บีบซีพีคืนเงินค่าโง่กล้ายาง อดีตคตส.-อนุฯตรวจสอบยันเลิกสัญญาแล้วควรจบ

28 ก.พ. 2561 | 04:20 น.
อดีต คตส. ฉงนสัญญาลับ ทำเสียค่าโง่กล้ายางเครือซีพี 365 ล้านบาท ยันช่วงเข้ามาสอบทั้ง 2 ฝ่ายให้การสัญญาโครงการสิ้นสุดแล้ว จึงตรวจสอบแค่สัญญาที่เกิดขึ้นในปี 47 ว่าเข้าข่ายฮั้วประมูลหรือไม่ “อุทัย” แนะซีพีคืนเงินรัฐ
จากที่กรมวิชาการเกษตรแพ้คดีบริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด ในเครือซีพี ที่ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย 1,700 ล้านบาทในคดีกล้ายางล้านไร่ ซึ่งถึงที่สุดแล้วศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาให้กรมวิชาการเกษตรชำระค่าเสียหายแก่บริษัท และธนาคารทหารไทยในฐานะโจทก์ร่วม รวมทั้งสิ้น 365 ล้านบาทนั้น

นายบรรเจิด สิงคะเนติ อดีตประธานอนุกรรมการตรวจสอบทุจริตในโครงการยางล้านไร่ ในคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โครงการยางล้านไร่ เป็น 1 ใน 13 โครงการที่ คตส.ได้เข้าไปตรวจสอบสัญญาว่ามีการฮั้วประมูลหรือไม่

TP05-3343-5A ผู้ที่เกี่ยวข้องในขณะนั้นมีทั้งภาคเอกชน ข้าราชการ นักการเมือง และเกษตรกร โดยในปี 2549 ได้เข้าไปตรวจสอบเงื่อนไขสัญญา (ทีโออาร์) ระหว่างกรมวิชาการเกษตร กับเครือซีพี ซึ่งช่วงเข้าไปตรวจสอบสัญญาโครงการได้สิ้นสุดพอดี โดยที่เอกชนส่งมอบกล้ายางตามสัญญารวม 90 ล้านต้นไม่ทันภายใน 3 ปี ยังเหลือค้างส่งมอบอีก 16.14 ล้านต้น ในขณะนั้นกรมวิชาการเกษตรได้แจ้งกับ คตส.ว่า สัญญานี้ได้ยกเลิกแล้วเพราะเอกชนผิดสัญญา ซึ่งหากมีการต่อสัญญาจริงๆ คตส.จะต้องตรวจสอบแน่นอนว่ารัฐควรจะต่อสัญญาหรือไม่ หรือจะแบล็กลิสต์เอกชนที่เป็นฝ่ายผิดสัญญา
เช่นเดียวกับนายอุดม เฟื่องฟุ้ง อดีตรองประธานศาลฎีกา อดีตผู้พิพากษาอาวุโส และอดีตกรรมการคตส. ที่ยืนยันว่า ไม่มีการต่อสัญญา ทั้ง 2 ฝ่ายให้การว่ายุติสัญญา

สอดคล้องกับนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ อดีตกรรมการในคณะอนุกรรมการตรวจสอบทุจริตกล้ายางโครงการยางล้านไร่ กล่าวว่า ไม่ทราบจริงๆ ว่า กรมวิชาการเกษตรกับเครือซีพี มีการต่อสัญญากันหรือไม่หลังจากมีการบอกยกเลิกสัญญาไปแล้ว แต่ในขณะนั้นที่ คตส.ตรวจสอบสัญญาสิ้นสุดแล้วซีพียังค้างส่งมอบกล้ายาง ถือว่าผิดสัญญา และต้องจ่ายค่าปรับด้วยซํ้า ไม่ใช่แค่ยกเลิกสัญญาอย่างเดียว แต่ท้ายที่สุดเครือซีพีจากที่ควรเป็นจำเลย กลับกลายมาเป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายและศาลฎีกาตัดสินให้รัฐจ่ายค่าเสียหาย เรื่องนี้รับไม่ได้ จึงแนะนำว่าเครือซีพีควรคืนเงินแก่รัฐ เพราะวันที่ศาลตัดสินยกฟ้องข้าราชการ และเอกชนในคดีทุจริตกล้ายางปี 2552 เรื่องควรจะจบได้แล้ว

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก-6 อนึ่ง โครงการขยายพื้นที่ปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ถูกริเริ่มขึ้นในปี 2546 โดยนายเนวิน ชิดชอบ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ต้องการยกระดับรายได้เกษตรกรในแหล่งปลูกยางพาราใหม่ โดยเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2546 ได้เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) ให้ยกเลิกมติ ครม.วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2542 ที่ให้จำกัดการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราของประเทศไม่เกิน 12 ล้านไร่ หากจะปลูกใหม่ให้ปลูกทดแทนเฉพาะในพื้นที่เดิมและไม่ควรปลูกใหม่ในพื้นที่ภาคเหนือ เป็นให้สามารถขยายพื้นที่ปลูกได้ทุกภาคของประเทศ จึงเป็นที่มาของโครงการปลูกยางพาราเพื่อยกระดับรายได้และความมั่นคงให้แก่เกษตรกรในแหล่งปลูกยางพาราใหม่ ระยะที่ 1 (2547-2549) พื้นที่ 1 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 แสนไร่ และภาคเหนือ 3 แสนไร่ ใช้งบประมาณจากกองทุนโครง การช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ปลอดดอกเบี้ยทั้งสิ้น 1,440 ล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,343 วันที่ 25 - 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
e-book-1-503x62