เลิกโฆษณาชวนเชื่อ เหอะ !

10 ก.พ. 2559 | 13:30 น.
คนรุ่นใหม่จริงต้องเอาอย่างประเทศที่เจริญแล้วเขาทำกัน คือ วัยเรียนชั้นอุดมศึกษาควรหางานทำ หารายได้นอกเหนือจากที่พ่อแม่จ่ายให้รายวันหรือรายเดือน การทำงานตั้งแต่ยังเรียนในระดับมหาวิทยาลัยไม่ใช่เรื่องน่าอาย กลับเป็นตรงกันข้าม เพราะนั่นทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจที่ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ตัวเรามีคุณค่าพอที่เขาจะจ้างให้เราทำงานได้

การทำงานสอนให้เรารู้จักการบริหารเวลา งานสอนให้เรารู้จักหน้าที่ รู้รับผิดชอบ รู้จักการทำงานร่วมกันกับผู้อื่น ได้รู้อุปนิสัยใจคอผู้อื่น งานทำให้เรามีโอกาสได้รู้จักคนมากขึ้น หรืองานทำให้เรารู้จักรับผิดชอบตนเองมากขึ้น การทำงานในห้วงเวลานี้ดูจะเหมาะสม เพราะสังคมไทยก็เปิดรับคนหนุ่มสาวที่ต้องการทำงานเพิ่มมากขึ้นแม้จะเป็นนักเรียน นิสิต นักศึกษาก็ตาม แต่จะทำงานที่ใดนั้นก็ต้องพิจารณาไตร่ตรองให้ดี ให้ทำงานที่สุจริตถูกกฎหมาย ไม่ใช่เข้าไปเกี่ยวข้องขบวนการผิดกฎหมาย ซึ่งแม้จะดูเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยก็ตาม แต่เมื่อผิดกฎหมายย่อมเป็นเรื่องใหญ่เสมอ เราต้องปฏิเสธงานที่ผิดกฎหมาย

เราควรที่จะเลือกทำงานที่มีคุณค่า และคุณค่าของงานจะมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับทัศนคติของสังคมหรือคนอื่นๆ ต่องานนั้นด้วย อาทิ การมีอาชีพเป็นมือปืนกับอาชีพตำรวจย่อมมีคุณค่าแตกต่างกัน เราต้องเลือกงานที่ดูดีเอาไว้ก่อน เป็นต้นว่า ทำงานร้านขายของชำทั่วไปกับเลือกทำงานกับธุรกิจใหญ่ๆ ที่ประกอบอาชีพเดียวกันก็จะมีความรู้สึกที่ดีแตกต่างกัน เพราะนั่นหมายถึงว่าแต่ละธุรกิจสาขาอาชีพ ยอมได้รับการยอมรับจากสังคมที่แตกต่างกัน ถ้าเราไม่มีโอกาสที่จะเลือกได้ ก็ต้องทำงานที่ว่านั้นเพื่อหวังจะก้าวหน้าต่อไปในอนาคต เพราะเรายังเรียนหนังสืออยู่ ชีวิตของเราไม่ได้สิ้นสุดจากการทำงานที่จะทำหรือทำอยู่ในวันนี้ไปจนตาย

เมื่อตัดสินใจเข้าทำงานแล้วไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็ตาม เราจะต้องปฏิบัติหน้าที่เต็มความสามารถ มีความรู้สติปัญญาเท่าไหร่ต้องทุ่มเทแบบสุดความสามารถ จะหย่อนยานไม่ได้โดยเด็ดขาด และต้องหมั่นปรับปรุงความรู้ความสามารถของตนเองด้วย ไม่ใช่ทำเท่าที่ความสามารถเดิมมีอยู่ เราต้องรับผิดชอบในหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติ หมายถึง ความรับผิดชอบที่จะร่วมนำพานายจ้างให้บรรลุสู่ความสำเร็จ ต้องมีความจงรักภักดีต่อหน่วยงาน ต้องรู้สึกว่ามีความรักและความผูกพันต่อหน่วยงาน มีอารมณ์ความรู้สึกร่วมกับหน่วยงานด้วย โดยไม่ต้องคำนึงว่าจะรับผิดชอบเกินหน้าที่หรือไม่ก็ตาม

ผมนำเรื่องเหล่านี้มาพูดก็เพราะ ได้ยินโฆษณาชวนเชื่อผ่านสื่อสารมวลชนบ่อย พูดชักนำให้ไปลงทุนในเรื่องที่ไม่สมควร เขาพยายามปลูกฝังให้คนหนุ่มสาวเชื่อว่า มีเงินฝาก 500 บาท/เดือน อีกไม่กี่สิบปีก็จะมีเงินเก็บเป็นล้าน ซึ่งทัศนะนี้ก็ดีในแง่ที่ชักชวนให้ประชาชนออมเงินหรือออมทรัพย์ แต่การออมทรัพย์แล้วทรัพย์นั้นจะถูกนำไป "เล่นหุ้น" จึงไม่น่าจะเหมาะสม เพราะการลงทุนหุ้นเป็นเรื่องของคนที่มีเงินมากพอจะเล่น เนื่องจากการลงทุนหุ้นมีโอกาสทั้งขาดทุนและได้กำไร

การเริ่มต้นการออมทรัพย์ที่ดีของคนหนุ่มสาว น่าจะอยู่ที่การเก็บออมเงินกับธนาคารดูจะมีความมั่นคงมากกว่าเอาเงินไปลงในกองทุนเพื่อการเล่นหุ้น ก็อย่างที่บอก การลงทุนหุ้นนั้นมีโอกาสได้และเสีย ไม่เหมือนฝากธนาคารที่ได้ดอกออกผล แม้จะไม่มากแต่ก็ดีกว่าจะเก็บเอาไว้ที่บ้าน แม้เวลาผ่านไปนับสิบปีจะได้ไม่กี่พันบาทหรือระดับหมื่นบาทก็ตามที อย่างไรผมเชื่อว่าดอกเบี้ยเงินฝากในไทยยังอีกนานที่เงินฝากจะติดลบเหมือนกับประเทศญี่ปุ่นในขณะนี้

นักเลงหุ้นวันนี้ จะมีใครบ้างที่จะออกมาเล่าว่ารอบนี้เสียเงินจากการเล่นหุ้นไปเท่าไหร่ หมดเงินไปเท่าไหร่แล้ว ไม่มีหรอก เวลาเขาเสีย เขาจะเฉย ถ้าเสียหายมากๆ ก็อาจจะปลิดชีพตัวเอง แต่พอได้กำไรมักจะออกมาคุยเป็นคุ้งเป็นแคว...โปรดจำไว้ว่า เราอยู่ในวัยเรียน เราควรจะหางานทำไปด้วย เรียนไปด้วย เราต้องขยันหมั่นเพียร คนเราต้องสั่งสมประสบการณ์ และเริ่มต้นก่อนก็อาจมีโอกาสได้เปรียบมากกว่าคนเริ่มต้นหลังจากเรา แต่ข้อยกเว้นก็มีเหมือนกันที่เริ่มทีหลังแต่รวยก่อนก็มีเหมือนกัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,129 วันที่ 7 - 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559