ดันคมนาคมระบบรองระยอง เชื่อมไฮสปีดเทรนหนุนพื้นที่เศรษฐกิจ

05 ก.ค. 2561 | 05:50 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2561 | 12:50 น.
“ระยองพัฒนาเมือง” จี้คณะกรรมการอีอีซี เร่งผลักดันคมนาคมระบบรอง เมืองระยอง ประเดิมเปิดให้บริหารรถโดยสาร เชื่อมรถไฟความเร็วสูง และ 7 ศูนย์เศรษฐกิจใหม่ หวังให้เกิดการบริการที่ทั่วถึง และจูงใจผู้ประกอบการเข้ามาลงทุน

จากนโยบายการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ อีอีซี ได้ส่งผลให้ภาคเอกชนมีความตื่นตัวด้านการลงทุน และเห็นโอกาสจากการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าว จึงมีเอกชนในพื้นที่จังหวัดระยองเห็นโอกาสตรงจุดนี้ และรวมตัวกันจัดตั้งบริษัท ระยองพัฒนาเมือง จำกัด ขึ้นมารองรับการลงทุนพัฒนาระบบขนส่งมวลชนและพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจ โดยใช้ศักยภาพของตัวเองที่มีอยู่ ในการขับเคลื่อน โดยไม่ต้องไปพึ่งภาครัฐ และยังเป็นการช่วยปลดล็อกอุปสรรคด้านการลงทุน กรณีเวนคืนที่ดินมาพัฒนา เป็นต้น

นายภูษิต ไชยฉํ่า กรรมการผู้จัดการ บริษัท ระยองพัฒนาเมือง จำกัด  เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งผลักดันการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งระบบรอง ในพื้นที่อีอีซี เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกับพื้นที่การพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจ โดยจะนำรถโดยสารประจำทาง (สมาร์ทบัส) มาเปิดให้บริการในระยะแรก เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระบบคมนาคมในพื้นที่ รองรับผู้โดยสารจากสถานีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ที่มาสิ้นสุดที่สถานีอู่ตะเภาและหลังจากนั้นจะลงทุนรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) ในระยะต่อไป เพื่อให้เข้าถึงบริการระบบขนส่งมวลชนได้อย่างทั่วถึง

[caption id="attachment_293973" align="aligncenter" width="503"] ภูษิต ไชยฉํ่า ภูษิต ไชยฉ่ำ[/caption]

อีกทั้ง ยังรองรับการพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นใหม่ 7 แห่ง ในเมืองระยอง ได้แก่ ศูนย์เศรษฐกิจใหม่รอบท่าอากาศยานอู่ตะเภา ศูนย์เศรษฐกิจบ้านฉาง ศูนย์เศรษฐกิจมาบตาพุด ศูนย์เศรษฐกิจเซ็นทรัลพลาซาระยอง ศูนย์เศรษฐกิจศูนย์การค้าแหลมทอง  ศูนย์เศรษฐกิจเมืองระยอง และศูนย์เศรษฐกิจเทศบันเทิง

03

โดยขณะนี้ได้ส่งแผนการพัฒนาดังกล่าวไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) บรรจุเป็นโครงการเร่งด่วนแล้ว เพื่อไปผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปหาผู้ให้บริการ ซึ่งบริษัทก็มีความพร้อมที่จะดำเนินการในจุดนี้ และได้ประสานงานกับสำนักงานขนส่งจังหวัดระยองไปเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ หากมีระบบฟีดเดอร์ให้บริการอย่างทั่วถึง พร้อมกับการเร่งพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจในพื้นที่ต่างๆ แล้วจะส่งผลให้เกิดแรงจูงใจของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่ระยองมากขึ้น เนื่องจากจะมีโครงข่ายระบบคมนาคมเชื่อมโยงกับพื้นที่ศูนย์เศรษฐกิจใหม่ 7 แห่ง

ดังนั้น จึงต้องเร่งผลักดัน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ  เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจบนพื้นที่การพัฒนาศูนย์เศรษฐกิจต่างๆ พร้อมกับการเร่งเปิดให้บริการรถโดยสารสาธารณะรูปแบบสมาร์ทบัสก่อนที่จะปรับรูปแบบเป็นโมโนเรลในระยะต่อไป หากเต็มพิกัดให้บริการ จะมีทั้งแนวเส้นทางในพื้นที่เมืองเก่าระยอง ขยายออกไปสู่พื้นที่โซนใหม่ต่างๆ
02 “ขณะนี้บริษัทได้รับอนุญาตจากสำนักงานขนส่งจังหวัดให้ทดสอบการเดินรถเรียบร้อยแล้ว ซึ่งภายใน 3 เดือนต่อจากนี้จะเปิดให้บริการสมาร์ท บัส เส้นทางนำร่องประมาณ 15 กิโลเมตรเพื่อให้ประชาชนคุ้นเคยกับการใช้บริการสาธารณะรูปแบบใหม่กันมากขึ้น ลดอุบัติเหตุและลดปัญหาการจราจร  โดยศูนย์เศรษฐกิจจะเชื่อมต่อได้ทั้งย่านการค้าดั้งเดิม และย่านใหม่ที่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้น”

ด้านนายฐาปนา บุญยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย และที่ปรึกษาบริษัท รีเจียนนอล ทรานซิทคอร์เปอร์เรชั่น จำกัด  เปิดเผยว่า ในการพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมในพื้นที่อีอีซี จะมีการเสนอ “ศูนย์คมนาคมขนส่งระบบรอง” ไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) เพื่อเร่งผลักดันให้โครงการต่างๆ เกิดขึ้นใน 4 พื้นที่ทั้งฉะเชิงเทรา ศรีราชา-พัทยา และระยอง โดยเฉพาะเขตจ.ระยอง ที่จะมีศูนย์เศรษฐกิจเกิดขึ้น 7 แห่งจำเป็นต้องวางระบบให้เกิดการเชื่อมโยงกัน

……………….……………….……………….…………….

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,379 วันที่ 1-4 ก.ค. 2561 e-book-1-503x62