ปี 58 เงินไหลเข้ากองทุนรวม3แสนล้าน ‘นํ้ามัน-หุ้นจีน’ ทำนักลงทุนเจ็บหนัก

15 ม.ค. 2559 | 01:00 น.
ปี 2558 กองทุนรวมไทยฝ่ามรสุมความผันผวนของเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น วิกฤติตลาดหุ้นจีน สหรัฐอเมริกาขึ้นดอกเบี้ย ราคาน้ำมันที่ตกต่ำ

บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย)ฯ สรุปภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวมประเทศไทย ปี 2558 ว่า นับเป็นอีก 1 ปีที่ท้าทายเป็นอย่างมากสำหรับอุตสาหกรรมกองทุนรวมในประเทศไทย หลังจากที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในระดับเลข 2 หลักตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งจบปี 2558 กองทุนรวมทั้งอุตสาหกรรมโตเล็กน้อยที่ 6.67% โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 4.063 ล้านล้านบาท

[caption id="attachment_26250" align="aligncenter" width="600"] ผลตอบแทนเฉลี่ย ทริกเกอร์ฟันด์ ที่ยังไม่ถึงเป้าหมาย ผลตอบแทนเฉลี่ย ทริกเกอร์ฟันด์ ที่ยังไม่ถึงเป้าหมาย[/caption]

  เงินไหลเข้า 3 แสนล้าน : กอง"เฮลท์แคร์"พระเอก

อย่างไรก็ตามหากมองโดยละเอียดแล้วนั้น กองทุนรวมไทยยังคงมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2558 นี้มีเงินไหลเข้าสุทธิรวมถึงเกือบ 3 แสนล้านบาท แต่ด้วยความผันผวนที่มีอย่างมากมายในตลาดทำให้นักลงทุนเริ่มย้ายเงินลงทุนส่วนใหญ่ไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้กองทุนตลาดเงิน (มันนี่ มาร์เก็ต) และกลุ่มกองทุนตราสารหนี้ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวนั้นได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนสูงสุดในปีที่ผ่านมา โดยมีเม็ดไหลเข้าสุทธิทั้งสิ้น 1.71 แสนล้านบาท และ 1.35 แสนล้านบาท และ 1.22 แสนล้านบาท ตามลำดับ

กลุ่มกองทุนประเภทถัดมาที่เรียกได้ว่าเป็นพระเอกของการลงทุนในปี 2558 ที่ผ่านมานี้ทั้งในแง่ของการเติบโตของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิและผลตอบแทนที่โดดเด่นนั้น ก็คือ กองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งนำมาโดยกลุ่มกองทุนเฮลท์แคร์ (Global Health Care) และการลงทุนในหุ้นต่างประเทศในภูมิภาคต่างๆ ทำให้ยอดมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมของกองทุนในกลุ่มนี้นั้นโตกว่า 51.64%

ซึ่งในปี 2558 มีการเปิดกองทุนในกลุ่มนี้ใหม่มากถึง 77 กองทุน ส่งผลให้ปัจจุบันมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมทั้งสิ้น 3.34 แสนล้านบาท จากจำนวน 332 กองทุน และกว่า 15 ประเภทสินทรัพย์ให้เลือกลงทุน เรียกได้ว่าเป็นการยกระดับทำให้อุตสาหกรรมกองทุนรวมในประเทศไทยนั้นมีความหลากหลายเทียบเท่ากับกองทุนรวมในต่างประเทศ

 กองทุนหุ้นไทยอ่วม! ติดลบ10.33 %

ขณะที่กองทุนหุ้นไทย (ไม่นับรวม LTF และ RMF) ได้รับผลกระทบอย่างมากโดยตรงจากตลาดหุ้นไทยที่ผันผวนในช่วงครึ่งปีหลังทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมลดลง -10.33% มาอยู่ที่ 1.58 แสนล้านบาท ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่มูลค่าทรัพย์สินในกลุ่มนี้โตติดลบ แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าสุทธิตลอดทั้งปี 6.68 พันล้านบาท ซึ่งกลุ่มหุ้นขนาดเล็กยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง

โดยบลจ. ที่กวาดเงินจากนักลงทุนมากที่สุดในกลุ่มนี้ได้แก่ บลจ. กรุงศรีฯ ซึ่งมีเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิประมาณ 3.79 พันล้านบาท โดยที่มีกองทุนอย่าง Krungsri Dividend Stock เป็นตัวชูโรงดึงเงินจากนักลงทุน ขณะที่อันดับ 2 นั้นตกเป็นของ บลจ. ไทยพาณิชย์ฯ ที่มีเงินไหลสุทธิเข้ากว่า 3.13 พันล้านบาท และอันดับ 3 เป็นของ บลจ. กรุงไทยฯ ที่ 1.55 พันล้านบาท

 "ทริกเกอร์ฟันด์"สิ้นมนต์

สำหรับทริกเกอร์ ฟันด์ ทำลายสถิติออกกองทุนทั้งหมด 103 กองทุน มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่ทำยอดไอพีโอได้เพียง 3.9 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยเพียงกองทุนละไม่ถึง 400 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความนิยมที่ลดลงและความไม่มั่นใจที่นักลงทุนมีต่อสภาพตลาดโดยรวมอย่างชัดเจน

โดยทริกเกอร์ ฟันด์ ปี 2558 เป็นการเน้นการลงทุนไปยังตลาดหุ้นต่างประเทศ อาทิ หุ้นญี่ปุ่น หุ้นจีน หุ้นเอเชีย และหุ้นยุโรป เป็นต้น โดยมีทั้งสิ้น 59 กองทุน ขณะที่เน้นลงทุนหุ้นไทย 29 กองทุน และลงทุนน้ำมัน 15 กองทุน ทั้งนี้มีเพียง 29 กองทุนเท่านั้นที่สามารถทำผลตอบแทนได้ตามเป้าหมาย ซึ่ง บลจ. ทิสโก้ฯยังครองเป็นเจ้าตลาดโดยสามารถทำยอดได้ประมาณ 9 พันล้านบาท ครองส่วนแบ่ง 24.26%

 กองทุน"เฮลท์แคร์" แชมป์ผลตอบแทนสูงสุด 12.42 %

ด้านผลตอบแทนกองทุนรวมประเภทต่างๆ "กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ" นักวิเคราะห์กองทุนรวม ประจำประเทศไทย บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ฯ กล่าวว่า ความผันผวนของตลาดการลงทุนทั่วโลกที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี ทั้ง วิกฤติตลาดหุ้นจีน สหรัฐอเมริกาขึ้นดอกเบี้ย ราคาน้ำมันที่ตกต่ำ รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในระเทศ ส่งผลให้ผลตอบแทนของกองทุนรวมในปี 2558 โดยเฉลี่ยลดลงเป็นอย่างมากโดยเฉพาะการลงทุนภายในประเทศทั้งหุ้นและตราสารหนี้

ดังนั้นความโดดเด่นของผลตอบแทนในปีที่ผ่านมานี้จึงเป็นการลงทุนในหุ้นต่างประเทศเป็นหลักนำมาโดย กลุ่มเฮลท์แคร์ ที่ทำผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดของปีที่ 12.42% ตามมาด้วยกลุ่มกองทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 11.99% และกลุ่มกองทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นยุโรป ที่ทำได้เฉลี่ย 10.51% ซึ่งส่วนใหญ่เน้นลงทุนในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งสิ้น

 หุ้นตลาดเกิดใหม่ติดลบ 11.49 %

ในขณะที่กลุ่มที่เน้นลงทุนในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่นั้นผลตอบแทนยังคงผันผวนและให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบทั้งสิ้น โดยกลุ่มตลาดเกิดใหม่นั้นมีผลตอบแทนเฉลี่ยที่ -11.49% กลุ่ม China Equity หรือหุ้นจีนนั้นก็มีผลตอบแทนเฉลี่ย -4.34% และกลุ่มเอเชีย- แปซิฟิก(ยกเว้นญี่ปุ่น) ก็เช่นกันที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย -2.52%

ขณะที่การลงทุนในหุ้นไทยนั้นได้รับผลกระทบไปแบบเต็มๆทั้งกลุ่มหุ้นขนาดกลางและเล็ก (Equity Small/Mid-Cap) และกองทุนหุ้นขนาดใหญ่ (Equity Large Cap) ที่ผลตอบแทนเฉลี่ย -4.1% และ -9.08% ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตามกลุ่ม Property Indirect (เน้นลงทุนหุ้นอสังหาริมทรัพย์และกองทุนอสังหาริมทรัพย์) นั้นยังคงให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นเฉลี่ยที่ 8.56%

  กองทุนน้ำมันจุก! ติดลบ 40.28 %

มาที่กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะกองทุนน้ำมันนั้น" กิตติคุณ" กล่าวว่า ได้รับผลกระทบโดยตรงจากราคาน้ำมันโลกที่ตกลงอย่างต่อเนื่องทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบมากถึง 40.28% เรียกว่าลงทุน 100 บาทเหลือ 60 บาทกันเลยที่เดียว ส่วนกองทุนทองคำนั้นก็ยังคงผันผวนทำผลตอบแทนติดลบ 7.42%

 กองทุนRMF-LTF เงินไหลเข้า 5.5 หมื่นล้าน

ปิดท้ายกันที่กองทุน LTF และ RMF ซึ่งสุดท้ายแล้ว"กิตติคุณ"บอกว่า นักลงทุนก็ช่วยกันซื้อในช่วงท้ายของปีส่งผลให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิของทั้ง 2 ประเภทโตอย่างเนื่องติดต่อกันในทุกปีนับแต่มีการจัดตั้งกองทุนเป็นต้นมาถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบอย่างมากจากราคาหุ้นที่ตกลงในตลอดช่วงปีที่ผ่านมา

โดยกองทุน LTF มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 2.77 หมื่นล้านบาท โตขึ้นเพียงเล็กน้อยที่ 2.32% ขณะที่ RMF นั้นได้รับแรงซื้อจากการออกกองทุนใหม่ๆตลอดทั้งปีทำให้มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่ม 7.50% มาอยู่ที่ 1.79 หมื่นล้านบาท

ในส่วนเม็ดเงินสุทธิที่ไหลเข้ากองทุนทั้ง 2 ประเภทนั้นยังคงมีเข้ามาอย่างต่อเนื่องซึ่งพฤติกรรมในการลงทุนนั้นนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงเป็นเช่นเดิม คือ เน้นลงทุนในช่วงสิ้นปี ทั้งนี้ในส่วนของเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิของ LTF เริ่มมาถึงจุดอิ่มตัวแม้ว่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้ากว่า 3.43 หมื่นล้านบาทก็ตาม

ขณะที่ RMF นั้นยังคงเติบโตได้เป็นอย่างดีทำลายสถิติเม็ดเงินไหลเข้าสุทธิทั้งปีที่ 2.09 หมื่นล้านบาทเป็นผลมาจากความนิยมและความเข้าใจถึงประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้นประกอบกับการออกกองทุนใหม่ๆเข้ามาเป็นทางเลือกให้กับผู้ลงทุน

แนวโน้มอุตสาหกรรมกองทุนรวมปี 2559 “กิตติคุณ” กล่าวว่า หากสภาพเศรษฐกิจและภาพรวมการลงทุนของโลกยังเป็นเช่นปี 2558 ที่ผ่านมา โอกาสที่จะเห็นธุรกิจกองทุนรวมโตเลข 2 หลัก คงเป็นไปได้ยาก พร้อมยกตัวอย่างว่า ถ้าจะให้โตในระดับ 10% นั่นก็หมายถึง บลจ.ต้องปั๊มสินทรัพย์ถึง 4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นไปได้ยากหากสถานการณ์การลงทุนยังผันผวน แต่อาจจะมีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานที่พอมีความหวังเพราะเป็นกองทุนขนาดใหญ่หลักหมื่นล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,122 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2559