นิว‘ซิตี้-แจ๊ซ’เสียบอีโคคาร์ ฮอนด้าวาง1.0 ลิตรเทอร์โบ-ปูพรมไฮบริดทุกรุ่น

23 ก.ย. 2561 | 00:38 น.
ยุคใหม่ “ฮอนด้า” ปรับไลน์โปรดักต์ยกแผง จับ “ซิตี้-แจ๊ซ โฉมใหม่” เสียบอีโคคาร์ วางเบนซิน 3 สูบ 1.0 ลิตร เทอร์โบ คาดรุ่นแรกเปิดตัวปลายปีหน้า และเตรียมปูพรมเทคโนโลยีไฮบริดในรถยนต์ทุกรุ่น ประเดิม “แอคคอร์ด โมเดลเชนจ์” ต้นปี 2562 ที่สามารถนับยอดผลิตรวมกับอีโคคาร์รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษี

ค่ายรถยนต์ฮอนด้า เตรียมปรับทัพโปรดักต์ในไทยครั้งใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ทั้งอีโคคาร์ เฟส 2 และรถยนต์ไฟฟ้า (ไฮบริด,ปลั๊ก-อินไฮบริด) และเทคโนโลยียานยนต์ในระดับโลก

สำหรับแผนรถยนต์ไฟฟ้า ฮอนด้าเพิ่งได้การอนุมัติส่งเสริมการลงุทนในส่วนของรถไฮบริด (Hybrid Electric Vehicles-HEV) และแบตเตอรี่ มูลค่าลงทุน 5,821 ล้านบาท ที่โรงงานในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.พระนคร ศรีอยุธยา และ จ.ปราจีนบุรี  ไม่รวมแผนลงทุนของบรรดาซัพพลายเออร์อีกกว่า 18,000 ล้านบาท โดยรถไฮบริดโมเดลแรกในแพ็กเกจส่งเสริมการลงทุนนี้ คือ ฮอนด้า แอคคอร์ด ที่เตรียมเปิดตัวในปีหน้า (ยังมีรุ่นเครื่องยนต์เบนซินเป็นทางเลือกเหมือนเดิม)

honda accord

“ตามวิสัยทัศน์ ปี 2030 ฮอนด้าจะเดินหน้าพัฒนายนตร กรรมเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในทุกเซ็กเมนต์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะมุ่งเน้นพัฒนายนตรกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ระบบไฟฟ้าในหลากหลายรูปแบบ ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย” นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวและว่า

ตอนนี้เมืองไทยยังเหมาะสมกับเทคโนโลยีไฮบริด ก่อนที่จะขยับไปถึงอีวีในอนาคต ส่วนรถไฮบริดโมเดลแรกภายใต้แพ็กเกจส่งเสริมการลงทุนจาก บีโอไอคือ ฮอนด้า แอคคอร์ด จากนั้น ฮอนด้าจะเพิ่มเทคโนโลยีไฮบริดไปยังรถเซ็กเมนต์ อื่นๆ เมื่อถึงเวลาโมเดลเชนจ์

“สัดส่วนการผลิตรถไฮบริดของฮอนด้าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และการพัฒนาแพลตฟอร์มใหม่ของฮอนด้าจะรองรับระบบขับเคลื่อนแบบไฮบริด และอีวี ตามนโยบายระดับโลกที่บริษัทแม่ต้องการเพิ่มยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าให้เป็น 2 ใน 3 ของรถยนต์ทั้งหมด” นายพิทักษ์กล่าวสรุป

นั่นเป็นแผนรถยนต์ไฮบริดของฮอนด้าภายใต้แพ็กเกจส่งเสริมการลงทุนใหม่ของรัฐบาล ทว่าโครงการที่ทุ่มเทไปก่อนหน้าและทำตามนโยบายรัฐบาลเช่นกันอย่าง “อีโคคาร์”ต้องยอมรับว่า ฮอนด้าไม่ประสบความสำเร็จทางด้านยอดขายนัก

เหตุมาจากฮอนด้า พัฒนารถยนต์ขนาดเล็กรุ่นใหม่ “บริโอ้” ที่ระดับของผลิตภัณฑ์ตํ่ากว่าซับคอมแพ็กต์ (บี-เซ็กเมนต์) ร่วมโครงการอีโคคาร์ ต่างจากคู่แข่งที่ใช้ทางลัด คือนำรถในกลุ่มซับคอมแพ็กต์ที่มีอยู่เดิม พอถึงจังหวะเปลี่ยนโมเดลใหม่ ก็จับวางเครื่องยนต์ขนาดเล็กให้เข้าตามเงื่อนไขของโครงการ

Print

ในเชิงโปรดักต์ทั้ง โตโยต้า ยาริส, ซูซูกิ สวิฟท์/เซียส หรือ นิสสัน มาร์ช/อัลเมร่า จึงถูกใจคนไทยในแง่ขนาดตัวถังที่ใหญ่ และการออกแบบที่ดูยกระดับกว่า ขณะที่มาสด้าส่ง “มาสด้า 2”เข้าโครงการอีโคคาร์ เฟส 2 พร้อมขายในราคารถระดับซับคอมแพ็กต์ ยังได้การตอบรับดีเช่นกัน

สำหรับยอดขาย “บริโอ้” 7 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ค.61) รุ่นแฮตช์แบ็ก ทำได้เฉลี่ย 120 คันต่อเดือน ส่วนตัวถังซีดาน (อเมซ) 50-60 คันต่อเดือน ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งในเซ็กเมนต์นี้

ทั้งนี้ “บริโอ้ โฉมใหม่” ที่เพิ่งเผยโฉมให้เห็นในอินเดียและอินโดนีเซีย แม้จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร ซึ่งใน 2 ประเทศดังกล่าว ถือเป็นรถราคาประหยัด ราคาเข้าถึงง่าย และได้รับความนิยมพอสมควร แต่สำหรับเมืองไทยมีโอกาสที่ฮอนด้าจะไม่ทำตลาดต่อ และหันไปนำรถซับคอมแพ็กต์ (ระดับเดียวกับคู่แข่ง) มาสานต่อในโครงการอีโคคาร์แทน

ดังนั้น ถ้าเป็นไปตามนโยบายที่ฮอนด้าประกาศไว้ เมืองไทยอาจจะได้เห็น “ซิตี้” หรือ “แจ๊ซ” วางเครื่องยนต์ขนาดเล็กกว่า 1.5 ลิตร เพื่อตีตั๋วเข้าโครงการอีโคคาร์ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงกับเครื่องยนต์ เบนซิน 3 สูบ 1.0 ลิตร เทอร์โบ ภายใต้เทคโนโลยีเอิร์ธดรีม ที่จะผ่านเงื่อนไขไอเสียและอัตราบริโภคนํ้ามันอันเข้มงวดของอีโคคาร์เฟส 2 อย่างแน่นอน  เช่นเดียวกับการมีรุ่นไฮบริดเป็นทางเลือก ซึ่งแผนนี้จะทำให้การผลิตของฮอนด้ายืดหยุ่น และเข้าเงื่อนไขการผลิตทั้ง 2 โครงการตามนโยบายรัฐบาล คือ อีโคคาร์ และรถยนต์ไฟฟ้า

090861-1927-9-335x503

โดยเฉพาะเงื่อนไขโครงการอีโคคาร์ ถ้าเป็นเฟสแรก ค่ายรถที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจะต้องผลิตให้ถึง 1 แสนคันภายในปีที่ 5 และอีโคคาร์เฟส 2 ต้องผลิตให้ถึง 1 แสนคันในปีที่ 4 เพื่อรับสิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้ตั้งแต่ 6-8 ปี (ไม่รวมการยกเว้นภาษีเงินได้ในโครงการไฮบริดที่ได้ลดหย่อนเพิ่มเติมตามการลงทุนผลิตชิ้นส่วนอีกด้วย)

“ซิตี้” หรือ “แจ๊ซ” ไฮบริด น่าจะมาตามแผนซึ่งสอดคล้องกับนโยบายระดับโลกของฮอนด้า ตลอดจนเตรียมสู้กับคู่แข่ง “โตโยต้า” ที่จะใส่เทคโนโลยีไฮบริดลงในรถยนต์ทุกรุ่นเช่นกัน ภายใต้แพ็กเกจ ลงทุน 20,000  ล้านบาท

ทั้งนี้ “ซิตี้” และ “แจ๊ซ” รุ่นปัจจุบันกำลังเดินหน้าเข้าสู่ช่วงปลายอายุโมเดล และถ้าเป็นไปตามระยะเวลาของฮอนด้า เมืองไทยอาจจะได้เห็น “ซิตี้ โมเดลเชนจ์” วางเครื่องยนต์เบนซิน 3 สูบ 1.0 ลิตร เทอร์โบ เปิดตัวช่วงปลายปี 2562 หรือต้นปี 2563 ภายใต้โครงการอีโคคาร์เฟส 2 ส่วน “แจ๊ซ” จะทำตลาดหลังจากนั้นไม่นาน

ปัจจุบันเครื่องยนต์ VTEC แบบ 3 สูบ ขนาด 1.0 ลิตร ไดเร็กต์อินเจ็กชัน เทอร์โบบล็อกนี้ ถูกนำมาประจำการใน ซีวิค เวอร์ชันที่ทำตลาดในยุโรป และจีน ตอบสนองทั้งอัตราบริโภคนํ้ามันน้อยและปล่อยไอเสียตํ่า

สำหรับ ฮอนด้า ออโตโมบิล ประเทศไทย ตั้งเป้าขายรถยนต์ในปีนี้ไว้ 1.26 แสนคัน ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2560 ที่ทำได้กว่า 1.27 แสนคัน

หน้า 32-33 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,402 วันที่ 20 - 22 กันยายน พ.ศ. 2561

e-book-1-503x62-7