ผู้ประกอบการเหมืองร้อง รมว.เกษตรฯขอความเป็นธรรมถูกตัดสิทธิ์เข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน สปก.ทั้งๆที่ยื่นเรื่องมาตั้งแต่ปี 2554 ระบุกฎกระทรวง 2 มาตรฐานเลือกปฏิบัติ เอื้อบิ๊กพลังงานทุกรายทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต แต่กีดกันกลุ่มเหมืองแร่ที่เป็นเอสเอ็มอีให้เฉพาะรายที่เคยได้ก่อน คสช.ออกคำสั่งกลางปี 2560
แม้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา เห็นชอบยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ.2560-2564 ตามข้อเสนอของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยคลี่คลายปัญหาของอุตสาหกรรมแร่ไทยที่หยุดชะงักมาระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการเหมืองแร่จำนวนไม่น้อยยังติดขัดอยู่กับนโยบายอันเข้มงวดของทางราชการ อาทิ ข้อกำหนดเรื่องการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.)
แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2561 ได้มีหนังสือร้องขอความเป็นธรรมถึงนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จากผู้ประกอบการแร่หลายชนิดที่เสนอเรื่องผ่านสภาการเหมืองแร่จำนวนมาก เช่น
1. บริษัท เอ็นนิโก้ ซัพพลาย จำกัด (เเร่ยิปซัม)
2. นางสาวศิริพร บินสมประสงค์ (แร่ยิปซัมและแอนไฮไดรต์)
3. บริษัท ไพศาลี พารวยสตีล จำกัด (เเร่เหล็ก)
4. บริษัท บ้านทองศิลาทรัพย์ จํากัด (หินบะซอล)
5. บริษัท ศิลามาทวี จำกัด (เเร่หิน)
6. บริษัท มาทวีศิลาทรัพย์ จำกัด (เเร่หิน)
7. บริษัท บ้านทองศิลาทรัพย์ จำกัด (เเร่หิน) และบริษัทอื่นๆ
ขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาถูกตัดสิทธิ์ในการขอรับความยินยอมให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ส.ป.ก. ซึ่งนโยบายภาครัฐในอดีตได้ให้อนุญาตทำเหมืองได้ และผลจากการจัดสัมมนาเรื่อง “สัญญาณเตือน...เมกะโปรเจ็กต์ไทยและอุตสาหกรรมก่อสร้าง” เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยตัวแทนภาครัฐและผู้ประกอบการภาคเอกชนได้เข้าร่วมให้ความเห็นและข้อเสนอแนะตรงกันว่า ทางรัฐบาลควรอนุญาตให้ผู้ประกอบการทำเหมืองแร่ในเขตพื้นที่ ส.ป.ก. ซึ่งจะมีแหล่งแร่อุตสาหกรรมเพียงพอสำหรับในปัจจุบันและอนาคตสำหรับโครงการเมกะโปรเจ็กต์ด้านคมนาคมขนส่งของภาครัฐ นอกจากนี้ในเขตพื้นที่ ส.ป.ก. ยังมีแร่หลายประเภท เช่น ยิปซัม เฟลด์สปาร์ โดโลไมต์ ฯลฯ จำนวนมาก สำหรับรองรับการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมสำคัญต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมแก้วกระจก อุตสาหกรรมซีเมนต์ และอุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น
ในหนังสือของนางสาวศิริพร บินสมประสงค์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเหมืองแร่ยิปซัมและแอนไฮไดรต์ ได้อ้างถึงกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2560 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ในการขอและการพิจารณาให้ความยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 31/2560 โดยสรุปสาระสำคัญว่า 1.กลุ่มพลังงาน ได้รับสิทธิ์ให้ยื่นคำขอรับการพิจารณายินยอมให้ใช้พื้นที่เขตปฏิรูปที่ดินได้ทุกราย ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต 2.กลุ่มเหมืองแร่ ได้รับสิทธิ์ให้ยื่นคำขอได้เฉพาะรายที่เคยได้รับความยินยอม หรืออนุญาตไว้ก่อนคำสั่ง คสช.ที่ 31/2560 หรือก่อนวันที่ 23 มิถุนายน 2560 เท่านั้น
ข้อกำหนดดังกล่าวมีผลให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ที่รอการพิจารณาขอรับคำยินยอมหรืออนุญาตค้างไว้ และผู้ที่อยู่ระหว่างยื่นคำขอต้องถูกตัดสิทธิ์ไปทันที ทั้งๆที่กรณีนางสาวศิริพร บินสมประสงค์ ได้ยื่นขอรับคำยินยอมให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ส.ป.ก.ตั้งแต่ปี 2554 และรอการพิจารณาจากคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(คปก.) มาเป็นเวลาเกือบ 7 ปี เมื่อมาถูกตัดสิทธิ์ดังกล่าวมีผลให้บริษัทได้รับความเสียหายจากการลงทุนในการสำรวจแร่และลงทุนเครื่องจักร กระทบต่อธุรกิจเหมืองที่ต้องยุติลงเพราะเหมืองเดิมปริมาณแร่สำรองจะหมดในปี 2561 กระทบต่อภาระผูกพันในการส่งแร่ต่อลูกค้าต่างประเทศ และผลกระทบปลายทางคือลูกจ้างเหมืองที่เป็นชาวบ้านในพื้นที่ต้องตกงานจำนวนมากหากต้องปิดเหมือง
ข้อเสนอของนางสาวศิริพร บินสมประสงค์ คือขอให้พิจารณาแก้ไขกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฉบับดังกล่าว ให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ได้รับสิทธิ์ในการขอรับคำยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินได้ทุกราย ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต โดยไม่เลือกปฏิบัติ
อนึ่ง คำสั่งคสช.ที่ 31/2560 ลงวันที่ 23 มิถุนายน 2560 เรื่องการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรและประโยชน์สาธารณะของประเทศระบุว่า คปก.มีอำนาจพิจารณาให้ความยินยอมหรืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินส.ป.ก. เพื่อดำเนินกิจการอื่นนอกเหนือจากเกษตรกรรม อีกทั้งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพื่อรองรับการใช้ประโยชน์ที่ดินส.ป.ก. ซึ่งรวมถึงการพิจารณาอนุญาตให้สำรวจหรือใช้ทรัพยากรธรรมชาติ กิจการด้านพลังงานและอื่นๆที่เป็นประโยชน์แก่เกษตรกรและประโยชน์สาธารณะของประเทศ โดยร่างแก้ไขพ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นไปแล้วเมื่อ 31 พฤษภาคม 2561 ก่อนจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ