สิงคโปร์กลุ้มใจเพิ่มประชากรไม่ได้

26 ก.พ. 2559 | 05:00 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ก.พ. 2559 | 14:52 น.
ทั่วโลกยอมรับกันว่า สิงคโปร์มีรัฐบาลที่เก่งที่สุดในโลก ข้าราชการทันสมัยมีวิสัยทัศน์และทำงานมีประสิทธิภาพจนสามารถแก้ปัญหาของประเทศได้เกือบทุกเรื่อง ยกเว้นปัญหาเดียวที่แก้ไม่ได้ คือ การเพิ่มประชากร

รัฐบาลสิงคโปร์ออกมาตรการสนับสนุนให้คู่สามีภรรยามีลูกมากกว่า 1 คนโดยเสนอให้สิทธิประโยชน์ทั้งเงินสด เงินช่วยเหลือการคลอดบุตร สิทธิ์การลาคลอดและเลี้ยงดูบุตร เงินช่วยเหลือเลี้ยงดูบุตรและสิทธิประโยชน์อีกหลายเรื่อง แต่สามีภรรยาชาวสิงคโปร์ยังนิยมมีลูกคนเดียว

หนังสือพิมพ์สเตรตไทม์สรายงานว่า การสำรวจแบบเจาะลึกพบว่า คู่แต่งงานส่วนใหญ่นิยมมีลูกคนเดียวและมีลูกช้า เพราะรู้สึกว่า การมีลูกเป็นภาระและอุปสรรคสำหรับคู่สามีภรรยาที่ทำงานทั้งคู่ ทั้งในเรื่องของชีวิตการทำงาน ความเจริญก้าวหน้า และการท่องเที่ยวเดินทาง

ปัญหานี้ใหญ่เพราะว่า ขนาดในปีที่แล้วแม้ว่าจะมีเด็กชาวสิงคโปร์ลืมตาดูโลก 33,793 คนมากที่สุดในรอบ 13 ปี แต่อัตราการเจริญพันธุ์ของสิงคโปร์ยังอยู่ต่ำกว่า 1.4 ทั้งที่อัตราควรจะเป็น 2.1 แค่เพื่อไม่ให้จำนวนประชากรชาวสิงคโปร์ลดลง

หนังสือพิมพ์เดอะซันเดย์ไทม์สเป็นสื่อสิ่งพิมพ์อีกฉบับหนึ่งที่ทำการสำรวจโดยเน้นไปที่ผู้หญิงชาวสิงคโปร์พบว่า ปัญหาเริ่มก่อนแต่งงานด้วยซ้ำ ผู้หญิงสิงคโปร์เน้นการศึกษาและการทำงานซึ่งอาจเป็นผลมาจากนโยบายพัฒนาระบบการศึกษาของรัฐ ทำให้ผู้หญิงแต่งงานช้า หรืออาจจะไม่แต่งเลย โดยการสำรวจส่วนหนึ่งพบว่า อีกปัญหาหนึ่ง คือ ค่าเลี้ยงดูและให้การศึกษาบุตรแพงจนคนไม่อยากมีลูก
การศึกษาบุตรในสิงคโปร์แพง เนื่องจากพ่อแม่ ต้องจ่ายเงินค่าการศึกษาไม่เฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น แต่ต้องจ่ายค่าเรียนพิเศษมากมาย ทั้งในเรื่องที่เกี่ยวกับวิชาการและไม่ใช่วิชาการโดยมีการศึกษาพบว่า ในปี 2556 ค่าใช้จ่ายครัวเรือนในส่วนของการเรียนพิเศษเพิ่มขึ้นเป็น 1,100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 28,000 ล้านบาท) จาก อยู่ที่ 650 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 16,524 ล้านบาท) ในปี 2546

การศึกษาของซันเดย์ไทม์สพบว่า ในปี 2513 อายุเฉลี่ยของเจ้าสาวอยู่ที่ 23.1 ปี ในปี 2533 อายุเฉลี่ยของเจ้าสาวอยู่ที่ 25.3 ปี และปีที่แล้วปรากฏว่า อายุเฉลี่ยของเจ้าสาวอยู่ที่ 28.2 ปี เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีการสำรวจพบว่า อัตราผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว รวมหย่าหรือเป็นม่ายที่ตัดสินใจไม่มีลูกปัจจุบันเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัวในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา

Dr. Paulin Straughan อาจารย์สังคมวิทยาของมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ทำวิจัยในปี 2555 พบว่า คนหนุ่มสาวสิงคโปร์มีแนวโน้มสนใจสร้างฐานะให้มีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีและเติมเต็มความต้องการส่วนบุคคลมากกว่าจะแสวงหาคู่ หรือมีครอบครัว ทำให้การแต่งงานไม่ได้เป็นความต้องการในช่วงต้นๆ ของชีวิตวัยทำงานอีกต่อไป

Prof. Jean Yeung ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยประชากรและครอบครัวให้สัมภาษณ์ ซันเดย์ไทม์ส ในทำนองเดียวกันว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราการเจริญพันธุ์ของสิงคโปร์ต่ำเพราะมีการแต่งงานน้อย ‘คนหนุ่มสาวไม่อยากแต่งงาน ถ้าเราอยากจะให้สิงคโปร์มีเด็กเกิดใหม่มากขึ้นจะต้องมีการทุ่มเทเพื่อให้มีการแต่งงานมากขึ้น’

มีพ่อแม่บางคนที่ให้เหตุผลว่า เหตุใดจึงมีลูกเพียงคนเดียว แม้รัฐบาลจะให้เงินช่วยเหลือลูกคนที่สองว่า ‘รัฐบาลให้เงินตอนแรกเท่านั้น แต่การมีลูกเป็นค่าใช้จ่ายระยะยาว เราไม่รู้ว่าตอนที่ลูกโตขึ้นและต้องเข้าโรงเรียนสภาพเศรษฐกิจเป็นอย่างไร’

ซันเดย์ไทม์ส รายงานว่า ความกังวลใจในเรื่องการเลี้ยงดูบุตรซึ่งเป็นภาระในระยะยาว สะท้อนให้เห็นหลังจากเกิดวิกฤตการเงินโลกใน 2552 ที่ปรากฏในปีต่อจากนั้นมีเด็กเกิดเพียง 30,131 คนคิดเป็นอัตราการเจริญพันธุ์เพียง 1.15 ซึ่งต่ำเป็นประวัติการณ์

รัฐบาลสิงคโปร์กำลังจะแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มสิทธิ์วันลาคลอด ซึ่งเป็นเสมือนการเพิ่มเวลาให้กับคุณแม่และคุณพ่อได้มีเวลาเลี้ยงดูบุตร ซึ่งนอกจากจะให้สิทธิ์วันลาเพิ่มแล้วการปรับสำนักงานให้มีที่เลี้ยงเด็กก็จะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สนับสนุนการมีลูก อย่างไรก็ดีผู้เชี่ยวชาญระบุว่า สิ่งสำคัญน่าเป็นการเปลี่ยนความคิดของสังคมมากกว่าและรัฐบาลดูเหมือนกำลังจะไปในแนวทางนั้น

ในช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีลีเซียนลุง ประกาศว่า ‘ครอบครัวเป็นเสาหลักและแรงหนุน ที่ช่วยให้เราแต่ละคนผ่านชีวิตช่วงตกต่ำและเวลาแห่งความสำเร็จ ลูกๆ เติมเต็มประสบการณ์ชีวิตทั้งช่วงทุกข์และสุข รัฐบาลจะช่วยพ่อแม่ในหน้าที่เลี้ยงดูบุตรอย่างเต็มที่’

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,134 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559