เปิดดูกฎหมายลูก 7 ฉบับ ‘ภาษีมรดก’1ก.พ.59 ผ่อนชำระเกิน 2 ปีเสียเงินเพิ่ม 0.5% ต่อเดือน

20 ม.ค. 2559 | 04:00 น.
หลังจากที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 40 ) พ.ศ. 2558 (ว่าด้วยภาษีการรับในกรณีที่โอนทรัพย์สมบัติก่อนผู้ให้เสียชีวิต) ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558 และให้มีผลบังคับใช้ในอีก 180 วันหรือในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559

พ.ร.บ.ภาษีรับมรดก ได้กำหนดให้ผู้รับมรดกซึ่งเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทย 4 ประเภทได้แก่ 1.อสังหาริมทรัพย์ , 2.หลักทรัพย์ , 3.เงินฝาก/ตราสารทางการเงิน และ 4. ยานพาหนะ หากมีมูลค่าสุทธิ (มูลค่าของทรัพย์สินที่ได้รับหักด้วยภาระหนี้สินอันตกทอดมาจากการรับมรดก ) เกินกว่า 100 ล้านบาท ต้องเสียภาษีนับจากวันที่รับมรดก 150 วัน

[caption id="attachment_27104" align="aligncenter" width="600"] ภาษีการรับมรดก ภาษีการรับมรดก[/caption]

มีผล 1 กุมภาพันธ์อัตรา 5%,10%

กฎหมายดังกล่าวจะยกเว้นภาษีมรดกให้สำหรับผู้รับที่เป็น "คู่สมรส" ส่วนกรณีที่ผู้รับเป็น "บุพการีหรือผู้สืบสันดาน" เสียภาษีในอัตรา 5% ของมูลค่าส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท และกรณีเป็น "บุคคลอื่น" เสียภาษีในอัตรา 10% ทั้งนี้หากผู้รับมรดกเป็นบุคคลธรรมดา/นิติบุคคลที่มีสัญญาติไทย ไม่ว่าทรัพย์สินที่ได้รับนั้นจะอยู่ในประเทศไทยหรืออยู่นอกประเทศไทยก็ต้องเสียภาษี แต่หากผู้รับเป็นบุคคลธรรมดา/นิติบุคคลที่ไม่ใช่สัญญาติไทย ให้ดูที่ทรัพย์สินเป็นหลัก หากอยู่ในประเทศไทยต้องเสียภาษีมรดก แต่หากไม่ใช่ ไม่ต้องเสีย

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กฎหมายภาษีมรดกจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 หลังจากที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2558 ทั้งนี้กรมสรรพากรได้จัดทำกฎหมายลูก และได้เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแล้ว ขั้นตอนจากนี้จะเข้าสู่การตรวจร่างโดยกฤษฎีกา ก่อนประกาศใช้ต่อไป

โดยที่ประชุมครม.เมื่อ12 มกราคม 2559 ได้รับทราบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เรื่องการออกกฎหมายรอง ที่ออกตามความในพ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร ( ฉบับที่ 40 ) พ.ศ. 2558 ประกอบด้วย หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการแจ้งการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก และอนุมัติกฎหมายลูก 7 ฉบับคือ ร่างพระราชกฤษฎีกา ฯ จำนวน 1 ฉบับ และร่างกฎหมายกระทรวงอีก 6 ฉบับ กล่าวคือ

 ครม.ไฟเขียวกฎหมายลูก 7 ฉบับ

1.การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการแจ้งการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก เมื่อเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับการโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก ให้แจ้งการจดทะเบียนนั้นต่อกรมสรรพากร
สำหรับการจดทะเบียนระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 15 ให้แจ้งภายในวันที่ 20 ของเดือนเดียวกัน และหากจดทะเบียนระหว่างวันที่ 16 ถึงวันสิ้นเดือน ให้แจ้งภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดไป

ส่วนวิธีการนำส่ง หากจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินในเขตกรุงเทพมหานคร ให้นำส่งต่อกรมสรรพากร สำนักงานใหญ่ และกรณีมีการจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินในต่างจังหวัด ให้นำส่งต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่แต่ละจังหวัด

 บุคคลที่ได้รับยกเว้นภาษีมรดก

2. ร่างกฎกระทรวง ว่าด้วยการกำหนดประเภทบุคคล หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการตรวจสอบติดตามบุคคลที่ได้รับ "ยกเว้นภาษีการรับมรดก" ได้แก่ บุคคลผู้ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่า มีความประสงค์ให้ใช้มรดกนั้นเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา,การศึกษาหรือสาธารณประโยชน์ ,ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ แต่ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัท องค์การมหาชน,วัดวาอาราม, สภากาชาดไทย มูลนิธิหรือสมาคมตามประกาศกระทรวงการคลังฯ, สถาบันอุดมศึกษาเอกชนและโรงเรียนเอกชน แต่ไม่รวมถึงโรงเรียนนอกระบบตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน, บุคคลหรือองค์การระหว่างประเทศตามข้อผูกพันตามกฎหมายระหว่างประเทศ อาทิองค์การสหประชาชาติ, สถานทูต-กงสุล บุคคลในคณะทูต/คณะกงสุล

 สินทรัพย์-การคำนวณมูลค่ามรดก

3. ร่างกฎกระทรวง ว่าด้วยการกำหนดทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศไทยได้แก่ 1.อสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย, 2.หลักทรัพย์ที่ออกโดยนิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทยหรือจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย, 3.เงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกันที่เจ้ามรดกมีสิทธิเรียกถอนคืนหรือสิทธิเรียกร้องจากสถาบันการเงินหรือบุคคลที่ได้รับเงินนั้นไว้ ซึ่งอยู่ในประเทศไทย และ 4.ยานพาหนะที่จดทะเบียนในไทย

4. ร่างกฎกระทรวง ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์การหักภาระที่ถูกรอนสิทธิในการคำนวณมูลค่ามรดกที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ กล่าวคือ 4.1)กรณีที่เจ้ามรดกมิได้รับค่าตอบแทนใดๆ จากภาระที่ถูกรอนสิทธิ ให้คำนวณมูลค่าภาระที่ถูกรอนสิทธิจากมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับมรดก คูณด้วยอัตราส่วนลดตามจำนวนปีที่ผู้ได้รับมรดกจะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์นั้นนับตั้งแต่วันที่ได้รับมรดก

4.2 กรณีที่เจ้ามรดกได้รับค่าตอบแทนใดๆ จากภาระที่ถูกรอนสิทธิ ให้คำนวณมูลค่าภาระที่ถูกรอนสิทธิโดยนำค่าตอบแทนที่พึงคำนวณได้คูณด้วยอัตราส่วนลดตามที่กำหนด ทั้งนี้ค่าตอบแทนที่พึงคำนวณได้ หมายถึงค่าตอบแทนเฉลี่ยเป็นรายปีตามกำหนดเวลาที่ถูกรอนสิทธิ คูณระยะเวลาที่ผู้ได้รับมรดกจะไม่ได้ใช้ประโยชน์ จากอสังหาริมทรัพย์นั้น นับตั้งแต่วันที่ได้รับมรดก

ทั้งนี้ อัตราส่วนลดตามจำนวนปีที่ผู้ได้รับมรดกจะไม่ได้ใช้ประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์คำนวณจากมูลค่าปัจจุบันสุทธิ ( Net Present Value: NPV) ของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกรอนสิทธินั้น

 ตั๋วเงิน-บอนด์ใช้ราคาขาย-ไถ่ถอนครั้งแรก

5. ร่างกฎกระทรวง ว่าด้วยการคำนวณมูลค่าของทรัพย์สิน รายละเอียดดังนี้ 5.1. การคำนวณมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ให้ใช้ราคาตลาดในวันที่ได้รับมรดก 5.2. การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่เป็นหลักทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ถือตามราคาหรือมูลค่าอันพึงมีในวันที่ได้รับมรดก เว้นแต่ 5.2.1 หุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ถือมูลค่าหุ้นเท่ากับมูลค่าทางบัญชี ในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ์ในหุ้น

5.2.2 ตั๋วเงินคลัง พันธบัตร ตั๋วเงิน หุ้นกู้ ให้ใช้ราคาที่จำหน่ายในครั้งแรกหรือราคาไถ่ถอน แล้วแต่ราคาใดจะต่ำกว่า

5.3.ทรัพย์สินที่เป็นยานพาหนะที่มีหลักฐานทางทะเบียนให้ถือเอาราคาตลาดในวันที่ได้รับมรดก ,5.4 การคำนวณมูลค่าของเงินฝากหรือเงินอื่นใดที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน ให้ถือเอาตามมูลค่าในวันที่ได้รับมรดกนั้น

 ผ่อนเกิน 2 ปีเสียเพิ่ม 0.5% ต่อเดือน/ห้ามผิดนัด

6. ร่างพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการผ่อนชำระภาษีการรับมรดก 6.1 ผู้มีหน้าที่เสียภาษีที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีภายในกำหนดเวลา สามารถยื่นคำร้อง ขอผ่อนชำระภาษีภายในเวลาไม่เกิน 5 ปี 6.2 ผู้ขอผ่อนชำระยื่นคำร้องขอผ่อนชำระภาษีตามแบบที่อธิบดีกำหนด พร้อมกำหนดวิธีการ ผ่อนชำระภาษี โดยการกำหนดจำนวนปี จำนวนงวด และจำนวนเงินที่จะต้องชำระในแต่ละงวด 6.3 ผู้ขอผ่อนชำระต้องจัดหาหลักประกันที่มีมูลค่าไม่ต่ำกว่าภาษีที่ต้องชำระ ภายใน 30 วันนับแต่วันยื่นคำร้อง

6.4 กรณีผ่อนชำระภาษีภายใน 2 ปี ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม กรณีผ่อนชำระภาษีเกินกว่า 2 ปีต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 0.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน โดยคำนวณเงินเพิ่มตั้งแต่วันที่การขอผ่อนชำระมีผลบังคับ หากผู้ผ่อนชำระภาษีนำเงินมาชำระภาษีครบถ้วนภายใน 2 ปี ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียเงินเพิ่มและให้นำเงินเพิ่มที่ชำระแล้วมาหักออกจากภาษีที่ต้องชำระ 6.5 กรณีผิดนัดไม่ชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่ง จะหมดสิทธิการผ่อนชำระภาษีและต้องชำระภาษี ที่ค้างอยู่พร้อมกับเงินเพิ่ม

7. ร่างกฎกระทรวง ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร โดยบุคคลผู้ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่า มีความประสงค์ให้ใช้มรดกนั้นเพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์ และ 8. ร่างกฎกระทรวงวามในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

ยกเลิกการยกเว้นเงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของตนโดยไม่มีค่าตอบแทน บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมตาม (18) ของข้อ 2 แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,123 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2559