ด่วนพระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอก เชื่อมโครงข่ายกทม.ตะวันตกโยงภาคใต้

17 ก.พ. 2561 | 07:52 น.
ทางด่วนสายพระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านตะวันตกเชื่อมโครงข่ายทางด่วนไปยังทิศตะวันตกและภาคใต้ โครงการดังกล่าวนี้อยู่ภายในการดำเนินการของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) จัดเป็นโครงการเชื่อมต่อโครงข่ายทางพิเศษไปยังทิศตะวันตกและภาคใต้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับปริมาณจราจร การเดินทางและการขนส่งสินค้าไปยังส่วนภูมิภาคให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว

นอกเหนือจากการช่วยแบ่งเบาการจราจรช่วงดาวคะนองถึงพระราม 9 อีกทั้งยังสามารถใช้เป็นเส้นทางทดแทนในกรณีที่สะพานพระราม 9 ต้องปิดซ่อมบำรุงเนื่องจากใช้งานมาเป็นระยะเวลานานกว่า 30 ปีปัจจุบันพบว่ามีปริมาณรถใช้งานราว 1.6 แสนคันต่อวัน

TP12-3340-1B จุดเริ่มต้นของทางด่วนสายนี้จะเชื่อมต่อกับโครงการทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 (ธนบุรี-ปากท่อ) ของกรมทางหลวง ช่วงกม.13 ของถนนพระราม 2 รูปแบบทางยกระดับ 6 ช่องจราจรซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระราม 2 จากนั้นแนวเส้นทางจะเบนขวาบริเวณโค้งทางแยกต่างระดับดาวคะนองเพื่อไปซ้อนบนทางพิเศษเฉลิมมหานครไปจนถึงช่วงข้ามแม่นํ้าเจ้าพระยาที่จะก่อสร้างสะพานใหม่ ขนาด 8 ช่องจราจรขนานอยู่ทางด้านทิศใต้ของสะพานพระราม 9 แล้วแนวเส้นทางจะข้ามถนนพระราม 3 เพื่อไปต่อเชื่อมกับทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัชที่ทางแยกต่างระดับบางโคล่ รวมระยะทาง 18.7 กิโลเมตร ผ่านพื้นที่ 5 เขตของกรุงเทพมหานคร ได้แก่ เขตบางขุนเทียน จอมทอง ราษฎร์บูรณะ บางคอแหลม และเขตยานนาวาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2560

ล่าสุดได้มีการปรับแบบโครงการในบางจุดจึงต้องเปิดรับฟังความเห็นประชาชนก่อนเข้าสู่กระบวนการขออนุมัติดำเนินโครงการในเบื้องต้นนั้นจะใช้งบประมาณการลงทุนจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย(TFF) วงเงินเกือบ 3 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้กทพ.ยังได้ประสานไปยังกระทรวงการคลังเพื่อกู้ระยะสั้นในงบก้อนแรกในการนำไปใช้จ่ายก่อสร้างงานโยธาช่วงแรกจำนวนกว่า 3,000 ล้านบาทเนื่องจากอยู่ระหว่างรอกระบวนการดำเนินการภายใต้ระเบียบกองทุน TFF โดยจะนำเสนอคณะกรรมการกทพ.ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ นี้เพื่อขออนุมัติกู้เงินจากสถาบันการเงินในประเทศก่อนเสนอกระทรวงการคลังและครม.พิจารณา

Ad_Online-03-503x62-1 ล่าสุดอยู่ระหว่างเปิดรับฟังความเห็นประชาชนเป็นครั้งสุดท้าย คาดว่าจะสามารถดำเนินการในขั้นตอนประกาศเอกสารประกวดราคาใน 1-2 เดือนนี้และแผนเริ่มก่อสร้างในเดือนกรกฎาคม 2561 แบ่งงานโยธาออกเป็น 4 สัญญาและงานระบบอีก 1 สัญญา มูลค่าสัญญาละ 6,000-7,000 ล้านบาท

ในส่วนกรณีการจัดกรรมสิทธิ์ของโครงการนี้มีผลกระทบราว 70-80 หลังคาเรือนซึ่งจะอยู่ในช่วงใกล้วัดสารอดที่มีปั๊มนํ้ามันให้บริการโดยจะมีการก่อสร้างด่านยกระดับส่งผลให้ต้องยกเลิกปั๊มนํ้ามันและบ้านเรือนประชาชนในแนวเส้นทางช่วงดังกล่าว

ทั้งนี้ตามผลการศึกษาพบว่ามีอัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจเท่ากับ 19.94 จึงมีความคุ้มค่าเหมาะที่จะลงทุนโครงการดังกล่าว ส่วนเมื่อเปิดใช้บริการอัตราค่าโดยสารจะถูกหรือแพงมากน้อยเท่าไหร่นั้นยังคงต้องลุ้นกันต่อไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,340 วันที่ 15 - 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว