กว่า 20 ปีของ
“โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่” หรือ
“สัปปายะสภาสถาน” มูลค่ากว่า 12,280 ล้านบาท ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา บนที่ดินราชพัสดุ ย่านเกียกกาย ขนาดเนื้อที่กว่า 123 ไร่ ยังไม่แล้วเสร็จ นอกจากจะเป็นโครงการที่ใช้เวลาก่อสร้างยาวนานมากที่สุดแล้ว ยังเป็นโครงการที่อื้อฉาวมากที่สุดโครงการหนึ่ง
ปัญหาเริ่มขึ้นนับตั้งแต่การหาสถานที่ตอกเสาเข็มเพื่อก่อสร้างโครงการที่ใช้เวลาถึง 15 ปี จึงได้ข้อสรุป โดยปี 2536 รัฐบาลนายชวน หลีกภัย จุดประกายแนวคิดจะใช้ที่ ราชตฤณมัยสมาคม หรือ สนามม้านางเลิ้ง เป็นสถานที่ก่อสร้าง ต่อมาในรัฐบาลชวน 2 (ปี 2542) กลับลำเปลี่ยนให้ย้ายมาใช้ที่ดินของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) หรือ บริเวณสถานีกลางบางซื่อ ในปัจจุบัน หลังจากนั้นอีก 1 ปีก็เสนอให้มาใช้
“ที่ดินราชพัสดุย่านแยกเกียกกาย” ซึ่งเป็นสถานที่ใช้ก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ในปัจจุบันแทน
อย่างไรก็ดี สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร (ปี 2545-2546) เกิดความคิดจะย้ายเมืองหลวงไปจังหวัดนครนายก จึงเสนอให้ย้ายทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภาแห่งใหม่ไปด้วย แต่แนวคิดย้ายเมืองหลวงถูกคัดค้านอย่างหนักจึงต้องมองหาสถานที่ก่อสร้างกันใหม่ โดยมอบหมายให้นายกร ทัพพะรังสี รองนายกฯ ขณะนั้นพิจารณาคัดเลือกหาสถานที่ก่อสร้างรัฐสภาดังกล่าว เบื้องต้นจะใช้พื้นที่ สนามบินดอนเมือง ที่จะว่างลงเป็นที่ตั้งสถานที่ราชการต่างๆ รวมถึงรัฐสภาแห่งใหม่ด้วย ตามนโยบายสนามบินเดียวของรัฐบาลที่ให้ไปใช้สนามบินสุวรรณภูมิเพียงแห่งเดียว
ข้อสรุปเรื่องนี้เกิดขึ้นในปี 2551 สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เป็นประธานการประชุมเพื่อคัดเลือกสถานที่ก่อสร้างรัฐสภาใหม่ด้วยตัวเอง โดยมีมติให้มาใช้ที่ดินราชพัสดุย่านเกียกกาย ซึ่งติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นสถานที่ก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ตามเดิม
“ซิโน-ไทย” ขอยืดเวลา 3 ครั้ง
โครงการนี้จึงถูกพับเก็บใส่ลิ้นชักไว้ชั่วคราว เนื่องจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายปี กระทั่งในเดือนมีนาคม 2556 สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้เปิดประมูลคัดเลือกเอกชนเพื่อก่อสร้างอาคารและอาคารประกอบของรัฐสภาแห่งใหม่โดย บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เสนอราคาต่ำสุดได้สัญญาก่อสร้างมูลค่า 12,280 ล้านบาทไป มีระยะดำเนินการ 900 วัน หรือตั้งแต่ 8 มิถุนายน 2556 - 24 พฤศจิกายน 2558
ระหว่างดำเนินโครงการเกิดปัญหาต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เริ่มจากปัญหาการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างบริเวณโรงเรียนโยธินบูรณะ ชุมชนองค์การทอผ้า และบ้านพักทหาร ที่ส่งมอบได้เพียง 80% นำมาสู่การขอขยายเวลาก่อสร้างให้กับบริษัท ซิโน-ไทยฯ โดยสำนักเลขาธิการสภาฯเห็นชอบให้ขยายเวลาครั้งแรกจำนวน 387 วัน จากสิ้นสุดวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 เป็น 15 ธันวาคม 2559 เมื่อดำเนินการก่อสร้างมาได้ระยะหนึ่งประสบปัญหาการะบายดินที่ขุดขึ้นมาเพื่อสร้างชั้นใต้ดินของอาคารรัฐสภาราว5 แสนลูกบาศก์เมตร จึงขอขยายเวลาครั้งที่ 2 อีกจำนวน 421 วัน เป็นสิ้นสุดในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561
อย่างไรก็ดี ในเดือนมิถุนายน 2560 อ้างถึงปัญหาการส่งมอบพื้นที่ในส่วนของโรงเรียนโยธินบูรณะจึงขอขยายเวลาครั้งที่ 3 อีกจำนวน 926 วัน แต่สำนักเลขาธิการสภาฯ เห็นชอบให้ขยายเวลาอีก 689 วัน หรือให้ไปสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2562
สรุป 3 ครั้ง บริษัท ซิโน-ไทยฯ ขอขยายรวม 1,497 วัน หรือกว่า 4 ปี จากกำหนดเดิมต้องแล้วเสร็จภายใน 900 วัน หรือประมาณ 2 ปี 4 เดือน ทั้งนี้ ในสัญญาเดิมนั้นระบุว่า หากการก่อสร้างไม่เป็นไปตามที่กำหนด ผู้รับเหมาต้องเสียค่าปรับวันละประมาณ 12 ล้านบาท
น่าสนใจว่า กรณีนี้หน่วยงานเจ้าของโครงการได้เห็นชอบขยายเวลาให้ 3 ครั้ง เกือบ 1,500 วัน คิดเป็นค่าปรับเกือบ 18,000 ล้านบาทนี้ จึงเกิดคำถามตามมาว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนหรือไม่ ในขณะที่มีรายงานว่า บริษัทซิโน-ไทยฯ จ่อฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสำนักงานเลขาธิการสภาฯ จำนวน 1.6 ล้านบาท
งบระบบไอทีบาน
ปมอื้อฉาวยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังเช่น การตั้งข้อสังเกตกรณีการว่าจ้างบริษัท เมอร์ลินส์ โซลูชั่นส์ อินเตอร์เนชั่นนัล จำกัด มาเป็นที่ปรึกษาวางระบบไอทีโดยวิธีพิเศษ ไม่ได้จัดจ้างวิธีการประกวดราคา อ้างว่า มีเวลาจำกัดในการหาผู้ว่าจ้าง ทั้งๆ ที่โครงการนี้เริ่มมาตั้ง 4 ปีแล้ว เหตุใดจึงไม่ประกวดราคาไปตั้งแต่โครงการก่อสร้างรัฐสภาเริ่มต้นขึ้น
นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวว่า มีความพยายามที่จะแก้ไขแบบก่อสร้างบริเวณโถงกลางรัฐสภาแห่งใหม่จากที่เคยกำหนดให้รับลมจากแม่น้ำเจ้าพระยา เป็น ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ แทน รวมถึงกรณีที่นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ และนายวัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับงบของระบบไอซีทีจากเดิมกำหนดไว้ที่ 3,000 ล้านบาท ปรับเป็น 6,900 ล้านบาท ล่าสุดขยับเป็น 8,640 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1,700 ล้านบาทแล้ว
เรื่องนี้ นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการรัฐสภา และนางสาวพรรษมนต์ ไทยวัฒนานุกูล รองเลขาธิการสภาฯ ชี้แจงถึงการของบประมาณเพิ่มเติมว่า เพื่อให้ดำเนินการก่อสร้างและใช้อาคารเป็นไปโดยสมบูรณ์แบบ ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ และความจำเป็นเร่งด่วน จากเดิมจะต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2562 แต่ที่ผ่านมาติดปัญหาการส่งมอบพื้นที่ทำให้เสียเวลาไปมาก และขณะนี้เหลือเวลาไม่ถึง 1 ปี จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการ หากไม่สามารถดำเนินการแล้วเสร็จได้ภายในเวลาที่กำหนดอาจเกิดความเสียหายมากขึ้น
“งบประมาณด้านไอทีซึ่งถือว่า จำเป็น เพราะถ้ามีเพียงโครงสร้างหลักแต่ไม่ได้นำระบบมาใส่ไว้ก็จะเกิดความเสียหายจึงควรดำเนินการควบคู่กันไปโดยได้หารือกับสำนักเลขาธิการนายกฯ ขอปรับลดงบประมาณบางส่วนที่ไม่จำเป็นลง ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเสนอเข้าที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณาโดยเร็ว”
ล่าสุดยังออกมาปฏิเสธกระแสข่าวที่ว่า จะมีการเปลี่ยนแปลงแบบการก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่จากพื้นที่จอดรถ 3,000 คัน เหลือเพียง 2,000 คัน โดยยืนยันว่า ต้องสร้างตามแบบที่กำหนดไว้ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่จอดรถใหม่ขัดกับเทศบัญญัติกรุงเทพมหานคร
ละเมิด ก.ม. หลายกรณี?
ในขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างรัฐสภาใหม่ว่า มีการละเมิดกฎหมายหลายกรณี ไม่ควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมาย อาทิ การก่อสร้างห้ามกระทำในวันเสาร์- อาทิตย์ ก่อสร้างไม่เกิน 16.00 น. และการก่อสร้างต้องมีการเอาผ้าคลุมเพื่อไม่ให้ฝุ่นกระจาย เป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อห้ามต่างๆ เหล่านี้ถูกละเมิดทั้งหมด ซึ่งจะมีการแจ้งความที่ สถานีตำรวจนครบาลเขตดุสิต ต่อไปด้วย
จับตาทุจริตสารพัดสัญญา
สำหรับปัญหารการก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ที่ยืดแล้วยืดอีกนั้น นายสิงห์ชัย ทุ่งทอง อดีตส.ว.อุทัยธานี ในฐานะที่เคยเป็นกรรมการตัดสินการประกวดแบบและกรรมการควบคุมการก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ แสดงความคิดเห็นว่า จะทำอย่างไรให้การก่อสร้างเสร็จตามเป้าหมาย วันนี้เวลายืดมาหลายปีแล้ว ที่น่าเป็นห่วงคือ สถาบันรัฐสภาและข้าราชการรวมถึงผู้รับเหมาที่ตกเป็นจำเลยสังคม การทุจริตเป็นเรื่องของบุคคลบางกลุ่ม รัฐมีหน้าที่ตรวจสอบและจับกุมผู้กระทำความผิด
ขณะที่ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตว่า ระบบไอทีที่มีปัญหาได้จ้าง บริษัท เมอร์ลินส์ โซลูชั่นส์ฯ ให้มาเป็นที่ปรึกษาวางระบบโดยวิธีพิเศษ โดยอ้างว่ามีเวลาจำกัดในการหาผู้ว่าจ้าง มีข้อพิรุธอย่างมาก โดยการจ้างบริษัทเมอร์ลินส์ทำให้ประธานที่พิจารณาเรื่อง ดังกล่าวต้องลาออก เนื่องจากมีการล็อบบี้ให้บริษัทดังกล่าว แถมขณะนั้นยังมีการโฆษณาด้วยว่าบริษัทเมอร์ลินส์ลดราคาให้ด้วย ต่อมาบริษัทได้เขียนโครงการและส่งให้คณะกรรมการพิจารณา สุดท้ายที่ประชุมอนุมัติไมโครโฟน ราคา 120,000 บาท ต่อตัว
"การสร้างรัฐสภาใหม่เละตั้งแต่เริ่มสร้าง รวมถึงงบประมาณ คิดจะเสนออะไรก็เสนอ สำนักงบประมาณส่งเอกสารมาให้ผม บอกให้ช่วย อัดหน่อย ถ้าผมได้เป็นกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตอีก จะสอบเรื่องนี้เรื่องแรก รับรองสนุกสนานแน่ โครงสร้างก่อสร้างมีความผิดปกติ ถ้าสอบสวนเจอแน่ แต่ผมยังไม่ร้องป.ป.ช.ชุดนี้ ให้เปลี่ยนรัฐบาลแล้วค่อยร้อง และจะตั้งกรรมการสอบ"
ขณะที่ นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคเดียวกัน ชี้ว่า ปัญหาโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ มีการขอขยายระยะเวลาก่อสร้างที่ดูพิสดารที่สุด ถึง 3 ครั้ง รวมประมาณ 1,400 วัน ซึ่งเป็นการขยายเวลาเกินกำหนดภายใน 900 วัน ตามเงื่อนไขสัญญา ดังนั้นจึงขอตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการเอื้อเอกชนหรือไม่ และขอถามว่าในเมื่อบริษัทซิโน-ไทย ทราบอยู่แล้วว่า ทางสภาจะส่งมอบพื้นที่ไม่พร้อมกันเหตุใดจึงยอมเป็นคู่สัญญา และจริงหรือไม่ที่มีการแก้ไขแบบก่อสร้างบริเวณโถงกลางรัฐสภาแห่งใหม่ จากที่เคยกำหนดให้รับลมจากแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นติดตั้งเครื่องปรับอากาศ
ส่วน นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ในฐานะที่โครงการดังกล่าวเกี่ยวข้องกับบริษัท ซิโน-ไทยฯ ซึ่งเป็นกิจการของบิดา (ชวรัตน์ ชาญวีรกูล) ขอชี้แจงว่าการตรวจสอบเป็นเรื่องดี แต่บางครั้งจะไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจากหน่วยงานราชการ จะถูกต้องเฉพาะเพียงตัวเลข ส่วนเรื่องอื่นที่นำมาพูดไม่มี ข้อเท็จจริงเลย ตนอยากจะบอกว่า บริษัทถือคติเอากล่องไม่เอาเงิน เอาศักดิ์ศรี เอาความภาคภูมิใจ จะได้เขียนลงในประวัติบริษัทว่าเคยก่อสร้างรัฐสภา และรับประกันว่าโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่มีความโปร่งใส
นายพีระ นาควิมล ผอ.โครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภา ฯ บริษัท ซิโน-ไทยฯ ระบุว่า จากผลกระทบต่อบริษัทในการขยายเวลาการก่อสร้างนั้นบริษัทฯ ไม่ได้อยากขยายเพราะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่วันละ 1 ล้านบาท รวม 1,400 วัน มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1,400 ล้านบาท การต่อสัญญาไม่เกิดผลดีทั้งต่อภาครัฐและเอกชน ส่วนจะฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือไม่ ต้องรอดูผลอีกครั้ง หากนับการขยายเวลาครั้งที่ 2 ซึ่งแจ้งยอดให้สำนักงานไปอยู่ที่ 1,673 ล้านบาท
......................
เซกชั่นการเมืองหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ / ฉบับ 3354 ระหว่าง วันที่ 3-5 เมษายน 2561