เศรษฐกิจเยอรมนีปี 58 โต 1.7% ปัจจัยหนุนจากการบริโภคแกร่ง

19 ม.ค. 2559 | 06:30 น.
เศรษฐกิจเยอรมนีเติบโตได้อย่างน่าพอใจในปีที่ผ่านมา โดยการจ้างงานที่แข็งแกร่งประกอบกับนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ท่ามกลางสภาวะที่การค้าโลกอ่อนแอ

สำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนี เปิดเผยตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2558 ด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัว 1.7% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2557 ที่เศรษฐกิจเติบโตได้ 1.6% โดยมีการบริโภคภายในประเทศซึ่งขยายตัว 1.9% เป็นปัจจัยสนับสนุนหลักของการเติบโต

เยอรมนี ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในยูโรโซน ได้รับอานิสงส์อย่างมากจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ด้วยอัตราการว่างงานที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันที่ต่ำกว่าปีก่อนกว่า 37% ส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศกลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโต ขณะที่ผู้ส่งออกปรับเปลี่ยนกลยุทธ์จากการส่งออกไปยังตลาดเกิดใหม่ที่เศรษฐกิจชะลอตัวมาเป็นตลาดประเทศพัฒนาแล้วที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว

การบริโภคภายในประเทศที่ขยายตัว 1.9% ในปี 2558 นั้นเป็นการขยายตัวที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2543 และช่วยเพิ่มจีดีพี 1% ในปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายของภาครัฐเพิ่มขึ้นเป็น 2.8% จาก 1.7% ในปี 2557 สูงสุดนับตั้งแต่ช่วงเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2552 และช่วยเพิ่มจีดีพีได้ 0.5% ส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้น 5.4% และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 5.7% โดยการค้าช่วยเพิ่มจีดีพี 0.2%

ยอร์ก ซอยเนอร์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากธนาคารเพื่อการพัฒนา เคเอฟดับเบิลยู กล่าวว่า เยอรมนีเติบโตได้เหนือกว่าศักยภาพเล็กน้อยในปี 2558 เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน อย่างไรก็ดี แม้แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2559 จะค่อนข้างสดใส โดยมีการบริโภคเป็นปัจจัยสนับสนุนหลัก แต่ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาเศรษฐกิจภายนอกประเทศ โดยเฉพาะในจีน

สมาพันธ์การค้าส่ง การค้าต่างประเทศ และการบริการแห่งเยอรมนี หรือบีจีเอ กล่าวเตือนเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ถ้าเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว หรือ hard landing อาจส่งผลให้เศรษฐกิจเยอรมนีเข้าสู่ภาวะถดถอย อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางเยอรมนี (บุนเดสแบงก์) ยังคงเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตได้เข้มแข็งต่อเนื่องที่ 1.8% ในปี 2559 และ 1.7% ในปี 2560

แอนเดรียส รีส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากยูนิเครดิต แบงก์ ในเยอรมนี กล่าวว่า ความกังวลต่อปัญหาเศรษฐกิจจีนมีมากจนเกินไป "มันจะกระทบการส่งออกแต่ไม่เป็นอุปสรรคต่อแนวโน้มการฟื้นตัว และความต้องการที่สูงขึ้นจากตลาดอื่นๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยูโรโซน จะช่วยทดแทนส่วนที่ลดลงจากตลาดจีนได้" รีสให้ความเห็น

ขณะเดียวกัน งบประมาณในปีที่ผ่านมาเกินดุลสูงสุดในรอบ 15 ปีด้วยสัดส่วน 0.5% ของจีดีพี ช่วยให้เยอรมนีอยู่ในสถานะที่แข็งแกร่งในการรับมือกับค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือดูแลผู้อพยพที่หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศ สำนักงานสถิติแห่งชาติกล่าวว่า การใช้จ่ายสำหรับช่วยเหลือผู้อพยพได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเช่นเดียวกัน โดยในปีที่ผ่านมามีผู้ยื่นคำร้องขอลี้ภัยในเยอรมนีประมาณ 1.1 ล้านคน และรัฐบาลวางแผนงบประมาณไว้ว่าจะมีผู้ลี้ภัยเข้าสู่ประเทศอีก 8 แสนคนในปีนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,123 วันที่ 17 - 20 มกราคม พ.ศ. 2559