‘TOP’ตุนเงินสด รอขยายโรงกลั่น

27 มี.ค. 2561 | 04:32 น.
ไทยออยล์เตรียมพร้อมการลงทุน 1 แสนล้านบาท ขยายกำลังการผลิตจาก 2.75 แสนบาร์เรลต่อวันเป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี โบรกเกอร์มองราคาหุ้นเหมาะสม 108 บาท

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP มองแนวโน้มของอุตสาหกรรมในครึ่งปีแรกของปีนี้ ว่าราคานํ้ามันดิบแม้จะมีโอกาสย่อตัวลงบ้าง แต่ระดับราคายังอยู่ในระดับสูง โดยมองว่าราคานํ้ามันเฉลี่ยทั้งปีนี้น่าจะอยู่ในระดับ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ในธุรกิจการกลั่นนํ้ามันค่าการกลั่นยังอยู่ในระดับ 6-7 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล ความต้องการใช้นํ้ามันมีการเติบโตขณะที่กำลังการผลิตมีอยู่อย่างจำกัด ในช่วงปี 2558-2562 กำลังการผลิตของทั่วโลกยังอยู่ในระดับตํ่ากว่าความต้องการใช้นํ้ามันทำให้ค่าการกลั่นยังอยู่ในระดับที่สูง

นายชัชชัย สิริวิชช์ ผู้จัดการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ไทยออยล์ฯกล่าวว่า ปัจจุบันไทยออยล์ใช้กำลังการผลิตของโรงกลั่นนํ้ามัน 112% ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาใช้กำลังการผลิตอยู่ในระดับเกิน 100% มาโดยตลอด บริษัทได้ศึกษาการขยายกำลังการผลิตมาหลายปีแล้ว คาดว่าในไตรมาส 3 ปีนี้ จะได้ข้อสรุปว่าจะตัดสินใจอย่างไร

ปัจจุบันบริษัทไทยออยล์ฯมีกระแสเงินสดอยู่ประมาณ 70,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมพร้อมไว้สำหรับการขยายการลงทุน แผนที่บริษัทมองไว้คือการขยายกำลังการผลิตจาก 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน รวมถึงการเพิ่มหน่วยการผลิตใหม่ๆ เช่น นํ้ามันอากาศยาน และนํ้ามันดีเซล โดยมีแผนจะยกเลิกการผลิตนํ้ามันเตา เนื่องจากราคาอยู่ในระดับตํ่า

แบนเนอร์รายการฐานยานยนต์ นายชัชชัยกล่าวว่า โครงการลงทุนดังกล่าว จะต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 90,000-100,000 ล้านบาท และใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 4 ปี ซึ่งแม้จะมีการลงทุนขนาดใหญ่ ทางบริษัทก็จะพิจารณาถึงความสมดุลระหว่างการบริหารจัดการ และผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นให้เหมาะสม โดยจะรักษาระดับการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นที่ดีต่อเนื่อง โดยบริษัทมีการจ่ายเงินปันผล45% ของกำไรสุทธิ คิดเป็นอัตราผลตอบแทนเงินปันผลประมาณ 5-6%

ปัจจุบันรายได้จากธุรกิจโรงกลั่นนํ้ามันของไทยออยล์มีสัดส่วนประมาณ 50% โดยมีรายได้จากปิโตรเคมีอย่างอะโรเมติก 25% นํ้ามันเครื่อง 13% โรงไฟฟ้า 11%

ไทยออยล์เป็นโรงกลั่นนํ้ามันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยมีกำลังการผลิต 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน ถือเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตในไทย 86%ของนํ้ามันที่ผลิตได้จะขายในประเทศให้กับ ปตท. เชลล์ เชฟรอน บางจาก โดยมีสัดส่วนการส่งออก 14%

บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเอสแอลฯ ประมาณการกําไรสุทธิปี 2561 ไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท มองว่าระยะสั้น ผลประกอบการมีแรงกดดันจากค่าการกลั่นที่ลดลง ทั้งจาก Crude Premium ที่เพิ่มขึ้น และค่าการกลั่นพื้นฐานที่ลดลง ด้านการลงทุนโครงการขยายกำลังการผลิตยังคงเดินหน้าตามแผน ประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของ TOP ที่ 108 บาท ขณะที่ บล.เมย์แบงก์กิมเอ็งฯ ให้ราคาหุ้นที่เหมาะสม 103 บาท บล.บัวหลวงฯ แนะนำซื้อ TOP ราคาเป้าหมายพื้นฐาน 118 บาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,351 วันที่ 25 - 28 มีนาคม พ.ศ. 2561
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว