'ฉาย บุนนาค' คนทำสื่อหรือนักลงทุน? (1)

04 มี.ค. 2561 | 06:55 น.
อัปเดตล่าสุด :04 มี.ค. 2561 | 16:56 น.
1339



“ฉาย บุนนาค” ประธานกรรมการบริหารกลุ่มสปริงนิวส์ ให้สัมภาษณ์กับหนังสือ “วันนักข่าว ประจำปี 2561” ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์เเห่งประเทศไทย คอลัมน์ “‘ฉาย บุนนาค’ คนทำสื่อหรือนักลงทุน?”


การสัมภาษณ์ดังกล่าว กองบรรณาธิการฐานเศรษฐกิจออนไลน์ ได้นำบทสัมภาษณ์ดังกล่าวมาเผยเเพร่ โดยจะเเบ่งออกเป็น 3 ตอน ในการนำเสนอโดยไม่ตัดทอนต้นฉบับ ...



content


… ผู้บริหารองค์กรสื่อในยุคปัจจุบันที่ถูกจับตามาตลอด ตั้งแต่ยังไม่เปิดตัวเข้ามาคุมองค์กรสื่อ ‘กลุ่มบริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น’ ที่มีสื่อในเครือ เช่น สถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ จนปัจจุบันเข้ามากุมบังเหียนกลุ่มนิวส์ เน็ตเวิร์คฯ เต็มตัวแล้ว ก็ยิ่งถูกจับตาและพูดถึงมากขึ้น นั่นก็คือ ‘ฉาย บุนนาค’ ที่มีประวัติภูมิหลังทำให้หลายคนสงสัยกันไม่น้อย ว่า ก้าวย่างความประสงค์ของ ฉาย บุนนาค ที่คนส่วนใหญ่ได้ยินชื่อกันก่อนหน้านี้ จากความเป็นนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อมาคุมองค์กรที่ทำธุรกิจสื่อ ที่มีทั้งทีวีดิจิทัล หนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ข่าว ‘ฉาย’ จะมีนโยบายเรื่องข่าวอย่างไร และต้องการนำพาองค์กรสื่อในเครือกลุ่มนิวส์ เน็ตเวิร์คฯ ไปในทิศทางใด

‘ฉาย บุนนาค’ ซีอีโอกลุ่มนิวส์ เน็ตเวิร์คฯ ในวัย 36 ปี ที่ตำแหน่งในบริษัท คือ ประธานบริษัทลูกของนิวส์ เน็ตเวิร์คฯ คือ บริษัท ฐานเศรษฐกิจ และบริษัท สปริงนิวส์ ให้สัมภาษณ์กับทีมงานกองบรรณาธิการข่าว หนังสือวันนักข่าวประจำปี 2561 เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2561 ซึ่งช่วงนั้นกลุ่มบริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (NEWS) ที่มี ฉาย บุนนาค เป็นแกนหลัก กำลังเริ่มเข้าไปมีบทบาทใน บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป แล้ว หลังมีการส่งอดีตผู้บริหารในเครือไปนั่งเป็นกรรมการบริษัท เนชั่นฯ และหลังการสัมภาษณ์เสร็จสิ้นลง ในช่วงเย็นวันเดียวกัน ก็ปรากฏข่าว “สุทธิชัย หยุ่น ผู้บริหารและผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ที่ต่อมามีธุรกิจสื่ออีกจำนวนมาก” ตัดสินใจลาออกจากการเป็นที่ปรึกษากองบรรณาธิการเครือเนชั่นฯ และยุติบทบาทการทำหน้าที่สื่อ ทั้งทางโทรทัศน์และในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และเดอะเนชั่น

‘ฉาย’ เริ่มต้นการพูดคุยด้วยการบอกว่า “ผมไม่ได้ให้สัมภาษณ์มา 7 ปีแล้ว” และแนะนำตัวเองว่า สถานะอย่างเป็นทางการของตัวเขาในธุรกิจสื่อกลุ่มนิวส์ เน็ตเวิร์คฯ ก็คือ “ผมประธานบริษัทลูกของนิวส์ เน็ตเวิร์คฯ คือ บริษัท ฐานเศรษฐกิจ และบริษัท สปริงนิวส์”

จากนั้นก็เล่าให้ฟังว่า ความสนใจต่อธุรกิจสื่อ เรื่องนี้เป็นความบังเอิญมากกว่า เพราะเริ่มต้นไม่ได้สนใจธุรกิจสื่อเลย แต่เคยทำรายการช่อง 5 เกือบ 10 ปีที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ในชื่อบริษัท อควา มีเดีย 360 จำกัด เคยร่วมผลิตกับหลายรายการ พอดีทีวีช่อง 5 ทุกสิ้นปีต้องไปวิ่งต่อเวลา เพราะเป็นสัญญาแบบปีต่อปี เวลาเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาก็ยุ่งยากพอสมควร


content-42

ต่อมามีผู้ใหญ่มาชวนทางภรรยาผม (วทันยา วงษ์โอภาสี หรือ ‘มาดามเดียร์’ ผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี) ซึ่งทำงานด้านนี้ตั้งแต่อยู่ที่ อควา มีเดีย 360 ก็มีคนมาชวนทำช่องสปริงนิวส์บนทีวีดาวเทียม ส่วนคุณพ่อผมทำโรงพิมพ์ตะวันออก เป็นโรงพิมพ์อิสระ พิมพ์ให้หลายแห่ง

สำหรับจุดเริ่มที่อยากจะเข้ามาบริหารสื่อคืออะไร ‘ฉาย’ บอกว่า ความจริงแล้ว เราเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์มาก่อน ตอนที่ทำรายการช่อง 5 ถือว่าเป็นสื่อที่ผลิตรายการคอนเทนต์วาไรตี้ บริษัท อควา มีเดีย 360 ขณะนั้นมีป้ายโฆษณาบิวบอร์ด เป็นป้ายนิ่ง รายได้ประมาณเกือบ 400 ล้าน ซึ่งปัจจุบันยังมีอยู่ ตอนนี้ขยายไปทำจอ LED ซึ่งถือว่าเป็นสื่อที่ไม่ใช่แบรนด์ ถ้าสื่อที่เป็นแบรนด์ ปัจจุบัน คือ ฐานเศรษฐกิจ และสปริงนิวส์

ส่วนการพัฒนาก้าวกระโดดในการก้าวเข้ามาบริหารเป็นเจ้าของสื่อนั้น ‘ฉาย’ กล่าวว่า ความจริงแล้ว สปริงนิวส์ไม่ใช่ของผมคนเดียว แต่เป็นบริษัทลูกภายใต้บริษัทมหาชน ซึ่งภรรยาผมเข้ามาช่วยดูแลบริหารร่วมด้วยกับทีมบริหาร ผมไม่ได้เข้ามาร่วมด้วยตั้งแต่แรก แต่เป็นผู้ติดตามมากกว่า โดยผมเพิ่งเข้ามาเป็นประธานกรรมการกับประธานเจ้าหน้าที่บริหารเมื่อเดือน มิ.ย. ปี 2560

เมื่อถามว่า เหตุใดระยะหลังถึงเปิดตัวว่า เข้ามาบริหารสื่อในเครือสปริงนิวส์เต็มตัว จากเดิมก่อนหน้านี้ที่ไม่เปิดตัว ‘ฉาย’ ตอบว่า ผมคิดว่าอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของทีวีดิจิทัล และมีเวลาว่างพอที่จะมาช่วยให้นโยบาย ช่วยบริหาร จัดการเติมให้กับองค์กรได้ สำหรับสื่อทุกสื่ออยู่ในช่วงที่เปลี่ยนผ่านและอยู่ในช่วงที่เหนื่อยที่สุด ผมไม่ได้บอกว่า ทีมเก่าทำไม่ดี แต่เป็นช่วงที่ต้องระดมสรรพกำลังมาช่วยกัน

ตามกฎหมายจะมีปัญหาหรือไม่ ที่กลุ่มธุรกิจในเครือไปครอบครองสื่อที่มีลักษณะเดียวกัน ทั้งช่องเนชั่น ช่อง Now26 สปริงนิวส์
- เราไม่ได้เข้าไปที่ Now26 และนิวส์ เน็ตเวิร์คฯ ถือหุ้นในเนชั่นฯ แค่ 9% ซึ่งบริษัทแม่ได้ขอความเห็นทางกฎหมายกับ กสท. แล้ว โดย กสทช. บอกว่า ไม่ผิด คนจะเข้าใจว่า นิวส์ เน็ตเวิร์คฯ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่ถือหุ้นสปริงนิวส์ ถือหุ้นของเนชั่นเยอะ ความจริงไม่เยอะ ถือแค่ 9% เดิมถือ 12% แล้วเขาได้เพิ่มทุน ก็เลยเหลือ 9% ซึ่งตามกฎหมายบอกว่า ต้องขออนุญาตถ้าถือเกิน 25% และผู้ถือหุ้นก็มีสิทธิได้รับการปันผล มีสิทธิลงคะแนนเสียง และเนชั่นมีทีวีดิจิทัล 2 ช่อง คือ เนชั่น กับช่อง Now ถือว่าเป็นกลุ่มวาไรตี้ SD คนละหมวดกัน ดังนั้น ผู้ประกอบการสามารถถือช่อง SP กับช่องข่าวได้โดยไม่ขัดแย้ง

มีนโยบายในการเข้าไปดูแลธุรกิจสื่อในเครือเนชั่นจากนี้อย่างไรบ้าง
- ผมไม่ได้เข้าไปในเนชั่นเลย และส่วนตัวก็ไม่คิดจะเข้าไปด้วย แต่นโยบายของบริษัทแม่ก็เป็นนโยบายของบริษัทแม่ ที่ นายอารักษ์ ราษฏร์บริหาร เป็น CEO และที่ภรรยาผมเป็น MD เรื่องก็ผ่านมา 3 ปีแล้ว ผมก็อยากเห็นทิศทางที่จบลงกันได้ด้วยดี

ผมคิดว่า เนชั่นเป็นสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือ มีกองบรรณาธิการในแบรนด์ต่าง ๆ ที่อยู่ใต้บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป ซึ่งน่าชื่นชมที่เป็นองค์กรที่มีความยาวนาน เป็นต้นกำเนิดของการสร้างบุคลากรสื่อที่มีคุณภาพมากมาย

เมื่อถามย้ำว่า จะมีทิศทางการบริหารสื่อเครือเนชั่นอย่างไร ‘ฉาย’ กล่าวตอบว่า ผมคิดว่า สิ่งที่เขาทำมาก็มีคุณภาพอยู่แล้ว เพราะการถือหุ้นไม่จำเป็นต้องเข้าไปบริหาร แต่ถ้าสมมติเขาเชิญตัวแทนเข้าไปร่วมให้ความเห็นก็เป็นสิ่งที่เขาให้เกียรติ

ล่าสุด ผมก็เสียบุคลากรที่มีคุณภาพไป คือ นายสมชาย มีเสน ลาออกจากกรรมการผู้จัดการของฐานเศรษฐกิจไปเป็นกรรมการที่เนชั่น ก็ถือว่า เนชั่นได้บุคลากรที่มีคุณภาพไป เพราะคุณสมชายทำให้ฐานเศรษฐกิจ 6 เดือนย้อนหลัง ตั้งแต่ มิ.ย. 2560 ถึงสิ้นปี 2560 มียอดซื้อของหนังสือพิมพ์โตขึ้น 100% สวนทางจากสิ่งพิมพ์ที่ดรอปลง 20% ในปีที่แล้ว งบโฆษณาที่ได้เข้ามาในฐานเศรษฐกิจ ทำให้องค์กรสามารถจ่ายโบนัสให้กับพนักงานได้

ผมถือว่า ในทุกวิกฤตของอุตสาหกรรมยังมีโอกาสอยู่เสมอ ฐานเศรษฐกิจรายได้จากโฆษณาไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ฐานเศรษฐกิจเปลี่ยนตัวเองไปทำด้านอีเวนต์และจัดงานสัมมนาต่าง ๆ ที่ให้ความรู้กับประชาชน ซึ่งถือเป็นอีกช่องทางรายได้ที่เข้ามา

คนภายนอกและคนในเนชั่นมองว่า ฉาย บุนนาค กำลังเข้าไปยึดเครือเนชั่น
- ในแง่ข้อเท็จจริงมันไม่ใช่ เพราะบริษัทแม่ คือ นิวส์ เน็ตเวิร์ค มัลติมีเดีย ถือหุ้นเพียง 9% และในเรื่องอดีตที่ผ่านมา ว่า สององค์กรมีข้อขัดแย้งกัน มีคดีความต่อกัน ผมคิดว่า คนชอบใช้คำว่า จะมีผู้แพ้ผู้ชนะในสงคราม แต่ทุกคนแพ้หมด เพราะทั้งสองข้างทะเลาะกันไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร

เนชั่นก็อยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่จากการขาดทุนของทีวีดิจิทัลเป็นหลัก ด้าน นิวส์ เน็ตเวิร์คฯ ก็ขาดทุนจากช่องสปริงนิวส์ ก็อยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ทั้งคู่ ทะเลาะกันไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร แต่ควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีในการเดินไปข้างหน้าด้วยกันมากกว่า ไม่ได้หมายความว่า ครอบงำ เพราะผมคิดว่า กองบรรณาธิการที่เนชั่นทำดีอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องไปเปลี่ยนแปลงอะไร

อย่าง คุณสุทธิชัย หยุ่น ก็เป็นผู้สร้างองค์กรเนชั่นขึ้นมา ก็เป็นบุคคลที่น่านับถือ ไม่มีความจำเป็นต้องไปเปลี่ยนแปลงอะไรในสถานะของคุณสุทธิชัย ส่วนตัวผมก็ชื่นชมที่มาที่ไปของเนชั่นว่า เป็นสถาบันที่เข้มแข็งและทำหน้าที่สื่อที่มีคุณภาพ แต่ในแง่ของธุรกิจ อุตสาหกรรมสื่อที่ทุกที่ต้องปรับตัวให้ได้กับพฤติกรรมของผู้ซื้อโฆษณาและผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

Screen Shot 2561-03-04 at 13.43.37

 

ที่เนชั่นหลังจากนี้จะเกิดคลื่นใต้น้ำหรือความคิดเห็นไม่ตรงกันในการทำงาน การบริหารงาน หรือในการเสนอข่าว หรือนโยบายในการเสนอข่าวต่าง ๆ ของสื่อในเครือเนชั่นหรือไม่
- ผมไม่ทราบ แต่เวลาผ่านมา 3 ปีแล้ว เรื่องเก่า อีกอย่างคือ คุณสมชาย มีเสน อดีตผู้บริหารของฐานเศรษฐกิจ ลาออกไปเป็นกรรมการของเนชั่น แล้วถูกแต่งตั้งโดยคณะกรรมการของเนชั่น ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า เป็นทิศทางที่ดีที่ได้ร่วมกัน ไม่ใช่การไปลงคะแนนเสียงปลดใครมาเพื่อแต่งตั้งใคร นั่นคือ ในแง่ธุรกิจ ด้านกอง บ.ก. ผมไม่ทราบ แต่ส่วนกอง บ.ก.เนชั่น ทำดีอยู่แล้ว

แต่คนก็สงสัยกันว่า ในเมื่อกลุ่มสปริงนิวส์ก็อยู่ในสภาวะขาดทุน เนชั่นก็ขาดทุน แล้วคุณฉายก็เป็นนักธุรกิจนักลงทุน ทำไมยังเอาเงินไปลงทุนในธุรกิจที่ขาดทุน แล้วทำไมไม่เอาเงินมาปรับปรุงพัฒนาสื่อในเครือสปริงนิวส์ให้มีคุณภาพให้เกิดกำไร คนจะได้ติดตามมากขึ้น
- เป็นเรื่องของบริษัทแม่ที่เข้าไปซื้อหุ้นเนชั่น แต่สปริงนิวส์ไม่เคยซื้อหุ้นเนชั่น อยากถามว่า ช่องข่าวช่องไหนมีกำไร ทุกช่องขาดทุนหมด เป็นเรื่องอุตสาหกรรมการประมูลทีวีดิจิทัล เป็นความสำเร็จของ กสทช. แต่ก็เป็นความล้มเหลวของ กสทช. เช่นกัน


content-45

ในฐานะที่คุณฉายเป็นนักธุรกิจ การลงทุนต้องมองเรื่องของผลกำไรในอนาคต แต่เนชั่นที่ผ่านมามีแต่ขาดทุน ทำไมถึงมองว่า เครือเนชั่นน่าจะเข้าไปลงทุน
- ผมไม่ได้ตัดสินใจลงทุนในเนชั่น แต่เป็นคุณอารักษ์ ราษฏร์บริหาร กับคณะกรรมการบริษัทแม่เป็นคนตัดสินใจลงทุน ผมตอบในมุมของบริษัทลูกที่ดูแลอยู่ได้ แต่ถ้าถามว่า คุ้มค่าหรือไม่ ผมตอบไม่ได้ และในเมื่อเป็น Investment ที่อยู่ในบริษัทแม่อยู่แล้ว เมื่อลงทุนไปแล้วก็ต้องแก้กันไป พัฒนากันไป

เมื่อถามว่า หลังจากนี้จะเข้าไปนั่งในบอร์ดเครือเนชั่นหรือไม่ ‘ฉาย’ ย้ำว่า ไม่ครับ ผมสบายใจนั่งที่นี่มากกว่า จะไม่เห็นผมและภรรยาไปนั่งที่เนชั่น เพราะเขาเชิญคุณสมชายและคุณอภิวุธ ทองคำ ไปแล้ว

“คนชอบไปบอกว่า ผมจะล้างบางเนชั่น ผมคิดว่า พูดกันเยอะไป อยากบอกว่า ไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องไปสวมเสื้อคนอื่น ทุกคนก็มีศักดิ์ศรีหมด แต่วันนี้ทำอย่างไรให้ทุก ๆ องค์กรอยู่ได้เท่านั้นเอง ไม่มีเหตุอันใดที่จะไม่ชื่นชมผู้ก่อตั้งของแต่ละสื่อ คุณสุทธิชัยก็คือ เนชั่น ผมชื่นชมสถาบัน และคิดว่า 3 ปี ที่เนชั่นขาดทุนมา ก็ถือเป็นการโซเซพอสมควร ผมคิดว่า ทุกอย่างพลิกฟื้นได้หมด”

อนาคตเนชั่นอยู่ในมือของกรรมการเนชั่นชุดใหม่และชุดเดิม อยู่ที่เขาเอง ไม่ได้อยู่ที่ผม ผมไม่ใช่เทวดา ผมทำให้เขาไม่ได้ แต่เนชั่นมีบุคลากรและมีเครื่องมือครบทุกอย่างแล้วที่จะพลิกฟื้นธุรกิจได้ ไม่สายเกินไป เขายังมีของเหลือและมีศิษย์เก่าหลายคนที่มีใจ น่าจะกลับมาช่วยเขาได้ คุณสุทธิชัยก็เป็นผู้ก่อตั้ง คงไม่อยากให้เนชั่นล่มสลายไป

ก่อนหน้านี้ เครือเนชั่นก็มีการประกาศขายสินทรัพย์หลายอย่างในเครือ มูลค่ารวมกว่า 1,400 ล้านบาท ในฐานะนักธุรกิจมองว่า เนชั่นจะสามารถพลิกฟื้นกลับมาได้หรือไม่
- มีครับ คือ อยู่ที่คนบริหาร ผมก็หวังว่า เนชั่นจะได้ผู้บริหารใหม่ที่มีคุณภาพ อยู่ที่ผู้บริหารใหม่ ไม่ได้อยู่ที่อย่างอื่นเลย

ธุรกิจสื่อมีความเสี่ยงสูง อยู่ที่แนวคิดเดียวเท่านั้นในการจะปรับตัว อย่าง เครือมติชนปรับตัวเร็วและถูกต้อง เพราะฉะนั้นมติชนไม่เหนื่อย ตัวเลขขาดทุนไม่เยอะ อาจมีการลดคนบ้าง แค่ปรับตัวเร็ว คือ อุตสาหกรรมสื่อ คนไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง แต่ละคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเป็นอนุรักษ์นิยม ทุกสื่อพอถึงเวลาต้องเปลี่ยนจริง ๆ เปลี่ยนช้าก็เสร็จ


content-46

 

หลังจากนี้ ผลประกอบการของกลุ่มนิวส์ เน็ตเวิร์คฯ และเครือเนชั่น จะเป็นอย่างไร
- เพราะทุกวันนี้ธุรกิจสื่อมีแต่ขาลง ภายในปี 2561 ผมตอบแทนเนชั่นไม่ได้ แต่เชื่อว่า ในเครือของบริษัทลูก คือ นิวส์ เน็ตเวิร์คฯ ทั้ง 4 บริษัท ที่มีอยู่ ไม่จำเป็นต้องขอกระแสเงินสดจากบริษัทแม่อีกในการลงทุนเพิ่ม ณ สิ้นปี 2561 เพราะคิดว่า จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่ก็ต้องรอดูมาตรา 44 ที่อาจจะออกมาเพื่อเยียวยาผู้ประมูลทีวีดิจิทัลในเร็ว ๆ นี้

ส่วนภาพรวมธุรกิจสื่อ ถ้าดูจากแต่ละช่องทางเริ่มจากทีวีดิจิทัล ผมมองว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สุดในวงการข่าวของไทย และไปในทิศทางที่เลวร้ายต่อสังคม เพราะวันนี้ช่องข่าวอยู่ไม่ได้ ช่องวาไรตี้ก็ทำข่าว สิ่งพิมพ์ที่เป็นตัวสื่อสารข่าวก็เหนื่อยจากที่คนไปเสพนิวส์มีเดีย การขายโฆษณาก็ต้องพึ่งพาเรตติ้ง เรตติ้งทำให้เป็นตัวชี้นำรายได้ รายได้เป็นตัวชี้นำความอยู่รอดองค์กร องค์กรที่ทำข่าว และข่าวสารที่มีคุณภาพมักจะเรตติ้งไม่ดี ข่าวสารที่เรตติ้งดีมักจะไม่มีคุณภาพ แต่คนสนใจและสร้างรายได้ เพราะฉะนั้นสื่อปรับตัวลำบาก

สมมติบอกว่า อยากทำคอนเทนต์ให้ดี ข่าวเจาะลึกสังคมได้ประโยชน์ทำได้ยาก เพราะคนสนใจแค่กลุ่มเฉพาะ แต่องค์กรก็ต้องอยู่ได้ด้วยรายได้ จึงเป็นปีที่ปรับตัวลำบาก เพราะนโยบายของบริษัทแม่จากอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ (ประธานกรรมการบริษัท) ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า เรายึดหลักคุณธรรมและจริยธรรม จรรยาบรรณ

สมมติว่า จะให้นักข่าวไปทำข่าวไร้สาระเพื่อจะเอาเรตติ้ง เพื่อให้องค์กรอยู่รอดอย่างนั้นหรือ ก็ผิดแนวคิดของเราที่อยากจะทำข่าวที่มีคุณภาพและเราอยู่รอดทางธุรกิจได้ด้วย จุดสมดุลตรงนี้เป็นจุดที่ยาก เพราะจะไปพึ่งพารายได้จากเรตติ้งอย่างนั้นหรือ แม้เราจะสนใจ แต่เราไม่ให้ความสำคัญมากที่สุด

ถามว่า จะอยู่รอดยังไง ผมก็รอดูมาตรา 44 ว่า จะออกมาอย่างไร ในเมื่อทีวีดิจิทัลอุตสาหกรรมอยู่กันอย่างนี้

คนเสพข่าวจากมือถือมากขึ้น ทุกคนสามารถเป็นผู้สื่อข่าวได้เอง สามารถให้สัมภาษณ์ได้เองผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ เป็นผู้สื่อข่าวเองหมดวันนี้ แต่สิ่งที่ประชาชนสามารถเป็นผู้สื่อข่าวเองได้ไม่มี คือ ต้องมีความน่าเชื่อถือของแบรนด์หรือสถาบันของคอนเทนต์ที่ออกมา แต่ถ้าคอนเทนต์ไลฟ์สดทุกคนทำได้หมดแล้ววันนี้ ทำให้คนดูลดลงบวกกับช่องเพิ่มขึ้น เงินก็กระจาย บวกกับที่เราตั้งใจว่า จะทำคอนเทนต์ที่มีคุณภาพ ก็จะกลายเป็นไม่แมส นี่คือ สิ่งที่ช่องข่าวทุกช่องประสบอยู่ รวมถึงเนชั่นด้วย

ส่วนทีวีดิจิทัลจะมีทางรอดหรือไม่นั้น ‘ฉาย’ มองว่า ก็คงต้องไปหารายได้ทางอื่น ซึ่งเราก็พยายามคงจุดยืนไว้ เช่น จะจัดงานอีเวนต์ต่าง ๆ งานสัมมนาให้มากขึ้น ขายบัตรบ้าง ขอสปอนเซอร์บ้าง ซึ่งงานอีเวนต์นั้นลูกค้าสนใจมากกว่าเวลาไปออกงาน เขาอยู่ในจุดที่สามารถขายของได้เลย มันจับต้องได้ ลูกค้าก็จะแฮปปี้มากกว่า แล้วผมไม่ต้องไปขายตามเรตติ้ง เพราะถ้าทำอย่างนั้นมันจบ เพราะไม่มีทางที่ช่องข่าวจะไปสู้เกมโชว์ของเวิร์คพอยท์หรือละครได้


Screen Shot 2561-03-04 at 13.48.22

 

ในอนาคตมีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ช่องเนชั่นกับช่องสปริงนิวส์จะรวมเป็นช่องเดียวกัน
- ทุกอย่างเป็นไปได้หมด

แล้วมองเรื่องการครอบงำสื่ออย่างไรบ้าง
- คำว่า ครอบงำสื่อ เป็นแค่คำพูดในอดีต ปัจจุบันเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกคนเป็นสื่อหมด ครอบงำสื่อหมายถึงสื่อถูกผูกขาดอยู่ที่คนคนเดียวหรือกลุ่มกลุ่มเดียว สื่อทุกวันนี้ฟรี ความจำเป็นที่จะต้องไปจ่ายค่าสื่อไม่มีแล้ว เฟซบุ๊กฟรีแล้ว ทำไมผมต้องไปจ่ายค่าดิจิทัลทั้งสัญญา 15 ปี 1,400 ล้าน คือ ทุกคนที่ทำทีวีดิจิทัลหวังพึ่งแนวทางการเยียวยาของรัฐหมด

ดูจากตัวเลขผลประกอบการ สื่อด้านข่าวทุกค่ายเหนื่อยหมด เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมที่ย่ำแย่ ทุกคนมีแนวคิดอยู่แล้วว่า ต้องมีการควบรวม ลดต้นทุนหรือไม่ หรือจะปิดหรือไม่ หรือจะขายหรือไม่ มีทุกแนวคิดอยู่แล้ว การควบรวมเพื่อการอยู่รอดก็มีให้เห็นอยู่หลายครั้งในทุกธุรกิจทั่วโลก อย่างไรก็ตาม เวลาเราเลือกพนักงาน เราเลือกที่คุณภาพ ไม่ได้เลือกที่สีเสื้อ มีจุดยืนมีแนวคิดที่เหมือนกับองค์กรหรือเปล่า

สรุปว่า ธุรกิจทีวีดิจิทัลอนาคตยังพอไปได้ แต่อยู่กันแบบไม่อู้ฟู่
- ถ้าอยู่อย่างปัจจุบันอยู่ไม่ได้ ต้องปรับตัว ถ้าสมมติรัฐไม่ช่วยก็ไม่เป็นไร ก็ต้องปรับตัวกัน ซึ่งมีหลายแนวทาง แต่ปีนี้จะได้เห็นแน่นอน ถ้าสมมติรัฐไม่ช่วยเยียวยา ต้องมีคนปิด ไม่ปิดก็ต้องขายช่องหรือหาพาร์ตเนอร์ หรือควบรวมช่องหรือหารายได้ใหม่ ก็เป็นการปรับตัวทั้งสิ้น

ทุกวันนี้อุตสาหกรรมสื่อเป็นอุตสาหกรรมที่ Conservatives ไม่ชอบเปลี่ยนแปลงอะไรเยอะแยะหรือหวือหวา ถึงได้บอกว่า เป็นความท้าทายของวงการสื่อทุกคน จะทำอย่างไรให้ได้รายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงองค์กร

สำหรับอนาคตของธุรกิจในเครือ นิวส์ เน็ตเวิร์คฯ จะเป็นอย่างไร เราถามไล่ซักไปว่า ตอนนี้มองงพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ เพื่อขยายธุรกิจไว้บ้างหรือไม่ ‘ฉาย’ ตอบว่า ไม่ได้คิดถึงเรื่องพาร์ตเนอร์ เพราะตอนนี้กำลังมองหาสถาบันการเงินมากกว่า และกล่าวต่อว่า ถึงแม้ว่าในตลาดหลักทรัพย์เราต้องทำกำไรในฐานะผู้ถือหุ้น แต่การทำกำไรมากที่สุด ไม่ใช่เป้าหมายที่อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ (ประธานบริษัท) เรียกร้องมา หรือนโยบายของบริษัทแม่ คือ เราต้องการให้บริษัทมีกำไรเพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้น ตอบแทนพนักงานให้มีความมั่นคง ให้ผู้ถือหุ้นมีความพึงพอใจ แต่กำไรแบบ Maximum Profit (กำไรสูงสุดในการลงทุน) ไม่ใช่สิ่งที่บริษัทแม่เรียกร้องมา เราต้องการอยู่ได้ด้วยตัวธุรกิจอย่างมั่นคง เพราะธุรกิจสื่อต้องลงทุนในระยะยาว วันนี้ธุรกิจสื่อท้าทายที่สุด เพราะอยู่ในช่วงการปรับเปลี่ยน กับคนที่ไม่ค่อยชอบปรับเปลี่ยน

ธุรกิจสื่อในเครือก็มีสื่อสิ่งพิมพ์ มองอนาคตสื่อสิ่งพิมพ์อย่างไร
- ยังประคองไปได้ คิดว่า อยู่ได้ เพราะตกมาเยอะแล้ว ผู้เสพสื่อสิ่งพิมพ์ตายทุกวัน เพราะเป็นคนที่อายุ 30 ขึ้นไป ก็จะตายไปเรื่อย ๆ แต่ก็อยู่ได้ ส่วนคนที่เสพสื่อออนไลน์ พฤติกรรมผู้บริโภคของเด็กยุคใหม่ก็จะเสพสื่อออนไลน์มากขึ้น ผู้บริโภคสื่อสิ่งพิมพ์ก็จะน้อยลง แต่แบรนด์ของสื่อสิ่งพิมพ์ยังไปอยู่ในโลกออนไลน์ได้ เพียงแค่ปรับเปลี่ยนฐานรายได้เท่านั้น ค่าโฆษณาก็อาจจะได้จากออนไลน์หรือช่องทางอื่นแทน เพราะฉะนั้นจะไม่ได้เรียกว่า สื่อสิ่งพิมพ์แล้ว แต่จะไปเรียกว่า แบรนด์มากกว่า

สื่อสิ่งพิมพ์จะเอาแบรนด์ตัวเองไปหารายได้ทางอื่น จะไม่ใช่สื่อสิ่งพิมพ์ต่อไป กลายเป็นสื่อครบวงจร แต่ยังมีสิ่งพิมพ์เป็นพื้นฐานอยู่ ซึ่งผมมองว่า สิ่งพิมพ์จะยังไม่หายไปใน 5 ปีนี้ ถึงแม้ว่า พฤติกรรมผู้บริโภคของคนไทยจะใช้มือถือเยอะ แต่สิ่งพิมพ์ก็ยังคงอยู่

สำหรับสื่อโซเชียลมีเดียที่ปัจจุบันกลายเป็นสื่อกระแสหลักไปแล้ว ‘ฉาย’ มองสื่อแพลตฟอร์มนี้ว่า ปัจจุบันทุกคนเป็นเจ้าของสื่อได้ ถ้าทุกคนทำคอนเซ็ปต์ที่ถูกต้องกับจริตของผู้บริโภค แต่วันนี้สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การควบคุมคอนเทนต์ที่ออกมา

ในสื่อออนไลน์โซเชียลมีเดียทำได้แย่มาก โซเชียลมีเดีย คือ พื้นที่ ซึ่งคุณด่าใครก็ได้โดยที่คุณไม่ผิด ไม่มีการเซ็นเซอร์อะไรทั้งสิ้นเลย ปล่อยฟรีมาก จนเกิดเรื่องร้องเรียน แจ้งความกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก

เมื่อควบคุมพวกนี้ไม่ได้จึงทำให้สื่อทั้งหมดและสังคมมีแต่ข่าวมั่ว ข่าวลวงหรือคุณธรรมจริยธรรมในสังคมลดน้อยลง สังคมเสื่อม เพราะมีพวกสื่อโซเชียลมีเดียกับสื่อออนไลน์ที่มี Impact กับคนเยอะ เรื่องนี้มองว่า ควรจะมีการดูแลควบคุมมากกว่าที่เป็นอยู่ เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่ควรจะต้องทำ และคนควรจะมีความรับผิดชอบของตัวเองบนสื่อออนไลน์มากขึ้น

....................
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ฉาย บุนนาค' คนทำสื่อหรือนักลงทุน? (2)
'ฉาย บุนนาค' คนทำสื่อหรือนักลงทุน? (3)

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว