‘TSBI’ หนุนทำโซเชียลบิสิเนส 3 บิ๊กวงการชูทางเลือกใหม่ซีเอสอาร์เมืองไทยรับเศรษฐกิจทรุด

23 ก.พ. 2559 | 06:00 น.
ชี้เทรนด์ซีเอสอาร์มาแรงต่อเนื่อง ไทยพัฒน์ผนึก YCA - อิมเมจพลัส ตั้ง TSBI หนุนภาคเอกชนทำโซเชียล บิสิเนสแบบยั่งยืน ไม่สูญเงินต้น ชูต้นแบบบังกลาเทศ เป็นทางเลือกใหม่ท่ามกลางเศรษฐกิจซบเซา ชี้เดือนมีนาคมพร้อมจัดสัมมนาใหญ่เปิดตัวองค์กร

[caption id="attachment_32715" align="aligncenter" width="346"] ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ
ผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์[/caption]

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการผู้อำนวยการ สถาบันไทยพัฒน์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ไทยพัฒน์ ร่วมกับ YUNUS Center AIT (YCA) และอิมเมจพลัส คอมมิวนิเคชั่น จัดตั้งหน่วยงานริเริ่มธุรกิจเพื่อสังคมแห่งประเทศไทย (Thailand SocialBusiness Initiative : TSBI) เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้เรื่อง Social Businessหรือ ธุรกิจเพื่อสังคมและผลักดันให้เกิดเป็นโครงการธุรกิจเพื่อสังคมแบบริเริ่มที่จะนำไปสู่โครงการธุรกิจเพื่อสังคมต้นแบบในระดับประเทศ ซึ่งแนวคิดนี้เกิดขึ้นโดยศ.มูฮัมมัด ยูนุส เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี2006

อย่างไรก็ดีที่ผ่านมาประเทศไทยจะคุ้นเคยกับการทำโซเชียล เอ็นเตอร์ไพรส์มากกว่า ซึ่งแท้จริงแล้วทั้ง2 รูปแบบมีความแตกต่างกัน โดยโซเชียล บิสิเนสจะมุ่งทำธุรกิจเพื่อสังคมโดยไม่หวังผลกำไร ขณะเดียวกันจะทำให้ธุรกิจไม่สูญเงินต้น และยังมีเงินหมุนเวียนในการทำกิจการต่อเนื่องซึ่งจะทำให้สามารถดำเนินธุรกิจได้แม้ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ และเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นโดยจุดเด่นของ TSBI คือ การนำองค์ความรู้ของแต่ละภาคส่วนมาผสานรวมกัน เพื่อสร้างความเข้าใจและแนวทางการดำเนินงานที่ถูกต้อง โดย YCA จะนำต้นแบบจากบังกลาเทศที่ประสบความสำเร็จมาใช้ในเมืองไทย

ขณะที่ไทยพัฒน์ซึ่งมีประสบการณ์ด้านการทำ CSR - in - processมาวางแผนในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมให้กับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขณะที่อิมเมจพลัส จะมีความเชี่ยวชาญด้านซีเอสอาร์ คอมมิวนิเคชันจากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม

“ในช่วงที่ผ่านมาเรื่องของซีเอสอาร์เข้ามามีบทบาทอย่างสูงในภาคเอกชน ซึ่งโซเชียล บิสิเนส เป็นอีกทางเลือกของการทำซีเอสอาร์ในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้ โดยเป้าหมายของทีเอสบีไอ คือ การดำเนินการใน 3 เรื่องได้แก่“ตัวอย่าง” คือการนำเสนอตัวอย่างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการทำโซเชียลบิสิเนสมาให้คนไทยได้รู้จัก ศึกษา หลังจากนั้นจะส่งเสริมให้ภาคเอกชนดำเนินการและใช้เป็น “ตัวแบบ” เพื่อให้เป็นรูปธรรมก่อนที่จะส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน ผ่าน“ตัวช่วย” เช่น การกระจายองค์ความรู้สู่ชุมชน”

ผ่านกิจกรรมต่างๆ โดยในเดือนมีนาคมนี้ ทีเอสบีไอ จะเริ่มต้นจัดสัมมนาใหญ่ในหัวข้อ “การส่งเสริมพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคมในประเทศไทย”เพื่อสร้างการรับรู้ต่อองค์กร พร้อมกับการจัดเลิร์นนิ่ง โปรแกรม ให้กับองค์กรที่สนใจด้วย

ดร.พิพัฒน์ กล่าวในตอนท้ายว่าจากอดีตเมื่อ 10 ปีรูปแบบของการช่วยเหลือสังคมคือการบริจาค แต่เมื่อก้าวเข้าสู่ยุค 3.0 เปลี่ยนแปลงกลายเป็นยุค sharevalue หรือการมีส่วนร่วมกันระหว่างองค์กรกับสังคม โดยการใช้กระบวนการทางธุรกิจมาช่วยเหลือสังคม

ขณะที่เอกชนก็ใช้ประเด็นทางสังคมมาเป็นโจทย์ทางธุรกิจ ทำให้เขาต้องมองสังคมมากขึ้น ถ้าตีโจทย์แตก ปัญหาทางสังคมก็ได้รับการแก้ไขไปได้ ธุรกิจและสังคมต่างก็ได้แบบ win-win

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,133 วันที่ 21 - 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559