ไม่หวั่นไก่มะกันแย่งตลาดญี่ปุ่น โชว์ปี 58 ส่งออกทำนิวไฮ/ปี 59 หวังตลาดโสมเพิ่มยอด

16 ม.ค. 2559 | 05:00 น.
สภาหอฯสั่งจับตาทีพีพีมีผลบังคับใช้ ไก่ไทยแข่งเดือดไก่มะกันในตลาดญี่ปุ่น ระบุต้นทุนการผลิตถูกกว่าได้เปรียบหลายขุม ขณะผู้ประกอบการไม่หวั่นชี้จับตลาดคนละกลุ่ม โชว์ตัวเลขส่งออกไก่ปี 58 ทำนิวไฮ พุ่งถึง 6.7 แสนตันเกินคาดหมาย อานิสงส์ญี่ปุ่นเพิ่มนำเข้าไก่สด ลุ้นปี 59 ได้ตลาดไก่สดเกาหลีใต้ช่วยเพิ่มยอด บราซิลคู่แข่งสำคัญเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกลดส่งออก

[caption id="attachment_26303" align="aligncenter" width="600"] สถิติการส่งออกสินค้าไก่ของไทย สถิติการส่งออกสินค้าไก่ของไทย[/caption]

นายบัณฑูร วงศ์สีลโชติ รองประธานคณะกรรมการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากที่ 12 ประเทศภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(TPP)ที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำ ได้บรรลุความตกลงและอยู่ระหว่างเร่งความตกลงให้มีผลบังคับใช้ มองว่ามีความน่าเป็นห่วงในหลายสินค้าของไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากถูกสหรัฐฯแย่งตลาด ตัวอย่างในสินค้าที่ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกไก่แปรรูป และไก่สดรายใหญ่ไปตลาดญี่ปุ่น ซึ่งจากภาษีนำเข้าภายใต้TPP ที่จะลดลงเป็น 0% อาจส่งผลให้สินค้าไก่ของสหรัฐฯที่มีกำลังการผลิตที่มากกว่า และมีต้นทุนที่ต่ำกว่าไทยเข้ามาแย่งตลาดญี่ปุ่นได้

"ไก่สหรัฐฯเลี้ยงได้ตัวโต และมีต้นทุนที่ถูกกว่าไก่ไทย เพราะเขามีข้าวโพดอาหารสัตว์ และกากถั่วเหลืองเองทำให้ต้นทุนอาหารสัตว์ต่ำ เนื้อไก่ของไทยจะมีปัญหาจากทีพีพี รวมถึงอีกหลายสินค้าที่เราส่งออกไปยังญี่ปุ่น หรือเวียดนามที่เป็นสมาชิกทีพีพีเราจะมีคู่แข่งทั้งจากสหรัฐฯ และจากประเทศอื่นที่อยู่ในกลุ่มอีกมาก"

ด้านนายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการ สมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย ให้ความเห็นกรณีดังกล่าวว่า สินค้าไก่ของไทยในญี่ปุ่นคงไม่กระทบมาก เพราะเป็นคนละตลาดกับสินค้าจากสหรัฐฯที่เป็นไก่ชิ้นใหญ่ ไม่ถอดกระดูก ใช้เครื่องจักรในการตัด เพราะการใช้แรงงานคนมีค่าจ้างที่แพง ขณะที่สินค้าไก่ของไทยในญี่ปุ่นเป็นไก่ถอดกระดูก และมีการตัดแต่ง และผลิตได้ตามความต้องการของลูกค้า มีมาตรฐานสูง ดังนั้นมองว่าคงไม่กระทบมาก ซึ่งปัจจุบันการส่งออกสินค้าไก่ของไทยไปญี่ปุ่น ที่มีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น(JTEPA) เสียภาษีนำเข้าที่ 8.5% ในปี 2560 ความตกลงจะครบ 10 ปี และจะมีการเจรจาทบทวน ไทยจะขอให้ทางญี่ปุ่นลดภาษีนำเข้าลงอีก

สำหรับการส่งออกสินค้าไก่ของไทยในปี 2558 ที่ผ่านมาคาดจะส่งออกได้ประมาณ 6.7 แสนตัน ในจำนวนนี้เป็นไก่แปรรูป(ไก่ปรุงสุก)ประมาณ 4.6 แสนตัน และไก่สดแช่แข็ง 2.1 แสนตัน มูลค่ารวมประมาณ 8.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งในแง่ปริมาณถือสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากเดิมตั้งเป้าหมายการส่งออกไว้ที่ 6.2 แสนตัน มูลค่า 8.3-8.5 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้มีปัจจัยบวกจาก ไทยสามารถเพิ่มการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้น โดยสามารถส่งออกได้ประมาณ 1 แสนตัน เพิ่มจากปี 2557 ที่ส่งออกได้ประมาณ 5 หมื่นตัน (ไทยเพิ่งส่งออกไก่สดไปตลาดญี่ปุ่นได้เมื่อเดือนธันวาคม 2556 หลังมีปัญหาไข้หวัดนก จากก่อนหน้านี้ไทยส่งออกไก่สดไปตลาดญี่ปุ่นได้มากกว่า 2 แสนตันต่อปี)

"ญี่ปุ่นท่องเที่ยวบูมมากจากเขายกเว้นวีซ่าแก่นักท่องเที่ยว ทำให้นักท่องเที่ยวไหลเข้าญี่ปุ่น และมีการสั่งนำเข้าไก่สดเพื่อรองรับการบริโภคของประชาชนและนักท่องเที่ยว สำหรับแนวโน้มการส่งออกสินค้าไก่ของไทยในปี 2559 ทางสมาคมยังไม่ได้ตั้งเป้า ถือเป็นอีก 1 ปีที่ยังต้องลุ้น แต่ดูแล้วน่าจะส่งออกได้เพิ่มโดยล่าสุดในส่วนของตลาดเกาหลีใต้คาดไทยจะสามารถส่งออกไก่สดไปได้อีกครั้งในต้นปีนี้ โดยทางการเกาหลีใต้อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อบังคับเงื่อนไขด้านความปลอดภัย และการควบคุมโรคสัตว์ และในเร็ว ๆคาดจะมาตรวจรับรอง 25 โรงงานไก่สดไทย ก่อนอนุญาตให้นำเข้า"

นอกจากนี้จากที่บราซิลคู่แข่งส่งออกสินค้าไก่จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2016 คาดบราซิลจะส่งออกไก่ลดลง เพราะจะมีการบริโภคภายในเพิ่มรวมถึงการรองรับนักท่องเที่ยวและคณะนักกีฬาจากทั่วโลก ส่วนปัจจัยเสี่ยงคือค่าเงินของประเทศผู้นำเข้า เช่นในยุโรปเงินอาจอ่อนค่าลง และมากดราคารับซื้อ และมีคู่แข่งจากยุโรปตะวันออกเข้ามาแย่งตลาด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,122 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2559