ไทยเปิดเวทีประชุมคณะกรรมาธิการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ 22

21 พ.ค. 2561 | 09:34 น.
ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย ครั้งที่ 22 เปิดเวทีส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือให้ภาคีสมาชิกภายใต้กรอบ IOTC  31 ประเทศ มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และป้องกันแหล่งทรัพยากรทูน่าและชนิดพันธุ์คล้ายปลาทูน่า พร้อมทบทวนมาตรการอนุรักษ์และจัดการให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสม

- 21 พ.ค. 61 - นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการปลาทูน่าแห่งมหาสมุทรอินเดีย (IOTC) เป็นองค์กรจัดการประมงระดับภูมิภาค ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้ธรรมนูญขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เมื่อปี พ.ศ. 2539 มีภารกิจหลักในการจัดการทรัพยากรปลาทูน่าและชนิดพันธุ์คล้ายปลาทูน่า (tuna-like species) รวม 16 ชนิด ในเขตทะเลหลวงบริเวณมหาสมุทรอินเดีย และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสมาชิกในการจัดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรปลาทูน่าอย่างเหมาะสม โดยปัจจุบัน IOTC

มีสมาชิกจำนวน 31 ประเทศ โดยมีนายลักษณ์ วจนานวัช รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในการเปิดงาน IMG_8037

สำหรับสมาชิกจำนวน 31 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย , จีน , สหภาพคอโมโรส , รัฐเอริเทรีย , สหภาพยุโรป , ฝรั่งเศส , สาธารณรัฐกินี , อินเดีย , อินโดนีเซีย , อิหร่าน , ญี่ปุ่น , เคนยา , เกาหลี , มาดากัสการ์ , มาเลเซีย , มัลดีฟส์ , สาธารณรัฐมอริเชียส , สาธารณรัฐโมซัมบิก , รัฐสุลต่านโอมาน , ปากีสถาน , ฟิลิปปินส์ , สาธารณรัฐเซเชลส์ , สาธารณรัฐเซียร์ราลีโอน , สหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย , แอฟริกาใต้ , ศรีลังกา , สาธารณรัฐซูดาน , สหสาธารณรัฐแทนซาเนีย , ประเทศไทย และสาธารณรัฐเยเมน และมีประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกแต่ให้ความร่วมมือ (Cooperating Non – Contracting Parties; CNCP) จำนวน 3 ประเทศ ได้แก่ บังคลาเทศ , สาธารณรัฐไลบีเรีย และสาธารณรัฐเซเนกัล

“การประชุมครั้งนี้  ถือเป็นการเปิดเวทีให้ผู้แทนจากประเทศดังกล่าว ได้ร่วมกันหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรการอนุรักษ์ การจัดการทรัพยากรปลาทูน่าและชนิดพันธุ์คล้ายปลาทูน่า อีกทั้ง ยังเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสมาชิกในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรปลาทูน่าอย่างเหมาะสมด้วย” สาระสำคัญของการประชุม ประกอบด้วย การทบทวนรายงานและตรวจสอบการปฏิบัติตามของประเทศสมาชิก  การพิจารณามาตรการอนุรักษ์และจัดการ การพิจารณาและทบทวนร่างรายชื่อเรือที่ทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) การพิจารณา National Report ของประเทศสมาชิก นอกจากนี้ ยังมีการอภิปรายเกี่ยวกับรูปแบบการประเมินผลและขั้นตอนการจัดการ รวมถึงการทบทวนผลการดำเนินงานและงบประมาณของ IOTC อีกด้วย IMG_7999

ในโอกาสนี้ กรมประมงได้เชิญชวนผู้แทนประเทศสมาชิกเข้าเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังการทำการประมง (Fisheries Monitoring Center; FMC) ในวันที่ 20 พ.ค. 2561 ที่ผ่านมาด้วย  ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้แทนประเทศสมาชิกเป็นอย่างมาก  อีกทั้งยังชื่นชมประเทศไทยที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีในการติดตามเรือ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยในการป้องกันการทำประมงแบบ IUU

อธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้ายว่า การจัดประชุมในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้แสดงศักยภาพในการให้ความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติตามมาตรการอนุรักษ์และจัดการของ IOTC ได้ดียิ่งขึ้น และในฐานะที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก IOTC และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งนี้ จะได้ใช้โอกาสในการผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนในประเด็นที่ประเทศไทยให้ความสำคัญ และประเด็นที่เป็นปัญหาอุปสรรคในการดำเนินการตามมาตรการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรปลาทูน่าและชนิดพันธุ์คล้ายปลาทูน่า เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการประมงที่เอื้อต่อการใช้ประโยชน์จากพันธุ์ปลาเหล่านี้อย่างเหมาะสมต่อไป