7 เหตุผล ทำไมต้องมองเวียดนามมุมใหม่ จาก ‘คู่แข่ง’ สู่ ‘พันธมิตร’ ทางเศรษฐกิจ

24 ม.ค. 2559 | 06:00 น.
เวียดนาม ประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่ทั่วโลกกำลังจับตามอง เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างเข้มแข็งและพลวัตที่เป็นไปทางบวกโดยต่อเนื่องทำให้เวียดนามเนื้อหอมในหมู่นักลงทุนต่างชาติ จนหลายครั้ง ไทยรู้สึกเกร็ง ๆ กับแนวโน้มที่เวียดนามกลายเป็นขึ้นแท่นลูกรักของต่างชาติในการเป็นฐานการผลิตและฐานการลงทุนในภูมิภาคนี้ แม้การแข่งขันกับไทยในบางสาขาธุรกิจอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่แค่เปลี่ยนมุมคิด ก็อาจพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้

ธุรกิจไทยต้องเปลี่ยนมุม มองเวียดนามใหม่ จาก "คู่แข่ง" เป็น "พันธมิตร" ทางธุรกิจในระยะยาว ในเมื่อประเทศไทยตั้งใจแล้วที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นและยกระดับประเทศไปให้สูงขึ้นในห่วงโซ่การผลิต อีกทั้งในวันนี้ ไทยและเวียดนามกับอีก 8 ประเทศอาเซียน ได้รวมตัวกันกลายเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC แล้ว

ต่อไปนี้คือ 7 ข้อ ที่เป็นความพร้อมและจุดแข็งของเวียดนามที่สามารถช่วยเสริมทัพจับมือกันกับธุรกิจไทยให้ก้าวไปข้างหน้า

1. แรงงานพร้อม ครึ่งหนึ่งของประชากรเวียดนาม 90 ล้านคน อายุต่ำกว่า 30 ปี เป็นช่วงอายุที่อยู่ในวัยแรงงาน มีความสำคัญในการพัฒนาประเทศ แรงงานเวียดนามนอกจากจะสู้งานแล้ว ยังค่าแรงถูกเมื่อเทียบประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน ขณะเดียวกัน Boston Consulting Group ยังจัดว่า เวียดนามเป็นประเทศที่มีชนชั้นกลางที่เติบโตมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก

2. ทรัพยากรธรรมชาติพร้อม เวียดนามมีพร้อมทั้งแร่ธาตุ น้ำมันและก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่ง และยังเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญของโลก

3. ตลาดเข้าถึงง่าย องค์การการค้าโลก (WTO) ประเมินว่า เอกชนเข้าสู่ตลาดเวียดนามได้ง่ายพอ ๆ กับสิงคโปร์ มีข้อจำกัดในการเข้าสู่ตลาดต่ำ (low limitation of market access) ขณะที่ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และลาว ยังมีข้อจำกัดในระดับปานกลาง

4. กฎหมายลงทุนฉบับใหม่เอื้อต่างชาติมากขึ้น กฎหมายส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ของเวียดนามที่ออกมาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของ WTO เปิดโอกาสให้นักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนและทำธุรกิจในเวียดนามได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม มีอิสระในการประกอบกิจกรรมทางธุรกิจมากกว่ากฎหมายเดิม กฎระเบียบเหล่านี้ช่วยเอกชนต่างชาติลดความเสี่ยงของการไปลงทุนในเวียดนาม

5. รัฐเปิดโอกาสให้ต่างชาติจัดทำความตกลงจัดซื้อกับภาครัฐ (Government Procurement Agreement) ผ่านการเปิดประมูลเมกะโปรเจ็กต์ที่มีมูลค่าสูง ภาคเอกชนสามารถเข้าถึงการจัดซื้อของภาครัฐทั้งในระดับกระทรวง รัฐวิสาหกิจ ภูมิภาค ไปจนถึงจังหวัด

6. รัฐเร่งเครื่องเจรจาความตกลงทางการค้าเสรีกับต่างประเทศ ล่าสุด เมื่อเดือนสิงหาคม 2558 เวียดนามได้บรรลุ EU-Vietnam Free Trade Agreement (EVFTA) กับกลุ่มประเทศสมาชิกอียู ความตกลงดังกล่าวครอบคลุมการเปิดเสรีทั้งด้านการค้าสินค้า ด้านการบริการ รวมถึงการลงทุน คาดการณ์ว่า การได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าอียูที่เกือบจะเป็นศูนย์จะส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าของเวียดนามไปกลุ่มประเทศอียูเติบโตอย่างก้าวกระโดด

7. เวียดนามตกลงเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจทางการค้าภาคพื้นแปซิฟิก หรือ TPP ต่างชาติและเวียดนามเองต่างฟันธงว่า เวียดนามจะเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเข้าร่วม TPP ธนาคารโลกทำนายว่า TPP จะช่วยให้ GDP ของเวียดนามเพิ่มขึ้น 8-10% และการส่งออกขยายตัวสูงถึง 28 % โดยคาดว่าภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะได้รับประโยชน์มากที่สุด เพราะเวียดนามส่งออกสิ่งทอไปยังประเทศสมาชิก TPP คิดเป็น 70% ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด

ในปี 2559 นักวิเคราะห์เศรษฐกิจทั้งชาวเวียดนามและชาวต่างชาติเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจเวียดนามจะเติบโตไปในทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง บรรลุเป้าหมายที่รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าว่าจะโตได้ถึง 6% เงินลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) จะยังคงหลั่งไหลเข้าเวียดนาม ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเวียดนามดูมีอนาคตสดใส ขณะที่ธนาคารแห่งชาติเวียดนามมีความตั้งใจที่จะรักษาเสถียรภาพทางการเงิน และเฝ้าระวังอัตราเงินเฟ้อและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และรัฐบาลก็ได้เร่งแก้กฎหมายต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ให้สอดคล้องกับข้อกำหนด TPP ที่ต้องเอื้อประโยชน์ต่อภาคลงทุนและภาคอุตสาหกรรม

ไทยในฐานะที่ติด 1 ใน 10 ประเทศที่ลงทุนเป็นลำดับต้นในเวียดนามในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ลงทุนทั้งในอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร อสังหาริมทรัพย์ เทคโนโลยี ควรรุกจับมือเป็น "พันธมิตร" กับเวียดนาม เพื่อบุกตลาดเวียดนาม ตลาดอาเซียนและตลาดโลกอย่างต่อเนื่องในปี 2559

พบกับอัพเดตความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.ThaiBiz.net หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,124 วันที่ 21 - 23 มกราคม พ.ศ. 2559