USMCA ข้อตกลงการค้า ที่เกิดมาเพื่อฆ่าจีนและเวียดนาม

10 ต.ค. 2561 | 04:00 น.
ข้อตกลงสหรัฐเมริกา-เม็กซิโก-แคนาดา (US-Mexico-Canda Agreements: USMCA) ระหว่าง 3 ประเทศในภูมิภาคอเมริกาเหนือได้มีการบรรลุการเจรจาไปแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน 2018 ที่ผ่านมา หลายๆ คนมองว่าจริงๆ แล้วข้อตกลงนี้ก็ไม่ได้มีอะไรใหม่มากมายนัก บางท่านถึงกับขนานนามว่า แท้จริงแล้ว USMCA คือ NAFTA 2.0 หรือข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือเวอร์ชัน 2.0 หลังจากที่เคยบรรลุข้อตกลง NAFTA 1.0 ไปแล้วเมื่อ 25 ปีที่แล้ว (ปี 1992-1993)

แต่สำหรับหลายๆ คน มองว่า สิ่งที่ใหม่ที่สุดสำหรับข้อตกลง USMCA มี 2 ประการนั่นคือ กติกาใหม่ในเรื่องของการค้าที่เกี่ยวข้องกับโลกดิจิตอล ซึ่งแน่นอนนี่คือประเด็นใหม่ที่ไม่เคยมีกล่าวถึงใน NAFTA 1.0 ทั้งนี้ก็เพราะเมื่อ 25 ปีก่อน คนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเข้าถึงโลกไซเบอร์ และโลกเรายังไม่ได้ทำการค้าผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ดังนั้นเพื่อให้ข้อตกลงทันกับยุคสมัยปัจจุบันข้อตกลง USMCA จึงมีข้อตกลงชุดใหม่ที่เกี่ยวข้องกับโลก ในยุค Cyber-Physical System

ส่วนเรื่องที่ 2 ที่หลายๆ คน พูดถึงกันและตื่นเต้นมากกว่านั่นคือ เรื่องของการกีดกันจีนและเวียดนามออกจากเวทีการค้าโลกและห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกับทวีปอเมริกาเหนือ รวมทั้งความพยายามในการโยกห่วงโซ่มูลค่าระดับนานาชาติ (Global Value Chains: GVCs) กลับจากจีนและอาเซียนไปยังทวีปอเมริกาเหนืออีกครั้ง

แน่นอนว่าเรื่องที่ 2 นี้ USMCA พยายามตั้งกฎระเบียบที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่ขัดแย้งกับกรอบการเจรจาระดับพหุภาคีหรือกฎระเบียบขององค์การการค้าโลก (World Trade Organisation: WTO) (เพราะทุกวันนี้ที่สหรัฐฯประกาศสงครามการค้ากับนานาประเทศก็ละเมิดกฎของ WTO มากพออยู่แล้ว) โดยข้อตกลง USMCA จะไปเล่นประเด็นกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิด อาทิ ปรับเพิ่มสัด ส่วนของมูลค่าชิ้นส่วนที่ประกอบเป็นยานยนต์ที่ต้องเป็นชิ้นส่วนที่ผลิตภายในประเทศสมาชิก (Local Content) จาก 62.5% เป็น 75%  จึงจะสามารถใช้สิทธิประโยชน์การค้าปลอดภาษีใน USMCA ได้ ซึ่งแน่นอนว่านี่เป็นความพยายามในการดึงกลับห่วงโซ่อุปทานด้านยานยนต์ซึ่งเคยอยู่ในเอเชียให้กลับไปอยู่ในอเมริกาเหนือ

TP7-3408-A

พร้อมกับการออกมาตรฐานด้านแรงงานใหม่ ที่กำหนดให้สัดส่วนของมูลค่าสินค้ายานยนต์ที่จะใช้สิทธิประโยชน์ USMCA ต้องมีมูลค่า Local Content มากกว่า  40-45% มาจากแรงงานที่มีอัตราค่าจ้างสูงกว่า 16 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ชั่วโมง (ประมาณ 520 บาท/ชั่วโมง) ซึ่งนั่นทำให้ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ผลิตในประเทศกำลังพัฒนาที่แน่นอนว่าค่าแรงตํ่ากว่า 16 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ชั่วโมง ไม่สามารถเข้าถึงตลาดอเมริกาเหนือได้อย่างเดิม แต่เท่านั้นยังไม่พอครับ

USMCA มาตรา 32.10 Non-Market Economy FTA ยังรอนสิทธิ์ประเทศสมาชิกในการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศที่มีสถานะเป็นประเทศ Non-MarketEconomy (NME) อีกด้วย ซึ่งแน่นอนว่าประเทศที่มีสถานะดังกล่าวและถูกจับตามากที่สุด นั่นคือ จีน และเวียดนาม ซึ่งยังมีสถานะ NME อยู่ในองค์การการค้าโลก

ซึ่งนั่นหมายความว่าหากแคนาดา เม็กซิโก และ/หรือ สหรัฐอเมริกา ประเทศใดประเทศหนึ่งต้องการเปิดการเจรจาการค้าเสรีกับประเทศ NME จะต้องแจ้งให้สมาชิก USMCA ที่เหลืออีก 2 ประเทศทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 เดือน และเมื่อเจรจาสำเร็จ ก่อนลงนาม 30 วัน ประเทศที่จะลงนาม FTA กับ NME ต้องเปิดเผยข้อตกลงทั้งหมดให้กับสมาชิก USMCA ทราบ และหากไม่ทำตาม หรือประเทศสมาชิก USMCA อื่นไม่เห็นด้วย นั่นหมายถึงการยกเลิกการเป็นสมาชิก USMCA

ยกตัวอย่างเช่น หากรัฐบาลแคนาดาต้องการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับจีน (ซึ่งรัฐบาลแคนาดาเองก็กำลังให้ความสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงที่จีนและสหรัฐฯกำลังทำสงครามการค้ากันอยู่นี้ การทำ FTA กับตลาดที่มีขนาดใหญ่และเจริญเติบโตเร็วที่สุดในโลกคือโอกาสทางการค้าและการลงทุนมหาศาล) ซึ่งหากแคนาดาจะเจรจากับจีน นั่นหมายความว่าแคนาดาต้องแจ้งความประสงค์นี้กับสหรัฐฯและเม็กซิโกล่วงหน้าเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือน

และเมื่อเจรจาสามารถหาข้อสรุปได้และเข้าสู่กระบวนการลงนาม รัฐบาลแคนาดาต้องนำเอาตัวข้อตกลงที่ผ่านการเจรจาทั้งหมดไปนำเสนอให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโกรับทราบก่อนที่จะลงนามกับจีนอย่างน้อย 30 วัน และหากสหรัฐฯและ/หรือเม็กซิโกไม่เห็นชอบในสิ่งที่แคนาดาตกลงกับจีน สหรัฐฯและ/หรือเม็กซิโกมีสิทธิ์ที่จะยุติข้อตกลง USMCA กับแคนาดาได้

แน่นอนว่าสำหรับเวียดนามซึ่งพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะเจรจาการค้าเปิดเสรีกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะการโดดเข้าเป็นสมาชิกกรอบ Trans-Pacific Partnership: TPP ในสมัยที่สหรัฐฯยังเป็นแกนนำ TPP ย่อมเจออุปสรรคชิ้นใหญ่ เพราะแม้เวียดนามกับสหรัฐฯอยากจะเจรจาการค้ากัน แต่ประเทศกำลังพัฒนาซึ่งใกล้ชิดกับสหรัฐฯมากกว่าเช่น เม็กซิโกคงใช้มาตรา 32.10 นี้ให้เป็นประโยชน์ และไม่ยอมให้สหรัฐฯเจรจากับเวียดนามได้โดยง่ายเพื่อให้สินค้าเวียดนามมาแย่งส่วนแบ่งตลาดของตนในสหรัฐฯอย่างแน่นอน

จะเห็นได้ว่า USMCA หรือ NAFTA 2.0 ที่หลายๆ คนเรียกกันนั้น มีสภาพบังคับ และเกิดมาเพื่อไล่บี้ประเทศนอกภูมิภาค โดยเฉพาะ จีน และเวียดนาม รวมทั้งยังปิดประตูไม่ให้ประเทศสมาชิก USMCA สามารถสร้างข้อตกลงกับประเทศนอกกลุ่มได้อีกด้วย

สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้เราเห็นแนวโน้มแล้วว่า ในอนาคตทั้ง 3 ประเทศอาจมีการบังคับใช้นโยบายกับประเทศนอกกลุ่มร่วมกัน (Common External Policy) หรือหมายถึงการที่ USMCA จะรวมกันในระดับที่ลึกซึ้งมากกว่า เขตการค้าเสรี และมุ่งหน้าไปสู่การสร้างสหภาพศุลกากร หรือ Custom Unions ซึ่งแน่นอนว่าแต่ ละประเทศจะสูญเสียอิสรภาพในการดำเนินนโยบาย (อำนาจอธิปไตย) ของแต่ละประเทศสมาชิกมากยิ่งขึ้น แต่อำนาจต่อรองของทั้งกลุ่ม (Collective Sovereign Power) จะปรับตัวเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

สิ่งที่พวกเราชาวไทยโดยเฉพาะผู้ประกอบการชาวไทยควรต้องเร่งพิจารณาก็คือ เมื่อสงครามการค้า (Trade War) อุบัติ เมื่อการรวมกลุ่มแบบภูมิภาคนิยมที่มีแนวโน้มกีดกันภูมิภาคอื่นเกิดขึ้น พวกเราคนไทยอย่ามัวแต่หาความสำราญจากการถกเถียงว่าใครผิดใครถูก ใครโจมตีใครก่อน ใครตอบ โต้ใครอย่างไร แต่จงมองหาโอกาสท่ามกลางวิกฤติ เพื่อเดินหน้าการค้า การลงทุนของไทยในตลาดโลก

……………………………………………………………….

เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ

โดย ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์เศรษฐกิจระหว่างประเทศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3408 ระหว่างวันที่ 11 - 13 ตุลาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว