อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2561 มีแนวโน้มที่ค่อนข้างสดใส เมื่อมองดูปัจจัยทั้งภายในและภายนอก จากทิศทางดังกล่าวทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมออกมาประเมินว่ายอดผลิตรถยนต์ในปี 2561 จะไปถึงฝันที่ 2 ล้านคัน (หลังจากปีก่อนหน้านั้นพลาดเป้า) ขณะที่ยอดผลิตรถจักรยานยนต์จะมีทั้งสิ้น 2,120,000 คัน เพิ่มขึ้น 3.15%
“ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 16.2 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยคือเศรษฐกิจภายในประเทศที่ฟื้นตัว, ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น,นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าในไทยมากขึ้น, ค่ายรถเปิดตัวรถรุ่นใหม่ทั้งเก๋งทั้งปิกอัพ รวมไปถึงการถือครองรถคันแรกครบ 5 ปีที่จะส่งผลให้มีการเปลี่ยนรถใหม่ นอกจากนั้นแล้วการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ ก็มีผลทำให้มีเม็ดเงินในการจับจ่ายใช้สอย” นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวและว่า
สอดคล้องกับความเห็นจากค่ายใหญ่อย่าง “โตโยต้า” นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มตลาดรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ดีขึ้นต่อเนื่อง เป็นผลมาจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจในการบริโภคสินค้าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งจะส่งผลในเชิงบวกต่อภาพรวมของเศรษฐกิจและตลาดรถยนต์ในประเทศ แม้ว่าจะมีปัจจัยลบจากราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับตํ่า การแข็งค่าของเงินบาท การขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าซึ่งส่งผลต่อต้นทุน และความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมือง แต่ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์มากนัก
“ตลาดรถยนต์เดือนมกราคมขายได้ 66,545 คัน เพิ่มขึ้น 16.2% โดยตลาดรถยนต์นั่งเติบโตเพิ่มขึ้น 27.3% และตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์เติบโตเพิ่มขึ้น 10.2% โดยการส่งออกมีการเติบโตสูงสุดในรอบ 6 ปี อยู่ที่ 9.9% และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้นโดยมีการขยายตัวอยู่ที่ 8.8% ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมกราคมอยู่ที่ระดับ 80% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 36 เดือน ประกอบกับการทยอยส่งมอบรถยนต์ที่จองไว้ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลในเชิงบวกกับตลาดรถยนต์ในเดือนมกราคม”
ด้านนายโทชิอากิ มาเอคาวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด เปิดเผยว่า เมื่อดูยอดขายในช่วงเดือนมกราคม จนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ถือว่าตลาดมีแนวโน้มดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ยังประเมินไม่ได้ว่าจะบวกมากน้อยแค่ไหน ส่วนปัจจัยที่มีผลกับตลาดนั้นประกอบไปด้วย รัฐบาลที่ผลักดันการใช้จ่ายในทุกภาคส่วน ส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้น และลูกค้าที่เป็นเจ้าของรถคันแรกจะเริ่มกลับมาซื้อรถใหม่ โดยเบื้องต้นคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศปีนี้จะทำได้กว่า 9 แสนคัน
“เดิมเราคาดการณ์ว่าตลาดรถยนต์ปีนี้จะทำได้ 9 แสนคัน แต่เมื่อดูจากยอดขายเดือนมกราคมถือว่าดีเกินคาด ทำให้มองว่ายอดขายจะเกิน 9 แสนคัน แต่จะดีมากน้อยแค่ไหนนั้นต้องรอดูอีกที ในส่วนของการแข่งขันยังคงรุนแรงโดยเฉพาะตลาดรถปิกอัพ ที่เป็นเซ็กเมนต์ที่ใหญ่ ทุกบริษัทอยากได้ส่วนแบ่งในตลาดนี้ ทำให้กลยุทธ์ที่ได้เห็นก็จะมีทั้ง แคมเปญ ,สงครามราคาต่างๆ ซึ่งอีซูซุมีโปรดักต์ที่มีความแข็งแกร่ง และมีกลุ่มผู้ใช้รถที่สนับสนุน ดังนั้นในแง่การทำสงครามราคาจะไม่มีการนำมาใช้ ขณะที่เป้าหมายของเราในปีนี้คือส่วนแบ่งการตลาดเทียบเท่ากับปีที่ผ่านมาที่ 18.4%” นายมาเอคาวะ กล่าวทิ้งท้าย
เรียกว่าประสานเสียงไปในทิศทางเดียวกันสำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปีนี้ ก็คงต้องมาลุ้นกันดูว่าจะเป็นไปตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ นอกจากนั้นแล้วเทรนด์ที่ต้องจับตามองในปีนี้คือ รถยนต์ไฟฟ้า, รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ที่มาแน่มาจริงแต่ตลาดจะอ้าแขนรับมากน้อยแค่ไหน จะปังหรือไม่คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,344 วันที่ 1 - 3 มีนาคม พ.ศ. 2561