ประเด็นสำคัญ
•ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการร้านอาหารประกอบธุรกิจในห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่มากขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายสาขาของห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ประกอบกับการเพิ่มสัดส่วนพื้นที่ร้านอาหาร เป็นการเปิดพื้นที่สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร ทั้งเชนร้านอาหาร ผู้ประกอบรายใหญ่ และผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไป โดยการเริ่มต้นธุรกิจ หรือขยายสาขาของผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อยทั่วไป เป็นการเพิ่มทางเลือกในการรับประทานอาหารในห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นการใช้บริการเชนร้านอาหารเป็นหลัก
•อย่างไรก็ดี การเพิ่มสัดส่วนพื้นที่ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการร้านอาหารรายใหม่สามารถเข้าไปประกอบธุรกิจ น่าจะส่งผลต่อเนื่องให้การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ เป็นไปอย่างรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากมีการประกอบธุรกิจร้านอาหารอย่างกระจุกตัว
•ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าตลาดธุรกิจร้านอาหารในปี 2561 น่าจะอยู่ที่ 411,000-415,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4-5 จากปี 2560 โดยการขยายตัวดังกล่าว ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการผลักดันของต้นทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าเช่าพื้นที่ในทำเลศักยภาพ และต้นทุนค่าแรง ที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องตั้งราคาอาหารในระดับสูง เพื่อให้ครอบคลุมภาระต้นทุนต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น
มูลค่าตลาดธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยที่สูงถึงกว่า 4 แสนล้านบาทต่อปี ดึงดูดให้ผู้ประกอบการร้านอาหารรายใหม่เข้าสู่ตลาดธุรกิจร้านอาหารอย่างต่อเนื่อง โดย ณ สิ้นปี 2560 มีจำนวนผู้ประกอบการร้านอาหารที่จดทะเบียนนิติบุุคลรวม 12,630 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จาก ณ สิ้นปี 2559 ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการร้านอาหารรายเดิมในตลาดยังขยายการลงทุน ทั้งในรูปแบบการพัฒนาแบรนด์ร้านอาหารขึ้นมาใหม่เอง รวมถึงการซื้อแฟรนไชส์จากทั้งในประเทศ และต่างประเทศ สำหรับผู้ประกอบการที่เล็งเห็นจุดอิ่มตัว หรือเผชิญภาวะขาดทุนก็เลิกกิจการ หรือขายร้านอาหารไป ส่งผลให้วงจรการประกอบธุรกิจร้านอาหารมีแนวโน้มสั้นลง
คาดปี’ 61 ตลาดธุรกิจร้านอาหารขยายตัวร้อยละ 4-5
ในปี 2561 การใช้บริการร้านอาหารทั่วไป ที่มุ่งตอบโจทย์การรับประทานอาหารในชีวิตประจำวัน อย่างร้านอาหารตามสั่ง ก๋วยเตี๋ยว และข้าวแกง น่าจะยังคงทรงตัว โดยร้านอาหารในกลุ่มนี้ น่าจะยังคงมีรายได้หลักจากการให้บริการผู้คนทั่วไป ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วในการรับประทานอาหารในช่วงวันธรรมดา
สำหรับร้านอาหารระดับบน รวมไปถึงร้านอาหารระดับกลาง อย่างร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ น่าจะยังคงมีผู้ใช้บริการอย่างคึกคักในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยผู้ประกอบการร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเชนร้านอาหาร ที่มีการขยายสาขาร้านอาหารไปตามการขยายสาขาของห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่
•การขยายสาขาของห้างสรรพสินค้า เป็นการเปิดพื้นที่สำหรับร้านอาหาร...เม็ดเงินกระจายไปยังผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อย ส่งผลให้การแข่งขันรุนแรงขึ้น
ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการร้านอาหารประกอบธุรกิจในห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่มากขึ้น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายสาขาของห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ประกอบกับการปรับกลยุทธ์กำหนดตำแหน่งการแข่งขันให้ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่บางแห่งเป็นจุดหมายสำหรับการรับประทานอาหาร (Food Destination) โดยใช้ร้านอาหารเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดผู้คนให้เข้ามาใช้บริการ ส่งผลให้ในปัจจุบัน ห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ต่างให้ความสำคัญกับการเพิ่มสัดส่วนพื้นที่ร้านอาหาร โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30-40 ของพื้นที่ศูนย์การค้า เพิ่มขึ้นจากในระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา ที่พื้นที่สำหรับร้านอาหารคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20-25 ของพื้นที่ศูนย์การค้า โดยมีการคัดเลือกแบรนด์ร้านอาหารต่างๆ อย่างหลากหลาย แตกต่างกันไปตามทำเลที่ตั้ง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การขยายสาขาของห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ และการเพิ่มสัดส่วนพื้นที่ร้านอาหาร เป็นการเปิดพื้นที่สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร ทั้งเชนร้านอาหาร ผู้ประกอบการรายใหญ่ และผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไป ที่จะสามารถเริ่มต้นธุรกิจ หรือขยายสาขา ไปยังห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ เพื่อเข้าถึงลูกค้าในวงกว้างมากขึ้น โดยการเริ่มต้นธุรกิจ หรือขยายสาขาของผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อยทั่วไป เป็นการเพิ่มทางเลือกในการรับประทานอาหารในห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น จากเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นการใช้บริการเชนร้านอาหารเป็นหลัก
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเพิ่มสัดส่วนพื้นที่ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการร้านอาหารรายใหม่สามารถเข้าไปประกอบธุรกิจ น่าจะส่งผลต่อเนื่องให้การแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ เป็นไปอย่างรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากมีการประกอบธุรกิจร้านอาหารอย่างกระจุกตัว ประกอบกับค่าเช่าพื้นที่ค้าปลีกโดยเฉลี่ยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2560 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5-10 จากในปี 2559 เป็นปัจจัยกดดันความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องแข่งขันทำการตลาดเพื่อช่วงชิงลูกค้าที่เข้ามาจับจ่ายใช้สอยในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ รวมถึงผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังต้องใช้กลยุทธ์จัดโปรโมชั่นด้านราคาสำหรับในช่วงวันธรรมดา ซึ่งมีลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการจำนวนไม่มากนัก
•คาดมูลค่าตลาดธุรกิจร้านอาหารปี’ 61 ขยายตัวร้อยละ 4-5 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการยังคงต้องตั้งราคาอาหารในระดับสูง เพื่อให้ครอบคลุมภาระต้นทุนต่างๆ
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ต้นทุนการประกอบธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้นในปี 2561 เป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร ทั้งค่าเช่าพื้นที่ในทำเลศักยภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มสูงขึ้น ที่ส่งผลต่อผู้ประกอบการร้านอาหารทุกกลุ่ม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าตลาดธุรกิจร้านอาหารในปี 2561 น่าจะอยู่ที่ 411,000-415,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4-5 จากปี 2560 โดยการขยายตัวส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการผลักดันของต้นทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าเช่าพื้นที่ในทำเลศักยภาพ และต้นทุนค่าแรง ที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการร้านอาหารต้องตั้งราคาอาหารในระดับสูง เพื่อให้ครอบคลุมภาระต้นทุนต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น
ทั้งนี้ อัตราค่าเช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ที่อยู่ในระดับสูง น่าจะเป็นปัจจัยกดดันให้ในปี 2561 ผู้ประกอบการร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ หันมาให้ความสำคัญกับการขยายสาขาในรูปแบบ Stand Alone มากขึ้น โดยนอกจากจะเป็นการลดต้นทุนค่าเช่าแล้ว การขยายสาขาในรูปแบบ Stand Alone น่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีความยืดหยุ่น ทั้งในด้านเวลาการให้บริการ รวมถึงการตกแต่งร้านอาหารอย่างมีเอกลักษณ์ ที่น่าจะส่งผลให้ร้านอาหารเป็นที่สังเกตหรือจดจำสำหรับลูกค้าได้ง่ายขึ้น ในขณะที่ ผู้ประกอบการร้านอาหารบริการด่วน (Quick Service Restaurant) ที่ยังเปิดให้บริการในห้างสรรพสินค้า และร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ เป็นหลัก น่าจะลดขนาดพื้นที่สาขาใหม่ลง ควบคู่ไปกับขยายบริการในรูปแบบไดร์ฟทรูในสถานีบริการน้ำมันมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่เร่งรีบของผู้คนในยุคปัจจุบัน
นอกจากนี้ ภาพการขยายตัวของจำนวนคาเฟ่ ร้านกาแฟ และ Coworking Space ได้สะท้อนเทรนด์การใช้จ่ายด้านขนมและเครื่องดื่ม รวมถึงทางเลือกในการรับประทานอาหารในกลุ่ม Street Food ที่กลับมาได้รับความนิยม ส่งผลให้เม็ดเงินการใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มนอกบ้านของคนไทยกระจายตัวไปยังผู้ประกอบการกลุ่มคาเฟ่ ร้านกาแฟ และ Coworking Space รวมถึงผู้ประกอบการกลุ่ม Street Food มากขึ้น จากเดิมที่กระจุกตัวอยู่กับผู้ประกอบการร้านอาหารเป็นหลัก นับเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการร้านอาหารในการช่วงชิงเม็ดเงินการใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มนอกบ้านในปี 2561
การขยายสาขา ส่งผลให้ลูกค้ากระจายตัวใช้บริการสาขาใหม่ กระทบรายได้สาขาเดิม
ในปี 2561 การขยายสาขาร้านอาหารยังเป็นกลยุทธ์ที่ผู้ประกอบการร้านอาหารให้ความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เชนร้านอาหาร แม้การขยายสาขาจะเป็นการเสริมสร้างให้รายได้รวมของผู้ประกอบการขยายตัว แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นการขยายตัวมาจากรายได้ของสาขาที่เปิดใหม่ ซึ่งเป็นผลมาจากลูกค้ามีแนวโน้มกระจายตัวใช้บริการสาขาใหม่ๆ และส่งผลต่อเนื่องให้รายได้ของสาขาเดิมลดลง หรือเติบโตอย่างชะลอตัวลง ประกอบกับจำนวนสาขาของร้านอาหารแต่ละแบรนด์ที่เพิ่มสูงขึ้น ยังส่งผลให้การแข่งขันเป็นไปอย่างรุนแรงมากขึ้น และนำมาสู่การแข่งขันจัดโปรโมชั่นด้านราคา ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันรายได้ตามมา สอดคล้องกับข้อมูลของเชนร้านอาหารที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนสาขาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะที่ผ่านมา แต่รายได้เฉลี่ยต่อสาขายังไม่สามารถเพิ่มสูงขึ้นได้อย่างโดดเด่น
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความท้าทายของผู้ประกอบการร้านอาหารในปี 2561 จึงอยู่ที่การคัดเลือกทำเลในการขยายสาขา ซึ่งต้องเป็นทำเลที่สามารถเข้าถึงฐานลูกค้าใหม่ๆ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อรายได้ของสาขาเดิม โดยอาจเป็นการขยายสาขาไปยังพื้นที่ใหม่ๆ ที่การแข่งขันยังไม่รุนแรง รวมถึงอัตราค่าเช่ายังไม่สูงมากนัก ทั้งนี้ ผู้ประกอบการยังมีโอกาสขยายสาขาไปยังสถานที่ใหม่ๆ ที่มีการเปิดพื้นที่สำหรับร้านอาหาร อย่างสถานีบริการน้ำมันที่มุ่งตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คนที่เข้ามาเติมน้ำมันได้อย่างครบวงจร อาคารสำนักงานในพื้นที่ใจกลางเมืองที่ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเป็นกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ รวมถึงโรงพยาบาลที่มีบริการต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับผู้ป่วยและผู้มาเยี่ยม
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการร้านอาหารน่าจะหันมาให้ความสำคัญกับบริการเมนูอาหาร ขนม และเครื่องดื่มภายในร้านให้หลากหลายมากขึ้น ตามเทรนด์การใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มนอกบ้านของคนไทย เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างครอบคลุม และกระตุ้นให้ลูกค้าใช้จ่ายในการรับประทานอาหารต่อคนต่อมื้อเพิ่มสูงขึ้น มากกว่าการจัดโปรโมชั่นด้านราคาดังที่ผ่านมา รวมถึงผู้ประกอบการยังคงต้องให้ความสำคัญกับการรักษาคุณภาพของอาหาร ที่ต้องมีความสดใหม่ และรสชาติอร่อย รวมถึงคุณภาพการให้บริการ ที่ต้องมีความรวดเร็วทันใจ เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่เร่งรีบของผู้คน
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย