เปิดร้านโอท็อปอัจฉริยะต้นแบบ ผลงานนักศึกษาคณะวิทย์มทร.ธัญบุรี

10 ก.พ. 2559 | 04:30 น.
คณะวิทย์ฯ มทร.ธัญบุรี สร้างซอฟต์แวร์ "ระบบบริหารจัดการ" สำหรับร้านจำหน่ายสินค้าต้นแบบ 'โอท็อป โชว์เคส' ช่วยพัฒนาสินค้าโอท็อปไปสู่เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพการแข่งขันในประเทศกลุ่มอาเซียนและตลาดโลก

อาจารย์จริญญา ทะหลวย อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.ธัญบุรี ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษา กล่าวว่า การสร้างโปรแกรมบริหารจัดการสำหรับร้านจำหน่ายสินค้าโอท็อป โชว์เคส เป็นผลงานของนักศึกษาในโครงการจัดทำแผนการจัดตั้งและพัฒนาระบบบริหารจัดการร้านจำหน่ายสินค้าโอท็อป เป็นการนำเทคโนโลยีและคอมพิวเตอร์เข้าไปช่วยเสริมการทำงานการบริหารจัดการร้านดังกล่าว โดยมีหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจ มทร.ธัญบุรี ช่วยลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลศึกษาความต้องการในการใช้โปรแกรมจากนั้นนักศึกษาจะนำข้อมูลมาวิเคราะห์และสรุปแล้วจึงเริ่มลงมือเขียนโปรแกรม ทดสอบการใช้งานและปรับแก้จนสมบูรณ์พร้อมใช้งานได้จริง

"ผลงานของนักศึกษานอกจากจะเป็นการนำองค์ความรู้ที่เรียนมาทั้งหมดไปสร้างสรรค์และพัฒนาจนเกิดเป็นโปรแกรมเพื่อบริหารจัดการร้านสินค้าแล้ว ยังทำให้เกิดการแชร์ข้อมูลซึ่งกันและกัน เกิดเป็นเครือข่ายสินค้าโอท็อปที่มีความเชื่อมโยงกันทางธุรกิจ ทำให้เกิดความเข้มแข็ง มีศักยภาพพร้อมที่จะแข่งขันในตลาด และที่สำคัญหากคนไทยซื้อของในร้านจำหน่ายสินค้าโอท็อปนี้ เงินจะกระจายหมุนเวียนกลับไปสู่ชุมชนท้องถิ่นอย่างแน่นอน"

ด้านนายเพชรปริญญ์ ทรงวิผล นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หนึ่งในผู้ร่วมโครงการและเป็นผู้เขียนโปรแกรม กล่าวว่า หน้าตาของโปรแกรมจะออกแบบให้เลือกใช้งานได้ง่าย และใช้ภาษาไทยทั้งหมด แบ่งการทำงานออกเป็น 5 ส่วนหลัก ประกอบด้วย 1. ส่วนการขาย 2. ส่วนข้อมูลสินค้า 3. ส่วนงานระบบ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ระบบพนักงานและระบบบริษัทคู่ค้า 4. ส่วนสินค้าคงคลัง เป็นรายละเอียดของสินค้าใกล้หมดแพ็ก สินค้าที่ควรสั่งซื้อเพิ่ม สินค้าเข้าร้านและสินค้าในคลัง

และ 5. ส่วนรายงาน ซึ่งจะมีรายงานยอดขายประจำวัน รายงานยอดขายประจำเดือน รายงานยอดขายประจำปี รายงานยอดขายตามช่วงเวลา รายงานสินค้าขายดีตามช่วงเวลา สินค้าหมดอายุ โดยสามารถสั่งพิมพ์รายงานสรุปยอดขายรวมทั้งเปิดรายงานในไมโครซอฟท์เอ็กเซลได้ ซึ่งผู้ใช้งานที่เป็นผู้จัดการร้านหรือแอดมินร้านเท่านั้นที่จะเปิดดูรายงานได้ทั้งหมด ส่วนผู้ใช้ที่เป็นพนักงานจะสามารถเรียกดูเฉพาะรายงานยอดขายประจำวันในส่วนของเขาเท่านั้น ที่สำคัญผู้ใช้งานสามารถส่งรายงานมายังส่วนกลางที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อรายงานผลประกอบการได้อีกด้วย

ส่วนนางสาวอัญชลี เสงี่ยมจิตร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้ร่วมโครงการอีกคนกล่าวเสริมว่า การติดตั้งและการใช้งานโปรแกรมถูกพัฒนาให้มีความสะดวกและง่ายต่อการใช้งาน มีคู่มือการใช้โปรแกรมสำหรับการปฏิบัติงาน ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริหารหรือผู้เกี่ยวข้องสามารถดึงข้อมูลจากส่วนกลางที่ร้านค้าสาขาอื่นๆ ส่งรายงานเข้ามา เพื่อนำมาวางแผนทำการตลาด การประชาสัมพันธ์ เพื่อให้มีศักยภาพในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น

"โอท็อป โชว์เคส สาขาทำเนียบรัฐบาล เป็นร้านต้นแบบ ที่มีผลิตภัณฑ์โอท็อปมากมาย อาทิ ผ้าและเครื่องแต่งกาย ของใช้ของประดับตกแต่ง ของที่ระลึก รวมถึงผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งมาจากหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย จากฝีมือและภูมิปัญญาของคนไทย ในฐานะผู้สร้างสรรค์ซอฟต์แวร์เพื่อการบริหารจัดการร้านสินค้า รู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการช่วยพัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์โอท็อป ช่วยบริหารจัดการเพื่อยกระดับสินค้าชุมชนท้องถิ่นจากภูมิภาคต่าง ๆ ให้เป็นเอสเอ็มอี รวมถึงการส่งออกในต่างประเทศต่อไป อันจะช่วยสร้างรายได้สู่ชุ่มชนอย่างทั่วถึง"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,130 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559