รางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2018

17 ต.ค. 2561 | 04:45 น.
รางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ปีนี้เป็นของศาสตรา จารย์ทางเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันที่มีผลงานวิจัยเกี่ยวข้องกับทฤษฎีการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้ง 2 ท่าน ท่านแรกคือ ศ.วิลเลียม นอร์ดเฮาส์ มีผลงานทฤษฎีการเติบโตทางเศรษฐกิจกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และอีกท่านคือ ศ.พอล โรเมอร์ ซึ่งมีผลงานทฤษฎีการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนวัตกรรม

ก่อนหน้านี้ มีนักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากทฤษฎีการเติบโตทางเศรษฐกิจคือ ศ.โรเบิร์ต โซโล ในปี 1987 ทฤษฎีการเติบโตทางเศรษฐกิจถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในช่วงทศวรรษที่ 1960 เพื่ออธิบายเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งเป็นความพยายามในการหาสาเหตุของการเพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพของรายได้ต่อหัว แบบจำลองของโซโล ได้ข้อสรุปว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้มีการเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อหัวอย่างต่อเนื่อง

ในระยะยาวการเติบโตทางเศรษฐกิจ จะเท่ากับอัตราความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ประเทศที่มีความเจริญก้าว หน้าทางเทคโนโลยีสูงกว่า จะมีอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจหรือรายได้ต่อหัวในระยะยาวที่สูงกว่า

p7

อย่างไรก็ตามแบบจำลองนี้ มีภาคการผลิตสินค้าสุดท้ายอย่างเดียว และปัจจัยที่ใช้ในการผลิตคือแรงงานและทุนกายภาพเท่านั้น แบบจำลองไม่ได้อธิบายแหล่งที่มาของเทคโนโลยีว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทำให้แบบจำลองของโซโลถูกเรียกว่า แบบจำลองการเติบโตที่เกิดจากปัจจัยภายนอก (the exogenous growth model) หรือ เทคโนโลยีคือปัจจัยภายนอกที่จำเป็นต้องกำหนดค่าให้กับแบบจำลอง จึงส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว มีอัตราที่คงที่

หลังจากงานวิจัยของโซโลเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นห้องเครื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ ปลายทศวรรษที่ 1980 นักเศรษฐศาสตร์ได้พยายามอธิบายถึงที่มาของเทคโนโลยี ศ.พอล โรเมอร์ ได้พัฒนาแบบจำลองการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งอธิบายแหล่งที่มาของเทคโนโลยี กล่าวคือการวิจัยและพัฒนาจะทำให้เกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

แบบจำลองของโรเมอร์ จึงถูกเรียกว่า แบบจำลองการเติบโตที่เกิดจากปัจจัยภายใน (the endogenous growth model) แบบจำลองนี้มี 2 ภาคการผลิตประกอบด้วย ภาคการผลิตสินค้าและภาคการผลิตความรู้ซึ่งเกิดจากการทำวิจัยและพัฒนา มีการจัดสรรแรงงานและทุนไปยังภาคการผลิตความรู้หรือไปใช้ในการทำวิจัยและพัฒนา ผลคือการทำวิจัยและพัฒนาทำให้เกิดความรู้ใหม่ หรือนวัตกรรม

นวัตกรรมหรือความรู้ใหม่ที่ได้นั้นจะถูกนำมาใช้ผลิตสินค้าและบริการอีกทีหนึ่ง ทำให้เศรษฐกิจสามารถผลิตสินค้าที่มีมูลค่าสูงได้เรื่อยๆ ก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือการเติบโตของรายได้ต่อหัว เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือถ้าเศรษฐกิจใดมีการทำวิจัยและพัฒนา จะทำให้เศรษฐกิจนั้นมีองค์ความรู้ใหม่ มีนวัตกรรม และเทคโนโลยี สามารถยกระดับการผลิตสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นได้อย่างสมํ่าเสมอ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ทำให้รายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นอย่างมีเสถียรภาพ

และตราบใดที่เศรษฐกิจมีการทำวิจัย และพัฒนา รายได้ต่อหัวก็จะมีอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ดีแบบจำลองการเติบโตที่เกิดจากภายในอีกแบบจำลองหนึ่ง คือแบบจำลองการเติบโตทางเศรษฐกิจและทุนมนุษย์ กล่าวคือ ทุนมนุษย์คือที่มาของเทคโนโลยี ซึ่งศ.โรเบิร์ต ลูคัส ได้พัฒนาขึ้น ในช่วงเวลาเดียวกันคือปลายทศวรรษ 1980

แบบจำลองนี้มี 2 ภาคการผลิต คือภาคการผลิตสินค้า และภาคการผลิตความรู้หรือผลิตทุนมนุษย์ ซึ่งคือการศึกษา ทักษะ ความเชี่ยวชาญ และทุนมนุษย์ที่ผลิตขึ้นจะถูกนำมาใช้ในภาคการผลิตสินค้า ทุนมนุษย์คือปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพ และประสิทธิภาพให้กับแรงงาน ทุนในแบบจำลองการเติบโตที่เกิดจากภายในมีความหมายกว้างกว่าทุนในแบบจำลองการเติบโตที่เกิดจากภายนอก ซึ่งทุนหมายถึงทุนกายภาพเพียงอย่างเดียว

เศรษฐกิจที่มีทุนมนุษย์สูงคือเศรษฐกิจซึ่งมีแรงงานที่มีการศึกษา มีความชำนาญ และมีทักษะสูง ทำให้สามารถเรียนรู้และนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ สามารถสร้างเทคโนโลยี นวัตกรรมของตัวเองขึ้นมาได้ และผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้ต่อหัวมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ ตราบใดที่เศรษฐกิจมีการสร้างทุนมนุษย์อยู่ ตลอดเวลา

ถึงกระนั้นก็ตาม ศ.ลูคัส ได้รับรางวัลโนเบลในปี 1995 จากทฤษฎีการคาดการณ์แบบมีเหตุผล (the  rational expectation) นอกจากเทคโนโลยีมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพแล้ว การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ มั่นคงและยั่งยืน ยังคงต้องพิจารณาถึง องค์ประกอบอื่น เช่น สิ่งแวดล้อมด้วย

ศ.นอร์ดเฮาส์ ได้พัฒนาแบบจำลองการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเข้าไปด้วย ในการตอบคำถามที่ว่าเราสามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างไรโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แบบจำลองนี้ไม่ได้เน้นการอธิบายที่มาของเทคโน โลยี แต่เน้นที่ความสัมพันธ์และผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

แบบจำลองของนอร์ดเฮาส์ จึงเป็นแบบจำลองการเติบโตที่เกิดจาก ภายนอก แบบจำลองนี้ประกอบไปด้วย 2 ส่วน และนำมาเปรียบเทียบกัน คือส่วนของเศรษฐกิจที่มีและไม่มี องค์ประกอบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ในส่วนของเศรษฐกิจที่มีองค์ประกอบของการเปลี่ยนแปลง ภูมิอากาศจะมีการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน พบว่าการเพิ่มขึ้นของระดับคาร์บอนไดออก ไซด์ 2 เท่าหรือเทียบเท่ากับอุณหภูมิพื้นผิวโลกโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 3 องศาเซลเซียส จะทำให้ผลผลิตของโลกลดลงไปประมาณ 1.3%

ประเด็นของภาวะโลกร้อนจึงเกี่ยวข้องกับการลดการปล่อยมลพิษ สังคมต้องลงมือทำวันนี้โดยการลดการบริโภคและจัดสรรทรัพยากรสำหรับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อป้องกันความเสียหายทางเศรษฐกิจ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้และการบริโภคในอนาคต

รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ปีนี้ให้ความสำคัญกับประเด็นการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ ประเทศไทยเรากำลังมองไปข้างหน้า ในระยะยาวเราต้องการการเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อหัวอย่างมีเสถียรภาพ มั่นคง ยั่งยืน ให้เทียบเท่ากับประเทศที่พัฒนาแล้ว

เมื่อศึกษาจากงานวิจัยที่ได้รับรางวัลโนเบลที่ผ่านมา รัฐบาลจำเป็นต้องเน้นไปที่การสร้างทุนมนุษย์ การวิจัยและพัฒนา ซึ่งจำเป็นในการสร้างนวัตกรรม และเทคโนโลยีให้กับเศรษฐกิจไทย และในขณะเดียวกันต้องเอาใจใส่ในเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย

 

เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ

โดย ผศ.ดร.นิพิฐ วงศ์ปัญญา ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์ธุรกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3410 ระหว่างวันที่ 18 - 20 ตุลาคม 2561

595959859