ทีวีดิจิตอล...สู้กันต่อไป

27 ก.พ. 2559 | 03:30 น.
ทีวีดิจิตอลคงต้องล้มหายตายจากกันไปก็เพราะรัฐมุ่งมั่นในการเปิดทีวีอย่างเสรีเกินไป ปล่อยให้มีการแข่งขันกันมากเกินไป โดยอาศัยทฤษฎีทุนนิยมเสรีแข่งขันกันอย่างเต็มรูปแบบ โดยก่อนเข้าสู่ตลาดแห่งนี้ใครเสนอผลประโยชน์ให้แก่รัฐมากที่สุด รายนั้นก็มีโอกาสได้สัมปทานกันไป และจำนวนช่องทีวีไม่ได้จำกัด มีจำนวนช่องมากกว่าเดิม 3-4 เท่าตัว จึงเกิดการแข่งขันด้านการตลาดสูง ราคาโฆษณาทีวีในระบบอะนาล็อกจากรายการช่วงหลังข่าวทำรายได้สูงถึงนาทีละ 350,000-400,000 บาท ปัจจุบันอัตราค่าโฆษณาหลังข่าวขายได้แค่หลักหมื่นบาท ขณะเดียวกันรัฐก็ยังปล่อยให้ทำทีวีดาวเทียมอยู่เช่นเดิม อัตราค่าโฆษณาก็ต่ำมากๆ จ่ายแค่หลักแสนก็ทำการโฆษณาได้เป็นเดือนและออกอากาศให้วันละหลายครั้งด้วย จะว่าไปแล้วทีวีดาวเทียมมีต้นทุนต่ำมาก เสียค่าเช่าช่องดาวเทียมออกอากาศก็แค่หลักแสนต้นๆ ต่อเดือน ค่าใช้จ่ายก็ต่ำรวมๆ แล้วใช้เงินเดือนละ 400,000-500,000 บาท จะว่าไปแล้วเมื่อ 4-5 ปีที่แล้วมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนเพียง 300,000 บาทเท่านั้นก็เอาอยู่

ทีวีดาวเทียมเมื่อใช้ต้นทุนต่ำกว่า และมีมากจำนวนนับร้อยช่องออกอากาศ ทำให้อัตราค่าโฆษณาต่ำมากๆ ต่ำกว่าค่าโฆษณาในหนังสือพิมพ์/ฉบับเสียอีก ส่งผลให้ทีวีดิจิตอลเผชิญกับคู่แข่งขันการตลาดมีมาก แม้ว่าระบบทีวีดิจิตอลกับทีวีดาวเทียมจะต่างชั้นกันก็ตาม แต่ก็สามารถมีส่วนแบ่งตลาดได้ หากนับรวมทีวีดาวเทียมทั้งระบบที่มีอยู่ก็เป็นเม็ดเงินโฆษณามีอยู่ไม่น้อย

ขณะเดียวกันในแง่ของเม็ดเงินโฆษณารวมทั้งโฆษณาทีวีดิจิตอล ทีวีดาวเทียม สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออินเตอร์เน็ต มีอยู่ใกล้เคียงกับของเดิม ซึ่งข้อเท็จจริงอาจจะมีน้อยกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ แต่รายงานตัวเลขการใช้สื่อโฆษณากลับมีเพิ่มขึ้นตลอด นั่นเป็นเพราะเป็นการคำนวณตามหลักวิชาการอาจไม่ตรงกับการใช้จ่ายเงินจริงๆ ก็ได้ ยิ่งเศรษฐกิจของประเทศไทยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา หรือพร้อมๆ กับการเกิดใหม่ของวงการทีวีดิจิตอลในไทยกลับเกิดมาในยุคเศรษฐกิจชะลอตัวลงมาตลอด ขนาดเศรษฐกิจของไทยจึงหดตัวเล็กลง ก็ย่อมจะส่งผลต่อการโฆษณาในตลาดรวมลดลงด้วย

สภาพคนดูทีวีปัจจุบันเป็นอย่างไร สำหรับผมแล้วเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ยังคงเหมือนผม คือ ดูทีวีช่องเดิมๆ เป็นหลัก แต่ก็มีไปชำเลืองดูทีวีช่องใหม่ๆ บ้าง ดูทีวีดาวเทียมบ้าง คนสูงอายุในละแวกบ้านถามดูก็ทราบว่าจะติดซีรีย์ทีวี ตั้งแต่เรื่องพระพุทธเจ้า ตามมาด้วยเรื่องจูม่ง และตามดูหมอชินดูเหมือนจะเป็นซีรีย์ของเกาหลีเดิมๆ ที่เคยออกอากาศมาแล้ว หากตอนกลางวันดูไม่ทันก็ต้องติดตามดูรอบค่ำ เพราะเดี๋ยวนี้เขาออกอากาศ 2 รอบกันแล้ว

คนไทยดูทีวีเขาดูอะไร ก็ต้องไปตามหาอ่านเอาในรายงานวิจัยตลาด แต่ผมไม่ค่อยให้น้ำหนักในการสำรวจเท่าไหร่ สำรวจแค่พันกว่าคน แล้วใช้หลักวิชาการคูณเข้าไป ตรงนี้ก็ไม่ได้ชี้ชัดอะไร รวมทั้งการทำเรตติ้งทีวีก็ตาม เมื่อสมัยก่อนมีการมอนิเตอร์ที่เครื่องรับโทรทัศน์ประมาณ 1,050 เครื่องจากทีวีมากกว่า 20 ล้านเครื่อง ช่อง 7 เอาไปกินเสียส่วนใหญ่ ตามมาด้วยช่อง 3 และ 9 เป็นตัวอย่าง ทุกวันนี้คุณจะรายงานอย่างไร บอกเรตติ้งดีเท่าไหร่ก็ว่ากันไปเถอะ ผมว่าคงไม่ต่างจากเมื่อก่อน หากถามคนที่รู้จัก ถามว่าเขาดูทีวีช่องไหน ก็บอกว่าดูช่องเดิมๆ แวะไปดูช่องใหม่บ้างเป็นครั้งเป็นคราว ถ้าถามว่าคุณกดรีโมทช่องไหนเมื่อดูผ่านดาวเทียม เขาก็บอกว่ากดช่อง 13 ครับ แต่ตอนเช้าๆ ผมชอบดูทีวีช่องหลัก และดูข่าวดาวเทียม PSI ดูข่าวต่างประเทศที่เขาบรรยายด้วยตัวอักษร

คนไทยดูทีวีช่องเดิมๆ มากกว่าดูทีวีช่องใหม่ก็เพราะคนไทยชอบสิ่งที่คุ้นเคยมานาน รู้ว่าช่วงเวลาไหนจะเลือกชมรายการอะไร จะดูข่าวจากทีวีช่องไหน จะดูละครดูช่องไหน จะดูเกมโชว์วันไหน ช่องไหน เวลาใดเพราะจำได้ เมื่อกดรีโมทดูช่องอื่น จะแวะพักดูก็เฉพาะที่เราสนใจเท่านั้น ดูแล้วก็ผ่านไปเลยไม่ได้จดจำว่าดูจากช่องไหน ช่อง 9 อสมท.สมัยนี้คนไทยในชนบทดูกันเพิ่มมากขึ้น ผมว่าดูมากกว่าเดิมเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว เพราะเดี๋ยวนี้ดูผ่านดาวเทียมระบบดิจิตอลได้ทั่วประเทศแล้ว ซึ่งก่อนหน้าจะเป็นทีวีดิจิตอลช่อง 9 บางพื้นที่ดูไม่ได้เลย ....คนไทยดูทีวีส่วนใหญ่เขาไม่สนใจสาระ เว้นแต่ดูข่าวและเขาดูเพื่อความบันเทิง สารคดีมีคนดูแต่ก็ไม่มากพอที่จะสะกดคนไทยได้เท่ากับละครน้ำเน่า ครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,134 วันที่ 25 - 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559