เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ | นักเศรษฐศาสตร์ แห่งโลกอนาคต

30 พ.ค. 2561 | 09:50 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ค. 2561 | 16:50 น.
300561-1644 07-3370

มีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Oxford ทำนายเอาไว้ว่า อาชีพนักเศรษฐศาสตร์มีโอกาสถูกทดแทนได้ด้วยเทคโนโลยีที่สร้างจากระบบคอมพิวเตอร์ได้ถึง 43% (Source : Frey & Osborne (2013, 2017))

อย่างไรก็ดี แม้งานวิจัยนี้จะเข้าใจพัฒนาการของเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี แต่งานวิจัยนี้มองข้ามความเป็นไปได้ที่สำคัญมากข้อหนึ่งไป นั่นก็คือ มนุษย์ก็สามารถปรับตัว reinvent ตัวเอง และพัฒนาทักษะใหม่ ๆ ได้เช่นกัน กล่าวคือ แม้หน้าที่หลายอย่างของอาชีพนักเศรษฐศาสตร์ในบริบทโลกปัจจุบันของ Frey & Osborne (2013, 2017) จะสามารถถูกใช้เทคโนโลยีมาทดแทนได้ แต่นักเศรษฐศาสตร์ที่มีมุมมองโลกอนาคต จะสามารถมองเห็นโจทย์ปัญหาทางเศรษฐศาสตร์ในโลกใหม่ จะสามารถปรับตัวและพัฒนาทักษะ เพื่อจะสามารถรับมือกับสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ รวมถึงการใช้เทคนิคใหม่ ๆ หรือข้อมูลประเภทใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนในอดีตมาตอบโจทย์ทั้งปัญหาเก่าที่ไม่เคยตอบได้และปัญหาใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (ส่วนตัวแล้วผู้เขียนมองว่า  เทคโนโลยีถูกนำมาใช้ทุ่นแรงทุ่นเวลา เพื่อให้นักเศรษฐศาสตร์มีเวลาเพิ่มเพื่อที่จะไปคิดจัดการกับปัญหาใหม่ ๆ หรือพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ต่อไป)


07-3370-45

ในโลกใหม่นี้ นักเศรษฐศาสตร์ในแต่ละสาขาก็ต้องรับมือกับโจทย์ปัญหาใหม่ ๆ เช่น นักเศรษฐศาสตร์การเงินก็ต้องทำความเข้าใจกับ Cryptocurrencies และผลกระทบในภาคการเงิน, นักเศรษฐศาสตร์การคลังอาจจะต้องมานั่งคิดว่า เราควรจะเก็บภาษีหุ่นยนต์ไหม ถ้าจะเก็บควรเก็บอย่างไร, นักเศรษฐศาสตร์การพัฒนาอาจจะต้องมาจัดการกับความเหลื่อมลํ้าที่อาจจะเพิ่มมากขึ้น จากการที่มีผู้คนบางกลุ่มมีความสามารถในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ในขณะที่อีกกลุ่มไม่มีงานทำ เพราะสู้ AI ไม่ได้, นักเศรษฐศาสตร์การเมือง อาจจะมองถึงความเป็นไปได้ของการใช้ Blockchain ในการเพิ่มความโปร่งใสในการเลือกตั้ง หรือผลกระทบของ Social Media กับการเลือกตั้ง

นักเศรษฐศาสตร์มหภาคคงต้องมองหาวิธีใหม่ ๆ ในการคำนวณ GDP ว่า จะครอบคลุมกิจกรรมในโลกดิจิตอล หรือ โลก Blockchain ด้วยได้อย่างไร รวมไปถึงว่า GDP ควรยังเป็นตัววัดเศรษฐกิจที่เหมาะสมไหมในโลกใหม่นี้ หรือเราควรจะสร้างตัววัดเศรษฐกิจตัวใหม่ที่เหมาะสมกว่า, นักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขอาจจะต้องพิจารณาถึงระบบประกันสุขภาพที่คำนึงถึงการมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น มี IoT ที่สามารถเก็บกิจกรรมการออกกำลังกายและการนอนได้แบบรายคน หรือการมี 3D Bio-Printer ที่สามารถ สร้าง (Print) อวัยวะขึ้นมาได้


pexels-photo-209224

นักเศรษฐศาสตร์แรงงานอาจต้องย้ายมาวิเคราะห์ตลาดแรงงานในโลก Online โดยใช้ข้อมูลจาก Online Platform ต่าง ๆ หากลองมองดูงานวิจัยใหม่ ๆ บน Website ของ National Bureau of Economics Research (NBER) ซึ่งเป็นที่รวบรวมงานวิจัยใหม่ ๆ ของนักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของโลก ก็จะเห็นงานวิจัยหัวข้อแปลกใหม่ ที่ตอบโจทย์ทางเศรษฐศาสตร์ในโลกใหม่นี้บ้างแล้ว เช่น

"Market Structure in Bitcoin Mining"
"Blockchain Disruption and Smart Contracts"
"Selecting Directors Using Machine Learning"
"Artificial Intelligence and Its Implications for Income Distribution and Unemployment"
"Human Judgment and AI Pricing"
"Social Media, Sentiment and Public Opinions: Evidence from #Brexit and #USElection"
"Carpooling and the Economics of Self-Driving Cars"
"Death by Pokemon GO: The Economic and Human Cost of Using Apps While Driving"
"On the Rise of Fin Techs - Credit Scoring using Digital Footprints"
"The Impact of Big Data on Firm Performance: An Empirical Investigation"


download

ที่มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกได้มีการริเริ่มตั้งกลุ่มวิชาการหรือกลุ่มปฏิบัติการใหม่ ๆ เพื่อเป็นผู้นำในการศึกษาค้นคว้าทำวิจัยรวมไปถึงพัฒนาการเรียนการสอนในเรื่องเหล่านี้ เช่น MIT Initiative on the Digital Economy, MIT Cryptoecono mics Lab, MIT Digital Currency Initiative, Oxford Internet Institute, Stanford Bitcoin Club, etc.

นอกจากนี้ ยังมีการจัด Economics Conference ในหัวข้อเฉพาะทางใหม่ ๆ เหล่านี้ เช่น Economics of AI, Digital Economics, etc. และมีการจัดตั้งวารสารวิชาการที่เน้นในเรื่องเฉพาะทางใหม่ ๆ เช่น Ledger (เป็น Multidisciplinary Journal ที่เกี่ยวกับ Blockchain ที่มีนักเศรษฐศาสตร์ร่วมอยู่ใน Editorial Board ด้วย นอกจากนี้ยังมี Vitalik Buterin ผู้ก่อตั้ง Ethereum ร่วมอยู่ใน Editorial Board ด้วยเช่นกัน)


iStock-509031122_1404x672-702x336

ในอนาคต นอกจากเราจะเห็นนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่ตอบคำถามใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในสาขานั้น ๆ แล้ว เราอาจได้เห็นสาขาใหม่ ๆ ทางเศรษฐศาสตร์ (ซึ่งจริง ๆ ก็เริ่มมีบ้างแล้วในกลุ่มย่อย ๆ) เช่น Digital Economics, AI Economics, หรือ Blockchain Economics (และอื่น ๆ อีกมาก มายที่ยังไม่อาจคาดเดาได้ในปัจจุบัน) เช่นเดียวกับอาชีพอื่น แม้บางอาชีพอาจจะหายไป บางอาชีพอาจจะยังอยู่แต่กลายพันธุ์ไปบ้างเพื่อตอบโจทย์ปัญหาใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในอนาคตนั่นเอง


Reference : Frey, C. B., & Osborne, M. A. (2017). The future of employment : how susceptible are jobs to computerisation?.Technological Forecasting and Social Change, 114, 254-280.
Disclaimer: ผู้เขียนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ J


……………….
คอลัมน์ : เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ดร.วรประภา นาควัชระ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,370 วันที่ 31 พ.ค. - 2 มิ.ย. 2561 หน้า 07

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ชีวิตประจำวัน จากโลกอนาคตในนอร์เวย์ (จบ)
ชีวิตประจำวัน จากโลกอนาคตในนอร์เวย์ (2)


e-book-1-503x62-7