ประธานหอการค้าไทย ฟันธง ส่งออก-ลงทุน-ท่องเที่ยวปี 62 โตต่อเนื่อง

14 ต.ค. 2561 | 03:15 น.
 ห่วงการเมืองฉุด

สัมภาษณ์
ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งในต้นปีหน้า ขณะที่ปัจจัยภายนอกกำลังร้อนแรง ทั้งสงครามการค้าสหรัฐอเมริกา-จีนที่ยังยืดเยื้อ ซึ่งล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ออกมาคาดการณ์กรณีเลวร้ายสุดผลพวงสงครามการค้าจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี)ของจีนในปี 2562 จะลดลงมากกว่า 1.6% และจีพีดีสหรัฐฯจะลดลง 0.9% ราคานํ้ามันในตลาดโลกขยับเพิ่มขึ้นฉุดราคาขายปลีกในประเทศขยับตาม ค่าเงินบาทยังผันผวน ทิศทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวไทยในปีหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “กลินท์ สารสิน” ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่ให้มุมมองน่าสนใจยิ่ง

kalin3
ศก.-ส่งออกปี61ไม่น่าห่วง

“กลินท์” กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ว่า คาดจะขยายตัวได้ 4.6% จากกรอบที่ตั้งไว้ที่ 4.4-4.8% ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกับไอเอ็มเอฟที่ออกมาประมาณการเศรษฐกิจไทย ล่าสุดปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 4.6% ผลพวงหลักจากการส่งออกของไทยที่ยังขยาย
ตัวได้ดี (8 เดือนแรกขยายตัว 10%) คาดทั้งปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 8-9% ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวก็ยังไปได้ดี แม้จะเกิดเรื่องเรือล่ม และทำร้ายนักท่องเที่ยวจีน แต่ทั้งปีนี้คาดจีนจะยังมาเที่ยวไทยประมาณ 10 ล้านคน ด้านการลงทุนไทยได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น เฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี)

“ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นราคานํ้ามันขาขึ้น เศรษฐกิจจีนชะลอตัว และหลายปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุม แต่เศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง รัฐบาลมีเสถียรภาพ คนก็อยากจะมาลงทุนบ้านเรามากขึ้นๆ หลายอุตสาหกรรมในไทย ปัจจุบันมีความแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ พวกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ต่างๆ เราก็เป็นเบอร์ 1 ของโลกและมีการย้ายฐานมาไทยเพิ่มขึ้น”

เรือ

ส่วนเรื่องสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ต้องยอมรับว่า ทำให้การส่งออกของจีนไปสหรัฐฯชะลอตัวลง และกระทบสินค้าวัตถุดิบไทยบางรายการที่ส่งไปจีนเพื่อไปสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ พลอยได้รับผลกระทบ ที่ต้องจับตาคือสินค้าจีนที่ได้รับผลกระทบจากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีจะต้องหาที่ระบาย อาจเข้ามาดัมพ์ตลาดในไทย ตรงนี้เสี่ยงมาก เพราะถ้าเข้ามาดัมพ์ตลาดโรงงานผลิตในไทยอาจเจ๊งได้ ช่วงนี้ที่ทางหอการค้าไทยได้จับตาเป็นพิเศษคือสินค้าเหล็กของจีนว่ามีการนำเข้ามาสวมสิทธิ์ถิ่นกำเนิดสินค้าไทยเพื่อส่งออกหรือไม่

อย่างไรก็ดีอีกด้านหนึ่งจากสงครามการค้าจะทำให้สินค้าไทยได้รับอานิสงส์ส่งออกไปสหรัฐฯทดแทนสินค้าจีน และส่งออกไปตลาดจีนเพื่อทดแทนสินค้าจากสหรัฐฯได้เพิ่มขึ้น รวมถึงอีกด้านหนึ่งจะทำให้จีนและสหรัฐฯมาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น โดยการลงทุนของจีนมีทั้งเพื่อใช้ไทยเป็นฐานผลิตและส่งออกไปตลาดสหรัฐฯทดแทนฐานผลิตในจีนที่สินค้าถูกสหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้า รวมถึงเพื่อส่งออกไปอาเซียน และส่งกลับไปจำหน่ายในจีน ที่เวลานี้สามารถขนส่งทางรถยนต์จากไทยไปจีนได้โดยสะดวกรวดเร็วกว่าขนส่งทางเรือ ทำให้ต้นทุนลดลง

นิคม

“ส่วนนักลงทุนอเมริกันที่หอการค้าสหรัฐฯได้นำคณะมาประชุมร่วมกับหอการค้าไทยเมื่อเดือนกันยายน ล่าสุด ทุกรายระบุอยากมาลงทุนไทยเพราะมองเห็นโอกาสสูงที่จะใช้เป็นฐานส่งออกไปจีน ส่งสินค้าไปจำหน่ายในสหรัฐฯ รวมถึงไทยยังเป็นแลนด์ลิงก์ในการกระจายสินค้าไปยังตลาดอาเซียนได้ ส่วนนักลงทุนญี่ปุ่นก็บอกพร้อมที่จะมาลงทุนในไทยเพิ่ม”
ปี 62 มั่นใจแรงส่งยังดี

“กลินท์” มองว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะยังขยายตัวได้ที่ระดับ 4.4-4.8% ผลจากภาคการส่งออกซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศคาดจะยังขยายตัวได้ในระดับ 8-9% โดยปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจและการส่งออกของไทยที่สำคัญคือ ไทยยังมีโอกาสส่งออกไป 2 ตลาดคือสหรัฐฯและจีนมากขึ้นจากมีการลงทุนในไทยเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น ต่อมาคือโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เฉพาะอย่างยิ่งโครงการเพื่อรองรับอีอีซีจะมีการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐและเอกชนที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น  เรื่องการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านในปีหน้าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น (จากปี 61 เป้าหมายมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท) จากมีการปรับปรุงด่านศุลกากร และมีการอำนวยความสะดวกระหว่างกันมากขึ้น

“ในส่วนของภาคท่องเที่ยว ปีนี้คาดในส่วนของนักท่องเที่ยวจีนจะมาไทยไม่ตํ่ากว่าปีที่แล้วคือประมาณ 10 ล้านคน ปีหน้าก็น่าจะใกล้เคียงกัน ส่วนเรื่องอีอีซีถ้าเริ่มประมูลรถไฟฟ้าความเร็วสูงได้แล้วในเดือนหน้า ก็จะส่งผลถึงโครงการต่างๆ มีการลงทุนและมีการก่อสร้างเพิ่มขึ้นตามมา นอกจากนี้ในปี 2562 ไทยจะเป็นประธานอาเซียนจะเป็นปัจจัยบวกต่อประเทศที่ต้องทำให้ภาพลักษณ์ออกมาดี”

นักเที่ยวจีน
การเมืองปัจจัยเสี่ยง

ส่วนปัจจัยเสี่ยงอันดับต้นๆ ในขณะนี้คือ ความไม่แน่นอนทางการเมือง จากที่เวลานี้รัฐบาลได้ปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมต่างๆ ได้มากขึ้น ผลพวงที่ตามมาคือจากผลการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการ ค้าไทยในเดือนที่ผ่านมาความมั่นใจในเสถียรภาพรัฐบาลลดลง ขณะที่ภาคธุรกิจของคนไทย หรือบริษัทต่างชาติเริ่มมีความกังวล และห่วงว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล นโยบายต่างๆ จะยังเหมือนเดิมหรือไม่ หรือต้องเริ่มต้นใหม่

090861-1927-9-335x503-8-335x503-14

“เรื่องการเมืองนี้มองเป็นบวกหรือเป็นลบก็ได้ คนที่มองบวกก็บอกว่าดีจะมีการเลือกตั้งก็ควรเร่งลงทุนเลย ส่วนคนที่มองลบก็บอกว่าคอยคนใหม่ก่อนดีกว่า เพราะไม่รู้ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ใครจะมาเป็นรัฐมนตรีเพื่อรันประเทศ นโยบายจะเปลี่ยนหรือไม่ ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่น เช่นราคานํ้ามันที่ขยับขึ้นจากสหรัฐฯแซงก์ชันอิหร่านไม่น่าห่วงมาก เพราะถ้านํ้ามันแพงก็จะมีการผลิตเชลล์ออยล์ที่ราคาถูกกว่าฉุดราคานํ้ามันให้ลดลง ส่วนค่าเงินบาทถือเป็นปัจจัยเสี่ยงปกติที่ต้องบริหารจัดการอยู่แล้ว”

หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,409 วันที่ 14-17 ตุลาคม 2561

e-book-1-503x62-7