี้เริ่มกลับเข้ามาสู่สภาวะปกติแล้ว เมื่อวัดผลเรตติ้งของซิตคอมเป็นต่อและบ้านนี้มีรัก ปัจจุบันสามารถทำเรตติ้งได้ใกล้เคียงกับช่องฟรีทีวีเดิมแล้ว ซึ่งโดยเฉลี่ยเรตติ้งจะต่ำกว่าตัวเลขเดิมราว 20% แต่เชื่อว่าในอนาคตซิทคอมดังกล่าวจะสามารถทำเรตติ้งได้เทียบเท่ากับในอดีตอย่างแน่นอน ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้วางคาแรคเตอร์ของช่องวันเป็นโมเดิร์นแมส โดยเป็นกลุ่มเป้าหมายผู้ชมในกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงหัวเมืองหลักต่างจังหวัด เนื่องจากมองว่าพฤติกรรมผู้ชมกลุ่มนี้จะมีไลฟ์สไตล์สอดคล้องกับคอนเทนต์ช่องวัน ประกอบกับเป็นกลุ่มคนที่ค่อนข้างมีกำลังซื้อ จึงทำให้ช่วงที่ผ่านมาช่องวันได้รับความสนใจจากกลุ่มเอเยนซี่

 เป้าหมายรายได้/เรตติ้ง

ขณะนี้ช่องวันเริ่มเป็นที่รู้จักของกลุ่มผู้ชมและเอเยนซีมากขึ้น จากเดิมในปีก่อนบริษัทมีเรตติ้งราว 0.3 และอยู่อันดับที่ 5 ของช่องทีวีดิจิตอลทั้งหมด โดยในสิ้นปีนี้ หลังจากที่มีคอนเทนต์ใหม่ๆเพิ่มเข้ามา เชื่อว่าเรตติ้งจะขยับเพิ่มเป็น 1.00 (ประมาณอันดับ 3) ขณะที่ในด้านรายได้ของสิ้นปีนี้บริษัทตั้งเป้าโตกว่า 80% หรือราว 1.8 พันล้านบาท จากเดิมรายได้ปีก่อนสามารถทำได้ไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท นอกจากนี้ในด้านกลยุทธ์การตลาด บริษัทจะทำอย่างครอบคลุม 360 องศา ทั้งในรูปแบบของทีวี ออนไลน์และออนกราวด์ เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกค้าที่เข้ามาซื้อโฆษณาของช่องวันทุกกลุ่ม ทั้งในรูปแบบของเอเยนซี และลูกค้าตรง

การดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมนี้ จะต้องเผชิญความเสี่ยงกับการแข่งขันที่รุนแรงและพฤติกรรมการรับชมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้เรียนรู้หลายด้านเกี่ยวกับธุรกิจนี้ และในปีนี้เชื่อว่าจากการทุ่มงบคอนเทนต์จำนวนมาก จะช่วยให้ช่องวันเป็นที่รู้จักและมีเรตติ้งที่ดี อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการทำธุรกิจนี้ ปัจจัยที่สำคัญ คือ เรื่องของคอนเทนต์และเงินทุน ใครที่อยู่ในธุรกิจนี้ หากมีสายป่านที่ยาว ก็จะเป็นข้อได้เปรียบสำหรับการลงทุนในระยะเริ่มต้น และการประมูลช่องในครั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายที่ชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า ต้องการก้าวขึ้นเป็นผู้นำช่องทีวีดิจิตอล และเป็นช่องฟรีทีวีเช่นเดียวกับ 3-5-7-9 ที่ผ่านมาภายในระยะเวลา 4-5 ปีนับจากนี้ไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,122 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2559