รมต.ไปพิสูจน์ไฟฟ้าแม่เมาะ

14 ก.พ. 2559 | 00:00 น.
ช่วงวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสติดตาม พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เดินทางไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าแม่เมาะจังหวัดลำปาง เบื้องหลังของการเดินทางเยือนครั้งนี้ก็คือ รัฐมนตรีต้องการสัมผัสกับสถานที่จริง สัมผัสกลิ่นไอของบรรยากาศในในสถานที่จริง เพื่อพิสูจน์ว่าที่มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างทั้งแง่บวกและแง่ลบว่าเป็นอย่างไร

หลังจากเครื่องบินสัมผัสกับพื้นสนามบินลำปางแล้วรู้สึกผิดหวังเล็กน้อย เพราะสภาพอากาศวันนั้นไม่ต่ำกว่า 28 องศา ค่อนข้างร้อนเอาเสียด้วย สภาพท้องฟ้าโปร่งใสสามารถมองเห็นได้ในระยะทางไกล จากนั้นเดินทางสู่โรงไฟฟ้าแม่เมาะจังหวัดลำปาง ซึ่งห่างจากตัวจังหวัดประมาณกว่า 20กิโลเมตร รถเลี้ยวซ้ายออกจากถนนหลังมุ่งหน้าไปยังโรงไฟฟ้า ด้านขวามือจะมีถนนเล็กๆ เส้นหนึ่งลาดยางอย่างดีความกว้างไม่น่าจะเกิน 6 เมตรสร้างคู่ขนานกันไป เส้นนี้เป็นเส้นทางจักรยานระยะทาง 11 กิโลเมตรแขวงการทางจังหวัดลำปางเพิ่งจะสร้างเสร็จและเพิ่งเปิดใหม่ๆ เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เป็นเส้นทางจักรยานที่ลาดยางมะตอยเรียบร้อยเป็นเอาไว้ให้ผู้ใช้จักรยานปั่นเล่นหรือออกกำลังกาย

การรับฟังคำบรรยายเริ่มขึ้นภายในอาคารประชาสัมพันธ์โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ใช้เวลาในการบรรยายซักถามประมาณ 45 นาที สิ่งที่รัฐมนตรีได้บอกในที่ประชุมก็คือ เป็นครั้งแรกที่ได้มาโรงไฟฟ้าแห่งนี้ มาเพื่อเยี่ยมชมกิจการโรงไฟฟ้าและเยี่ยมชมเหมืองแร่ รวมทั้งสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปของโรงไฟฟ้า และชุมชนโดยรอบของโรงไฟฟ้า ในที่ประชุมได้ฝากเรียนให้รัฐมนตรีทราบว่า ปัญหาที่เป็นอุปสรรคของการทำเหมืองลิกไนต์ที่นี่ก็คือ การยื่นขอประทานบัตร การยื่นขอใบอนุญาตจากกรมป่าไม้ใช้เวลานานมาก กระบวนการนานถึง 7 ปี และใบอนุญาตออกให้คราวละ 10 ปี นอกจากใช้เวลาเนิ่นนานกว่าจะได้ใบอนุญาตแล้ว ก็ยังมีปัญหาที่โรงไฟฟ้าที่จะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อนทุกรอบ 10 ปีของใบอนุญาต คือ การใช้งบประมาณในการปลูกป่าทดแทน

ซึ่งขณะนี้ใช้เงินในการปลูกพืชทดแทนไปแล้วประมาณ 2,500 ล้านบาท ความจริงแล้วน่าจะจ่ายที่เดียวตลอดทุกใบอนุญาตไปเลย ไม่ใช่ต้องมาจ่ายทุก 10 ปี อย่างที่เป็นอยู่และพอรวมๆ แล้วเป็นเงินมหาศาล และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตต้องนำเอาค่าใช้จ่ายด้านการปลูกป่าเข้าไปเป็นต้นทุนและเป็นส่วนหนึ่งของค่า FT ทำให้ ต้นทุนต่อหน่วยที่ขายไฟฟ้าออกไปสูงขึ้นเพราะส่วนนี้ด้วย หากลดต้นทุนตัวนี้ได้ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระให้กับประชาชนได้ ซึ่งเรื่องนี้รัฐมนตรีได้ให้ กฟผ.ทำเป็นหนังสือเพื่อเสนอให้พิจารณาดำเนินการต่อไป และรัฐมนตรีรับปากว่าจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ทุกอย่างถูกต้องและเข้าที่เข้าทาง

คณะได้เดินทางไปดูไซด์งานก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนหน่วยใหม่ซึ่งดำเนินการไปได้ 15-20 % โรงไฟฟ้าแห่งนี้เพียงโรงเดียวสร้างทดแทนโรงไฟฟ้าโรงเก่าได้ถึง 4 โรง ซึ่งก็คือ หน่วยผลิตที่ 4-7 ที่ใช้งานมาแล้ว 32 ปี โรงไฟฟ้าแห่งใหม่ที่กำลังสร้างใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยยิ่งขึ้น ใช้ลิกไนต์ในปริมาณที่น้อยกว่าเดิม แต่สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าเดิม มีระบบกำจัดมลพิษที่ดีขึ้นกว่าเดิมด้วยเทคโนโลยีทันสมัยล่าสุด ซึ่งปกติแล้วปัจจุบันโรงไฟฟ้าแม่เมาะใช้ถ่านหินอยู่ปีละ 16 ล้านตัน

จากนั้นคณะได้เดินทางไปชมบ่อผลิตถ่านหินซึ่งอยู่ด้านทิศตะวันตกเป็นแอ่งถ่านหินที่ใหญ่มากลึกลงไปกว่า 200 เมตร มีเครื่องจักรกลทำงานตลอด 24 ชั่วโมง สภาพอากาศวันนี้เห็นทุกอย่างได้อย่างแจ่มชัด มีการควบคุมระบบการทำงานอย่างดี ไร้ฝุ่นละออง ไร้เสียงดัง แหล่งลิกไนต์แห่งนี้ใช้ได้อีกไม่เกิน 30-40 ปีก็จะหมด ต้องหาอย่างอื่นมาทดแทน

คณะพักค้างแรมที่เรือนพักรับรองเพื่อซึมซับสภาพแวดล้อม ขณะที่เครื่องจักรผลิตไฟฟ้ายังเดินเครื่องอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ไร้เสียง ไร้กลิ่นรบกวน ไร้ฝุ่นละออง ป้ายบอกสภาพแวดล้อมโดยเฉพาะค่าเฉลี่ยต่างๆ ที่รายงานออกมาผ่านหน้าจอ ยังเป็นเกณฑ์ที่ทำได้ดีกว่าตัวเลขมาตรฐานของทางการกำหนด "ผมก็ว่าบรรยากาศที่นี่ปกติดี ไม่เห็นมีอะไรน่าเป็นห่วง ทุกวันนี้เราต้องเชื่อตามมาตรฐานวิชาการเป็นข้อยุติในการถกเถียงกัน ไม่ใช่วัดกันที่ความรู้สึก" รัฐมนตรีกล่าวสรุปสั้นๆ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,130 วันที่ 11 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559