กรอ.บี้อนุมัติตั้งโรงงานยาง ตั้งเป้า 80 แห่งเงินทุน 5พันล้าน

27 ก.พ. 2559 | 09:00 น.
กรอ.จี้คลอดรง.4 ให้กับโรงงานยาง หวังหนุนนโยบายรัฐบาลในการช่วยเหลือเกษตรกร เผยปีนี้ตั้งเป้าปล่อยใบอนุญาต 80 แห่ง เงินลงทุน 5 พันล้านบาท ชี้ 2 เดือน มีโรงงานที่เปิดดำเนินการแล้ว 7 แห่ง และจ่อเปิดอีก 9 แห่ง ช่วยเพิ่มการใช้วัตถุดิบยางได้ 3.34 หมื่นตันต่อปี พร้อมชงครม.อนุมัติศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ มี.ค.นี้ หวังดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาตั้งโรงงานผลิตล้อรถยนต์มากขึ้น

นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้กรอ.อยู่ระหว่างเร่งรัดการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานและขยายกิจการ(รง.4)ให้กับอุตสาหกรรมยาง เพื่อเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้น เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร โดยในปีนี้ที่ตั้งเป้าออกใบอนุญาตไว้จำนวน 80 แห่ง มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 5 พันล้านบาท สามารถเพิ่มการรับซื้อยางและเพิ่มปริมาณการผลิตผลิตภัณฑ์ยางมากขึ้น

โดยในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีโรงงานยางที่เปิดดำเนินการไปแล้วจำนวน 5 โรงงาน มีปริมาณการใช้น้ำยางสด 1.1 พันตันต่อปี ยางก้อนถ้วย 1 หมื่นตันต่อปี ยางแท่ง 1 หมื่นตันต่อปี และยางแผ่น 100 ตันต่อปี ขณะที่เดือนกุมภาพันธ์ 2559 ได้เปิดดำเนินการไปแล้วอีกจำนวน 2 โรงงาน มีปริมาณการใช้น้ำยางสด 1.565 พันตันต่อปี และเตรียมจะเปิดดำเนินการอีกจำนวน 9 โรงงาน มีปริมาณการใช้น้ำยางสด 1.065 หมื่นตันต่อปี ซึ่งการขยายโรงงานทั้ง 16 โรงงาน จะมีการใช้วัตถุดิบยางเพื่อการผลิตประมาณ 3.3425 หมื่นตันต่อปี

สำหรับอีก 64 โรงงาน ยังอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้างโรงงานและติดตั้งเครื่องจักร ซึ่งในปีนี้หากโรงงานยางมีการขยายและเปิดกิจการครบทั้ง 80 แห่ง จะทำให้มีการใช้ยางดิบ 8.7 แสนตัน ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการโรงงานมีปัญหาติดขัดในการขยายโรงงาน กรอ. จะมีทีมคณะทำงานติดตามเร่งรัดและให้คำปรึกษาแนะนำโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบในการผลิตอุตสาหกรรมยางขั้นกลางและขั้นปลาย จะคอยให้คำแนะนำและอำนวยความสะดวกในการประสานงานในทุกๆ เรื่อง ที่ผู้ประกอบการไม่สามารถแจ้งเริ่มประกอบกิจการได้ โดยทีมคณะทำงาน จะช่วยเหลือเพื่อผลักดันให้โรงงานประกอบกิจการได้โดยเร็วขึ้น

นายพสุ กล่าวอีกว่า ขณะนี้รัฐบาลและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งแก้ปัญหายางพารา โดยการเพิ่มความต้องการใช้ยางและสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ เช่น ล้อยาง ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่ายาง ซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมยางล้อ โดยรัฐบาลกำลังเร่งส่งเสริมให้สร้างโรงงานผลิตยางล้อที่ทันสมัย และสร้างศูนย์ทดสอบคุณภาพยางล้อให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากล

โดยกรอ.จะเร่งดำเนินการจัดตั้งศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ เพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตยางล้อ ยานยนต์และชิ้นส่วน เนื่องจากศูนย์ทดสอบมีศักยภาพด้านการทดสอบแบบครบวงจรและรับรองผลิตภัณฑ์ได้ตามมาตรฐานสากล จะเป็นการดึงดูดให้บริษัทผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ยางล้อ ยานยนต์และชิ้นส่วนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย และสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการที่มีฐานการผลิตในไทยอยู่แล้วขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น และที่สำคัญจะช่วยแก้ไขปัญหายางพารา ส่งผลให้เกิดการใช้วัตถุดิบยางมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางล้อ ซึ่งมีความต้องการใช้ยางอย่างมาก ทำให้เพิ่มปริมาณการใช้ยางเพื่อนำมาแปรรูปมากขึ้น

ทั้งนี้ ศูนย์ทดสอบฯ ดังกล่าวจะดำเนินการทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ การทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยางล้อตามมาตรฐาน UN R117 การทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยางล้อประเภทอื่น และการทดสอบและรับรองผลิตภัณฑ์ยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งศูนย์ทดสอบฯ นี้ กระทรวงอุตสาหกรรมกำลังเตรียมเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติในเดือนมีนาคมนี้

ด้าน ดร.เกียรติชัย ลิมปิโชติพงษ์ ประธานกรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทโอตานิฯ กล่าวว่า ในปี 2559 กลุ่มบริษัทจะเพิ่มการใช้ยางธรรมชาติเพิ่มขึ้นเป็น 3.6 หมื่นตันต่อปี จากปัจจุบัน 2.2 หมื่นตันต่อปี โดยได้เพิ่มสายการผลิตยางเรเดียลรถยนต์นั่ง ในระยะ 3 ปี โดยระยะแรกจะเริ่มการผลิตในเดือนกรกฎาคม 2559 และภายในปี 2562 จะมีกำลังการผลิต 6 ล้านเส้นต่อปี มีความต้องการใช้ยางธรรมชาติ 2 หมื่นตันต่อปี และคาดว่าจะเริ่มการผลิตระยะ 2 ภายในปี 2563 มีกำลังการผลิตอีก 6 ล้านเส้นต่อปี โดยจะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตยางสำหรับรถยนต์นั่งรวม 12 ล้านเส้นต่อปี คาดว่าในปี 2564 บริษัทจะมีความต้องการใช้ยางธรรมชาติกว่า 7.6 หมื่นตันต่อปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,134 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559