ปกติแล้วเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจะอ้างอิงกับสมมติฐานพื้นฐานที่ว่ามนุษย์นั้นเห็นแก่ตัว (เป็น Self-Interest Agent) คือจะเลือกบริโภคหรือเลือกทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้ตัวเองได้รับประโยชน์หรือได้รับความสุขความพอใจมากที่สุด โดยไม่นึกถึงผู้อื่น
ข้อสมมติฐานนี้ก็คงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เพราะความเห็นแก่ตัวของมนุษย์มีให้เห็นอยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่น การจอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่นเพื่อความสะดวกของตัวเองโดยไม่สนใจว่าเขาจะเดือดร้อนหรือไม่ การโกงกินเพื่อให้ตัวเองสบายก็ทำได้โดยไม่ต้องสนใจใครและไม่ต้องสนใจว่าสังคมจะเดือดร้อนหรือไม่
เราอยู่กับสมมติฐานแบบนี้และสังคมแบบนี้กันมาอย่างชินชา
ไม่แน่ใจว่าเราเห็นด้วยและยอมรับสิ่งเหล่านี้ หรือว่าเราไม่เห็นด้วยกับสิ่งเหล่านี้แต่ทำอะไรไม่ได้
หรือว่าเราเบื่อจนเลิกที่จะสนใจกับสิ่งเหล่านี้ และปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรมของมัน
เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นดีใจ ที่ในยุคหลังๆ เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (ซึ่งจัดว่าเป็นเศรษฐศาสตร์แขนงที่ยังค่อนข้างใหม่เมื่อเทียบกับแขนงอื่น) ได้ค้นพบและแสดงให้เห็นว่า สมมติฐานพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่เคยเชื่อว่ามนุษย์ต้องเห็นแก่ตัวนั้นไม่จริงเสมอไป
เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ค้นพบจากการทำการทดลองพฤติกรรมของมนุษย์ว่า มนุษย์ไม่ได้เลือกการ กระทำ เพื่อให้ตัวเองได้รับประโยชน์สูงสุดเสมอไปแม้จะมีโอกาส เช่น หากให้ขนมกับเด็กแล้วให้เด็กเลือกได้ว่าจะแบ่งให้เพื่อนไหม เด็กส่วนใหญ่เลือกที่จะแบ่งขนมให้เพื่อนด้วย หรือหากลองเอาจดหมายที่มีที่อยู่จ่าหน้าซองไว้ไปทำหล่นตามทางเท้า ก็พบว่าหลายคนที่บังเอิญพบจดหมายนั้นเลือกที่จะเก็บจดหมายไปส่งคืนเจ้าของ แม้ว่าเขาจะต้องเสียเวลาเพื่อนำจดหมายไปส่ง
จากการสังเกตการณ์เหล่านี้จึงได้มีแนวคิดที่จะแก้ไขสมมติฐานที่เศรษฐศาสตร์กระแสหลักเคยเสนอเอาไว้ โดย Gary Becker (นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล) ได้นำเสนอแบบจำลองความสุขความพอใจของมนุษย์ (Utility Function) ในรูปแบบใหม่ โดยใช้สมมติฐานใหม่ที่ว่ามนุษย์นั้นไม่ได้เลือกบริโภคหรือเลือกทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้ตัวเองได้รับประโยชน์สูงสุดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มนุษย์ยังนึกถึงความสุขความพอใจของผู้อื่นด้วย (Becker, 1976)
หากย้อนกลับมามองสังคมปัจจุบันอีกรอบหนึ่ง ข้อสมมติฐานใหม่นี้ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เพราะความไม่เห็นแก่ตัวของมนุษย์มีให้เห็นอยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เช่นกัน
อีกด้านหนึ่งของการที่มีคนจอดรถขวางหน้าบ้านคนอื่นเพื่อความสบายของตัวเอง เราพบว่ามีผู้คนอีกหลายคนที่เคยสละความสบายของตัวเองพายเรือไปช่วยคนติดน้ำท่วม เมื่อครั้งวิกฤติน้ำท่วมใหญ่เมื่อ 6-7 ปีก่อน
อีกด้านหนึ่งของการโกงกินโดยไม่มีความละอาย เราพบเห็นผู้คนที่ทุ่มเททำสิ่งต่างๆ เพื่อสังคม เช่น บริจาคเงินให้ผู้ยากไร้ หรือ วิ่งระดมเงินเพื่อบริจาคให้กับโรงพยาบาลขาดแคลน
ถ้าเช่นนั้นแล้ว สรุปแล้วมนุษย์นั้นเห็นแก่ตัวหรือไม่เห็นแก่ตัว?
สรุปแล้วแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ควรใช้สมมติฐานแบบไหน?
ในความเป็นจริง ผู้เขียนเชื่อว่ามนุษย์นั้นมีทั้งความเห็นแก่ตัวและความไม่เห็นแก่ตัว และมนุษย์แต่ละคนเลือกเองได้ว่าจะมีความเห็นแก่ตัวและความไม่เห็นแก่ตัวมากน้อยแค่ไหน มนุษย์แต่ละคนเลือกเองได้ว่าอยากจะมีความสุขจากการให้ หรืออยากจะมีความสุขจากการได้รับ
มันคงจะไม่ได้ผิดอะไรหากใครอยากจะมีความสุขจากการได้รับ ตราบใดที่การได้รับนั้น ไม่ไปเบียดเบียนสิทธิ์ที่ผู้อื่นพึงมี ไม่เบียดเบียนสังคม และไม่ผิดกฎหมาย
สำหรับความสุขจากการให้ นอกจากผู้ให้จะได้รับความสุขจากการให้ และผู้รับได้รับความสุขจากการได้รับแล้ว เรายังสามารถใช้หลักเศรษฐศาสตร์มาคิดต่อเล่นๆได้อีกว่า ปกติหากเราเป็นคนที่มีสิ่งของต่างๆมากมายอยู่แล้ว การได้สิ่งของเพิ่มขึ้นจะเพิ่มความสุขความพอใจของเราขึ้นเพียงนิดเดียวเท่านั้น แต่หากเรานำสิ่งของเหล่านั้นไปให้คนที่ไม่ค่อยมี เขาจะได้รับความสุขความพอใจเพิ่มขึ้นมาก (ตามหลัก Diminishing Marginal Utility)
เพราะฉะนั้นการให้แบบนี้จึงเป็นวิธีการจัดสรรทรัพยากรได้คุ้มค่ามากทางหนึ่ง นอกจากนี้ความสุขของคนในสังคมจะมีมากขึ้นถ้าคนได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี เช่น มีแต่คนที่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อกัน (Positive Externality)
ดังนั้น การมีน้ำใจไม่เห็นแก่ตัว จึงไม่ได้ขัดกับหลักเศรษฐศาสตร์ นอกจากนี้ยังเป็นวิธีการจัดสรรทรัพยากรให้ได้คุ้มค่ามากทางหนึ่งด้วย
Reference:
• Becker, Gary (1976). Altruism, egoism, and genetic fitness: Economics and sociobiology. Journal of Economic Literature, 14(3), 817-826.
• Nakavachara, Voraprapa (2018). The Economics of Altruism: The Old, the Rich, the Female. Journal of Human Behavior in the Social Environment, 28(1), 2018, 28-43.
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,346 วันที่ 8 - 10 มีนาคม พ.ศ. 2561