Crowdfunding พุ่ง! ปปง. ชี้เสี่ยงฟอกเงิน-ฉ้อโกง

24 ส.ค. 2561 | 13:45 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ส.ค. 2561 | 20:45 น.
สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ศึกษาความเสี่ยงการระดมเงินรูปแบบใหม่ พบว่า การระดมทุนสาธารณะ หรือที่เรียกว่า Crowdfunding เป็นความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง และอาจถูกใช้เป็นช่องทางในการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินที่ผิดกฎหมาย หรือ ช่องทางรวบรวมเงินเพื่อทำผิดกฎหมาย หรือ เครื่องมือทางการเมือง ทำสงครามข้อมูลข่าวสาร ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ แม้ในไทย Crowdfunding จะยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่กลับเป็นที่นิยมมากในสหรัฐอเมริกาและยุโรป รวมถึงประเทศผู้นำทางเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชียที่มีอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็ว

โดย Crowdfunding เริ่มจากองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ NGO อาศัยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและเครื่องมือทางการเงินมาใช้เรี่ยไร หรือ ระดมเงิน เพื่อให้การระดมเงินมีศักยภาพขึ้น ทำให้ Crowdfunding มีบทบาทสำคัญมาก และเกิดวิธีการใหม่ ๆ เช่น ผ่าน Social Media ในหลายรูปแบบ ซึ่งบริษัท Massolution ผู้เชี่ยวชาญการวิจัยได้ออกผลงานวิจัย ปี 2558 พบว่า มูลค่าเงินทุนหมุนเวียนในกิจกรรม Crowdfunding พุ่งสูงขึ้นกว่าเท่าตัวในแต่ละปี โดยปี 2558 มีมูลค่าสูงถึง 3.44 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 1.62 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2557 หรือกว่า 212% โดยเป็นเงินทุนหมุนเวียนในอเมริกาเหนือ 1.72 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ , เอเชีย 1.05 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยุโรป 6.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

"การขยายตัวแบบก้าวกระโดด ทำให้ Crowdfunding มีเงินทุนหมุนเวียนมหาศาล ประกอบกับการใช้อินเตอร์เน็ตเป็นสื่อกลางที่สามารถรับโอนเงินจากบุคคลจำนวนมากในเวลาอันสั้น ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบตามผลประโยชน์ที่ผู้โอนและผู้รับพอใจ จึงทำให้ Crowdfunding มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ ทั้งด้านการก่ออาชญากรรม ฟอกเงิน ฉ้อโกง รวมถึงสนับสนุนทุนในการก่อการร้าย และการฉ้อโกง หลอกลวง หรือ Crowdfunding Fraud ถือเป็นอาชญากรรมหลักที่แพร่ระบาดในสังคมไทยในขณะนี้"

ขณะเดียวกัน การส่งโอนมูลค่าเพื่อสนับสนุนโครงการต่าง ๆ ผ่านออนไลน์ มีช่องโหว่ในการพิสูจน์ตัวตนและข้อเท็จจริงที่ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะการตรวจสอบที่รัดกุมน้อย ทำให้อาชญากรสามารถแฝงการใช้ Crowdfunding สร้างแผนธุรกิจในลักษณะการดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ ซึ่งมักกำหนดเวลาสั้นและจะปิดตัวทันทีหลังการโอนย้ายถ่ายเททรัพย์สินเสร็จ รวมถึงการทยอยยักย้ายถ่ายเทสินทรัพย์ระหว่างประเทศ ก็สามารถทำได้โดยการสร้างเรื่องบังหน้าที่ไม่มีอยู่จริง จุดอ่อนสำคัญยังอยู่ที่การโอนเงินผ่านบัตรเงินสด หรือ Prepaid Card ชนิดต่าง ๆ แทนการโอนเงินสดเข้าบัญชีผ่านสถาบันการเงิน ซึ่งในทางฟอกเงินถือว่าเป็นการปกปิดตัวตันผู้กระทำธุรกรรมได้เป็นอย่างดี

สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือน เม.ย. ปีนี้ พบธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 10,168 ธุรกรรมจากเดือน มี.ค. ที่มี 7,327 ธุรกรรมโดยรวม ณ สิ้นเดือน เม.ย. ปริมาณธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยสะสมที่ 36,927 ธุรกรรมจากที่ได้รับรายงานทั้งสิ้น 9,384,918 ธุรกรรมและในจำนวนนี้มีธุรกรรมที่เป็นการโอนเงิน หรือ ชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ 8,568,858 ธุรกรรม


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,394 วันที่ 23-25 ส.ค. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ก.ล.ต.ปรับปรุงเกณฑ์ crowdfunding รองรับเทคโนโลยี
จุฬาฯลุยCrowdfundingระดมทุนผลักดันนวัตกรรม


e-book-1-503x62-7