โลกเสมือนเป็นจริง! นักลงทุนแห่ตั้งเหมืองขุดเงินดิจิตอลเป็นดอกเห็ด ในไทยผุดแล้วกว่า 100 ราย ขณะที่ กลุ่มจีนหนีกฎระเบียบรัฐบาลบีบให้ผลิตไฟใช้เอง มาลงทุนสร้างเหมืองขุดบิตคอยน์-คริปโตฯ ในไทยกันสนั่น
นายกษมพัทธ์ วิธานวัฒนา ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีมายน์ โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด จำกัด ผู้ประกอบธุรกิจขุดเหรียญดิจิตอล ภายใต้โมเดลเช่าหน่วยประมวลผลกราฟิก หรือ การ์ดจอ (We Rent Your Graphic Cards : WRYGC) เพื่อขุดเหรียญสกุลดิจิตอล เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ธุรกิจเหมืองขุดเหรียญดิจิตอลยังมีการเติบโตและให้ผลตอบแทนการลงทุนดีกว่าการซื้อเหรียญมาเก็บไว้ เพื่อรอผลตอบแทนการลงทุน ขณะเดียวกันเป็นเรื่องของอุปสงค์อุปทาน โดยเมื่อมีผู้ต้องการขุดเหรียญดิจิตอลเป็นจำนวนมาก ก็มีผู้ออกเหรียญสกุลดิจิตอลออกมาเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกัน
100 ทุนจีน แห่ลงทุนไทย
จากการเติบโตของเหรียญดิจิตอล ทำให้มีผู้เข้ามาลงทุนทำเหมืองขุดเหรียญดิจิตอลเป็นจำนวนมาก โดยขณะนี้ประเมินว่า ไม่ต่ำกว่า 100 ราย แต่ส่วนใหญ่เป็นรายย่อย ตั้งแต่ขุดภายในบ้าน ลงทุนระดับแสนบาท โดยใช้หน่วยประมวลผลกราฟิก หรือ การ์ดจอ เริ่มต้นการขุดตั้งแต่ 6 การ์ด, อาคารพาณิชย์ ลงทุนระดับล้านบาท ใช้หน่วยประมวลผลกราฟิก หรือ การ์ดจอ 50 การ์ดขึ้นไป นอกจากนี้ ยังมีเหมืองขุดเงินดิจิตอลจีนบางรายเริ่มเข้ามาลงทุนสร้างเหมืองขุดเงินดิจิตอลในไทย แม้ว่าจีนจะมีต้นทุนค่าไฟต่ำกว่าไทย แต่ด้วยกฎหมายจีนที่กำหนดให้เหมืองขุดจะต้องผลิตไฟเพื่อใช้เอง เป็นแรงบีบให้เหมืองทองในจีนเข้ามาลงทุนสร้างเหมืองขุดในไทยแทน เนื่องจากไทยมีต้นทุนที่เหมาะสม
นายกษมพัทธ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับเหมืองขุดเงินดิจิตอลของซีมายน์ เป็นสเกลขนาดใหญ่ที่มีรูปแบบธุรกิจให้เช่าหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) เพื่อให้บุคคลภายนอกนำหน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) มาให้บริษัทเช่าไปขุดเหรียญ โดยปัจจุบัน บริษัทมีหน่วยประมวลผลกราฟิกภายใต้การควบคุมให้บริการเช่าไม่ต่ำกว่า 16,000 การ์ด โดยการลงทุนการ์ดจอเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10,000-35,000 บาทต่อ 1 การ์ด ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติการทำงานจากเดิม 2 ปีแล้ว การลงทุนการ์ดจอเฉลี่ยอยู่ที่ 7,000-39,000 บาท
'ซีมายน์' เล็งออก ICO พ.ค. นี้
"เราเปิดให้เช่าการ์ดจอลูกค้า (WRYGC) เพราะเห็นโอกาสการเติบโต เนื่องจากกระแสความสนใจในการขุดเหรียญดิจิตอลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่นักขุดจะต้องใช้ความพยายามในการถอดรหัสและรอคอยการประมวลผล อีกทั้งต้องสอดส่องดูแลระบบตลอดเวลาและใช้เวลานานกว่าจะคืนทุน แต่หากนักขุดหรือผู้ลงทุนที่สนใจเหรียญดิจิตอล นำการ์ดจอมาให้บริษัทเช่า จะช่วยให้นักขุดหรือนักลงทุนไม่ต้องเสียเวลาติดตามการ์ดจอประมวลผลด้วยตัวเอง เพราะเมื่อบริษัทขุดได้เหรียญดิจิตอล ก็จะแบ่งส่วน 50% ให้แก่ลูกค้า ซึ่งจากสถิติ 14 เดือนที่ผ่านมา นักลงทุนที่นำการ์ดจอมาให้บริษัทเช่า ได้รับผลตอบแทนกว่าเดือนละ 2-15% ส่วนต้นทุนค่าไฟของบริษัทอยู่ที่เดือนละ 4 ล้านบาท โดยค่าไฟคิดเป็นสัดส่วน 15-40% ของต้นทุนการขุดทั้งหมด"
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันความต้องการหน่วยประมวลผลกราฟิกในตลาดมีสูงตามแนวโน้มผลตอบแทนจากการลงทุน บริษัทจึงมีแผนในการเสนอขายโทเคนต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก (Initial Coin Offering : ICO) เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายการ์ดจอบางส่วนไปมัดจำโรงงานผู้ผลิตโดยตรง ช่วยให้ได้หน่วยประมวลผลกราฟิกที่แน่นอนและราคาถูก โดยบริษัทจะออกเหรียญดิจิตอล ZMN จำนวน 100 ล้านโทเคน เพื่อเสนอขายแก่ผู้สนใจทั่วโลก ราคาเริ่มต้น 575 ดอลลาร์ต่อ 10,000 ZMN โทเคน โดยเริ่มจำหน่ายวันแรก 2 พ.ค. 2561 จนถึง 31 พ.ค. 2561 โดยคาดว่าจะได้รับเงินจากการระดมทุนครั้งนี้ประมาณ 180 ล้านบาท
การ์ดจอขาดตลาด
ด้าน นายวิทวัส บุญญภิญโญ หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมบริษัท บริษัท ซีมายน์ โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทใช้กำลังไฟฟ้าในการทำเหมืองขุดเหรียญดิจิตอลประมาณ 3 เมกะวัตต์ ขณะที่ หม้อแปลงรองรับการใช้กำลังไฟฟ้าได้ 5 เมกะวัตต์ หากมีความต้องการเพิ่มก็พร้อมขยายเพิ่ม หากภาครัฐมีนโยบายให้เหมืองขุดเหรียญผลิตไฟเองเหมือนกับประเทศจีน ก็พร้อมย้ายเข้าไปลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมที่มีกำลังไฟเหลือ โดยขณะนี้ มีนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งติดต่อให้บริษัทเข้าไปตั้งเหมืองแล้ว
อนึ่งในการขุดเหรียญดิจิตอลเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมรองจากการซื้อเหรียญดิจิตอลบนกระดานซื้อขาย เพื่อเก็งกำไร โดยในการขุดเหรียญดิจิตอลนั้น จำเป็นต้องมีหน่วยประมวลผลกราฟิกที่มีกำลังการประมวลผลสูง เพื่อคำนวณทางคณิตศาสตร์ เพื่อให้ได้เหรียญมา โดยการขุดเหรียญดิจิตอลแต่ละสกุลนั้น โจทย์จะยากหรือง่ายแตกต่างกันตามผู้สร้างเหรียญใช้อัลกอริธึมแบบใด ซึ่งจากความนิยมในการขุดเหรียญดิจิตอล ทำให้การ์ดจอราคาสูงขึ้น โดยการ์ดจอเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10,000-35,000 บาทต่อ 1 การ์ด ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติการทำงาน จากเดิม 2 ปีที่แล้ว การลงทุนการ์ดจอเฉลี่ยอยู่ที่ 7,000-35,000 บาท และประสบปัญหาขาดตลาดทั่วโลก
[caption id="attachment_278533" align="aligncenter" width="503"]
สหรัฐ บุญโพธิภักดี
รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และโฆษก กฟผ.[/caption]
ไฟฟ้าเพียงพอรับเหมืองขุด
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และโฆษก กฟผ. เปิดเผยว่า การเติบโตของธุรกิจบิทคอยน์ในประเทศไทย ยังไม่มีความน่ากังวลมากนัก ซึ่งหากมองภาพรวมของทั่วโลก จะพบว่า ธุรกิจนี้ทำให้ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2-3% นับว่าเป็นตัวเลขที่ไม่มากนัก และหากกลับมาดูในประเทศไทย เบื้องต้น ประมาณการณ์ว่าจะขุดบิทคอยน์ในไทยจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 3% ซึ่งอาจเติบโตมากกว่าหรือน้อยกว่าก็ได้ เทียบกับปริมาณสำรองกำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศที่มีมากถึง 30%
ขณะเดียวกัน หากเทียบธุรกิจขุดบิทคอยน์กับรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) หากอยู่ในระดับ 1.2 ล้านคัน จะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 3% เช่นกัน ดังนั้น หากรวมความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าของธุรกิจขุดบิทคอยน์และรถยนต์อีวีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น 6% ก็ยังนับว่าเป็นตัวเลขที่ไม่มาก เมื่อเทียบกับปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศ
"การเติบโตของดาต้าเซ็นเตอร์ที่รองรับดิจิตอลทุกชนิดในอนาคต จะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าดีมานด์เพิ่มขึ้นประมาณ 3% และสำหรับไทย ดีมานด์การใช้ไฟฟ้าอาจจะน้อยกว่าหรือมากกว่า 3% ขึ้นกับดาต้าเซ็นเตอร์, IoT ฯลฯ จะเติบโตมากน้อยเท่าไหร่ ซึ่งส่วนตัวมองว่า ธุรกิจขุดบิทคอยน์ยังเป็นตัวเลขที่ไม่น่ากังวลมากนัก" นายสหรัฐ กล่าว
……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,362 วันที่ 3-5 พ.ค. 2561 หน้า 01-02
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
●
ICO ไทยมือใหม่หัดขับภาครัฐมาถูกทางเร่งก.ม.คุมเงินดิจิตอล
●
‘ไอที’บีบตกงานเพิ่ม สศช.เตือนระวังซื้อขายออนไลน์-ลงทุนเงินดิจิตอล