เปิดเอกสารลับถึง คสช. ใช้มาตรา 44 อุ้ม 2 ค่ายมือถือ หลัง ‘เอไอเอส-ทรู’ ผนึกกำลัง ยื่นหนังสือขอยืดชำระค่างวดคลื่น 900 งวดสุดท้าย รวม 1.3 แสนล้าน ยกเหตุผล 6 ข้อ เว้นเรียกเก็บดอกเบี้ยจากการผ่อนชำระเงิน ลุ้น คสช. ชี้ชะตา 27 มี.ค. นี้
แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ยังไม่ประกาศใช้มาตรา 44 เพื่อยืดชำระค่างวดประมูลคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ให้กับ 2 ค่ายมือถือ คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN บริษัทลูก ‘เอไอเอส’ และบริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ TUC ในเครือ ‘ทรู’
ล่าสุด นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ระบุว่า มาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล และผู้ประกอบการมือถือที่ชนะประมูลคลื่น 900 ขอยืดชำระค่างวดที่ 4 ออกไปนั้น ในวันอังคารที่ 27 มี.ค. นี้ ที่ประชุม คสช. และคณะรัฐมนตรี จะประชุมร่วมกัน
ผนึกกำลังส่งเรื่อง คสช.
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากเอไอเอสและทรูได้ส่งหนังสือถึงหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ 21 ก.ย. 2560 อ้างถึงกรณีทั้ง 2 บริษัท ชนะประมูลและได้รับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ จาก กสทช. แต่การประมูลคลื่นมีเหตุบางประการที่ทำให้เกิดการบิดเบือนราคาที่แท้จริง ไม่ได้รับความเป็นธรรม จากนั้นในวันที่ 23 พ.ย. 2560 พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ คสช. ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. เรื่องการพิจารณาผ่อนผันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz
สำนักเลขาธิการ คสช. มีความเห็นว่า คำขอของเอกชนทั้ง 2 ราย ที่ให้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาด้านการบริหารจัดการเงินลงทุน โดยผ่อนผันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ในงวดที่ 4 ให้กับบริษัททั้ง 2 ราย เนื่องจากเงินในงวดดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการแข่งขันในการประมูลคลื่นความถี่เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2558
กระทบรายได้รัฐ
นอกจากนี้ ยังมีความเห็นในข้อ 3.2 ว่า เนื่องจากการผ่อนผันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐ ประโยชน์สาธารณะ และการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการที่ต้องพิจารณาทั้งผลประโยชน์ตอบแทนต่อความเสี่ยงทางธุรกิจและการให้บริการสาธารณะ หาก คสช. ดำเนินการตามข้อเรียกร้องของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อาจไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการรายอื่น เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปด้วยความรอบคอบ ยุติธรรม โดยยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก จึงควรให้ดำเนินการตรวจสอบและพิจารณากลั่นกรองข้อเท็จจริงและประเด็นข้อกฎหมายและปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ รวมทั้งข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ตามแนวทางที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติไว้
หนังสือฉบับดังกล่าว ได้ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ มอบหมายให้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบในการกำกับดูแลและดำเนินการ เพื่อหาข้อยุติ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาความเหมาะสมและเหตุผลความจำเป็น โดยหากจำเป็นต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 จึงให้เสนอเรื่องตามขั้นตอนต่อไป พร้อมให้เสนอเรื่องให้ กสทช. พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไปด้วย
ชง 6 ข้อ ขอยืดค่างวด
แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับข้อเสนอของ 2 บริษัท ที่ยื่นต่อ คสช. 6 ข้อ โดยอ้างว่า การประมูลในครั้งนั้นมีการแข่งขันราคาค่อนข้างมาก บริษัทยังคงมีภาระประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่ประมูลไปก่อนหน้านี้ การที่ แจส โมบาย เคาะราคาสูง แต่ไม่สามารถนำเงินมาชำระได้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ราคาประมูลไม่ได้สะท้อนมูลค่าคลื่นความถี่ที่แท้จริง เกิดต้นทุนและมีผลกระทบต่อเนื่องถึงอัตราค่าบริการที่ต้องเรียกเก็บจากประชาชน
นอกจากผู้ชนะประมูลต้องชำระค่าคลื่นแล้ว ต้องมีการลงทุนในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม เพื่อพัฒนาสังคมไปสู่สังคมเศรษฐกิจดิจิตอล ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล การผ่อนผันชำระเงินประมูลคลื่นดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อจำนวนเงินเข้าสู่รัฐในระยะยาว แต่ถ้าไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเช่นเดียวกับกิจการทีวีดิจิตอล จะทำให้บริการโทรคมนาคมในประเทศหยุดชะงักหรือด้อยประสิทธิภาพลง
ยกเว้นเก็บดอกเบี้ย
หนังสือที่เอกชนทั้ง 2 ราย เสนอ คสช. ยังขอผ่อนผันชำระเงินประมูลคลื่นงวดที่ 4 ออกเป็น 7 งวด จำนวน 1.3 แสนล้าน โดยงวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 8,040 ล้านบาท และงวดสุดท้าย ชำระเงินส่วนที่เหลือทั้งหมด ทั้งขอให้ยกเว้นการเรียกเก็บดอกเบี้ยจากการผ่อนผันการชำระเงินส่วนที่เหลือทั้งหมด เพื่อความเป็นธรรมและลดผลกระทบที่มีต่อการพัฒนากิจการโทรคมนาคม และยังเป็นการเอื้ออำนวยให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
AIS อ้างคำขอมีเหตุผล
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเอไอเอส เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ไม่อยากให้รายละเอียดในตอนนี้ เนื่องจากเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ขอให้รอฟังคำตอบ ส่วนการยื่นชำระค่างวดนั้น ได้ขอผ่อนผันออกเป็น 7 งวด ส่วนการขอยกเว้นดอกเบี้ยนั้น เอไอเอสมีเหตุผล ซึ่งได้ยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลไปแล้ว
[caption id="attachment_271593" align="aligncenter" width="335"]
ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา
รักษาการกรรมการ กสทช.[/caption]
ด้าน นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา รักษาการกรรมการ กสทช. กล่าวว่า กสทช. ไม่มีอำนาจแก้ไขสัญญา เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ เนื่องจากรัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลเฉพาะกาลที่สามารถใช้ ม.44 ในการแก้ไขสัญญาได้
กสทช. เสนอจ่าย 3-5 งวด
แหล่งข่าวจาก กสทช. เปิดเผยว่า กสทช. ได้นำเรื่องที่ คสช. ส่งมาให้ เข้าพิจารณาในที่ประชุมบอร์ด กสทช.ชุดใหญ่ เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2560 และมีมติว่า กสทช. ไม่มีอำนาจในการพิจารณาผ่อนผันการชำระเงินประมูลให้กับทั้ง 2 บริษัท เพราะไม่มีข้อกำหนดใดให้อำนาจแก่ กสทช. ในการพิจารณาผ่อนผันชำระเงินประมูลให้แก่ผู้รับใบอนุญาต
หากหัวหน้า คสช. จะใช้มาตรา 44 ในการแก้ไขปัญหา ควรให้ผู้รับใบอนุญาตมีทางเลือกในการชำระเงินประมูลว่า จะเลือกชำระตามข้อกำหนดเงื่อนไขเดิม หรือจะเลือกแบ่งชำระเงินประมูลตามงวดที่กำหนดขึ้นใหม่ โดยจะต้องแสดงความประสงค์มายังสำนักงาน กสทช. ภายใน 30 วัน
กสทช. ยังเสนอให้มีการปรับ แบ่งไม่เกิน 3-5 งวด งวดละเท่า ๆ กัน เพื่อไม่ให้ระยะเวลาในการชำระเงินนานเกินสมควร และอาจส่งผลให้มีการผลักดันภาระไปยังผู้บริโภคได้ รวมทั้งให้มีการชำระดอกเบี้ยในอัตราเท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินประกาศ
[caption id="attachment_271594" align="aligncenter" width="503"]
วิษณุ เครืองาม
รองนายกรัฐมนตรี[/caption]
ขณะที่ นายวิษณุปฏิเสธที่จะตอบคำถาม ระบุ ไม่ทราบ เพราะยังไม่มี ม.44
……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,351 วันที่ 25-28 มี.ค. 2561 หน้า 02
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
●
ต้าน คสช. อุ้ม 'AIS-ทรู'! นักวิชาการแฉ ม.44 ยืดค่างวดให้นายทุน รัฐสูญ 3 หมื่นล้าน
●
อุ้มมือถือได้คืบจะเอาศอก