เสพศิลป์ในถิ่นเก่า ภูเก็ต พิพิธภัณฑ์มีชีวิต

29 ต.ค. 2561 | 04:42 น.
 

18447530_415427438839359_5569358753348940803_n

ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่มาภูเก็ต คือ มาท่องเที่ยวทะเลที่สวยงาม แต่ไข่มุกเม็ดงามนี้ยังแฝงไปด้วยมนต์เสน่ห์แห่งวัฒนธรรม “เปอรานากัน” ชีวิตความเป็นอยู่ สะท้อนผ่านสิ่งปลูกสร้างอย่างอาคารชิโน-โปรตุกีส สถาปัตยกรรมที่บันทึกห้วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ไว้อย่างสวยงาม

ข้อมูลจากสำนักงานเทศบาล นครภูเก็ต ระบุไว้ว่า ในอดีตนั้น ภูเก็ตเคยเป็นเมืองท่าสำคัญทางตะวันตกของแหลมมลายู มีการติดต่อค้าขายกับชาวจีนโพ้นทะเล โดยเฉพาะกลุ่มที่เดินทางมาจากสิงคโปร์ ปีนัง ซึ่งครั้งหนึ่งเคยตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตกอย่าง โปรตุเกสและฮอลันดา ทั้งนี้ภูเก็ตยังเป็นแหล่งแร่ดีบุกที่สำคัญของประเทศ ทำให้มีผู้คนจากดินแดนแถบนี้เดินทางเข้ามามากมาย ภูเก็ตจึงเติบโตเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีความเจริญรุ่งเรือง กลายเป็นจุดนัดพบเชื่อมวัฒนธรรมของสองซีกโลกไว้อย่างกลมกล่อมอาคารเก่าแก่ที่เรียงรายในตัวเมืองภูเก็ตจึงนับเป็นสิ่งยืนยันความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมได้เป็นอย่างดี ตึกเก่าเหล่านี้มีอายุกว่าร้อยปีสร้างขึ้นเมื่อครั้งกิจการเหมืองแร่เฟื่องฟูหรือยุคที่รุ่งเรืองในปลายรัชสมัยที่ 5

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

สำหรับสถาปัตยกรรม “ชิโน-โปรตุกีส” (Sino-Portuguese) คือการก่อสร้างอาคารชั้นเดียวหรือสองชั้น ที่มีส่วนลึกมากกว่าส่วนกว้าง และไม่สูงนัก กระเบื้องหลังคา ตลอดจนประตู หน้าต่างไม้ฉลุลาย โดยเฉพาะบานหน้าต่างแบบบานเฟี้ยมหรือ French window ส่วนตัวหัวเสาและลวดลายปูนปั้นสะท้อนผ่านความเชื่อ ของชาวเปอรานากันจนรังสรรค์เป็นสัตว์มงคลต่างๆ เช่น สิงโต กิเลน มังกร เอามาประดับตกแต่งบริเวณหน้าบ้าน รวมทั้งลวดลายเครือเถาวัลย์บริเวณเสาซึ่งสื่อถึงการอยู่ที่กลมเกลียวกัน ส่วนในบ้านจะมีบ่อนํ้า ตามศาสตร์ของฮวงจุ้ย รวมทั้งการตกแต่งในสไตล์ยุโรปเข้าไปผสมผสานที่ดูลงตัว สวยงาม เป็นดั่งต้นทุนทางวัฒนธรรมที่ในปัจจุบันกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม

กลุ่มอาคารนี้มีลักษณะเรียงรายอย่างสวยงาม มีระยะทางประมาณ 4.6 กิโลเมตร มีช่วงเส้นทางการเดิน 6 ช่วงย่อยๆ ตั้งอยู่บนถนนดีบุก ถนนถลาง ถนนกระบี่ และถนนเยาวราช ซึ่งชื่อของถนนสะท้อนถึงความมั่งคั่งในอดีต โดยเฉพาะแหล่งแร่ที่สำคัญอย่างดีบุก แต่ด้วยอายุกว่า 100 ปีที่การทรุดโทรมเริ่มเกิดขึ้น เปิดทางสู่กระแสอนุรักษ์จากคนในท้องถิ่นรวมพลังนำมนต์เสน่ห์แห่งแดนใต้ สร้างตัวเรือนชูไข่มุกที่งดงามที่สุดให้กลับมาเป็นอัญมณีอันเลอค่า คือสีสันและชีวิตชีวาที่สะท้อนความหลากหลายทางศิลปวัฒนธรรมอย่างแท้จริง

DSC_0349

ข้อมูลจาก คุณสมยศ ปาทาน หรือคุณคาล รองประธานชุมชนท่องเที่ยวย่านเก่าภูเก็ต ซึ่งเคยกล่าวไว้ในรายการติดเกาะ ฉายรายละเอียด การบูรณะอาคารอนุรักษ์ในย่านเมืองเก่าของภูเก็ตอย่างน่าสนใจว่า ย่านเมืองเก่าภูเก็ตเดิมปรากฏให้เห็นเพียงภาพขาวดำ ไม่สามารถระบุได้ว่าสีดั้งเดิมของตัวอาคารนั้นคืออะไร คุณคาลและกลุ่มชุมชนท่องเที่ยวย่านเก่าภูเก็ตจึงเริ่มต้นศึกษาด้วยการขุดลอกชั้นสีเพื่อหาชั้นดินเดิมด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์ และเมื่อทราบถึงสีแล้วก็นำสีที่ปรู๊ฟมาให้บริษัทสีที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อผลิตสีที่หายใจได้  เนื่องจากบ้านเก่าแบบนี้จะมีความชื้นสูงหากใช้สีสมัยใหม่ที่มีพลาสติกเป็นตัวเคลือบก็จะทำให้บ้านหายใจไม่ออก จากนั้นก็จะดันออกและก็ร่อนออกในที่สุด โดยเฉพาะปูนในสมัยก่อนเป็นปูนขาวไม่ใช่ปูนซีเมนต์สมัยใหม่ทำให้ต้องคำนึงในส่วนนี้เช่นกัน ฉะนั้นสีที่ทาต้องเป็นสีที่ไม่มีพลาสติกเป็นตัวเคลือบ ซึ่งแนวทางการบูรณะดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจของอาคารและการให้ความสำคัญในทุกรายละเอียดสำหรับการดูแลต้นทุนทางวัฒนธรรมแห่งนี้ให้คงอยู่ตลอดไปด้วยหัวใจรักอย่างแท้จริง

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติ รวมถึงชาวภูเก็ตล้วน ได้สัมผัสถึงกลิ่นอายความคลาสลิกของกลุ่มอาคารในรูปแบบร่วมสมัย สง่างาม ทรงคุณค่า และมีความหมาย ผ่านการนำเสนอในรูปแบบต่างๆ ทั้งโรงแรมคลาสสิก ร้านอาหารเลิศรส ร้านคาเฟ่ รวมถึงร้านของฝาก และร้านถ่ายภาพ ด้วยความหลากหลายนี้ ทำให้ถนนเส้นดังกล่าวมีผู้แวะเวียนมาเยี่ยมชมอยู่เสมอ และในวันหยุดสุดสัปดาห์ถนนที่มั่งคั่งและรุ่มรวยนี้จะเปลี่ยนโฉมเป็นถนนคนเดินเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาใช้สอยและสัมผัสกลิ่นอายของถนนได้แบบใกล้ชิด ที่สำคัญย่านเมืองเก่าแห่งนี้ยังพร้อมเปิดรับความไหลเททางศิลปะสมัยใหม่อย่าง Street Art ที่ปรากฏอยู่บนผนังของอาคารซึ่งสามารถหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายและบันทึกความทรงจำในสไตล์ร่วมสมัยในแบบเท่ๆ

สีสันที่ปรากฏในภาพถ่าย  อาหารรสเลิศ และกลิ่นแห่งความสุขที่อบอวลอยู่ทั่วบริเวณคือภาพสะท้อนของความตั้งใจที่ผ่านความร่วมมือรังสรรค์ มิใช่เพียงเพื่ออนุรักษ์มรดกความทรงจำไปสู่คนในรุ่นต่อๆ ไป แต่คือการส่งต่อความภาคภูมิใจในฐานะ “คนภูเก็ต” ไปสู่สายตาของนักเดินทางจากทั่วทุกมุมโลก

ก่อนฝนจะจางหาย ก่อนลมหนาวจะมาเยือน การเดินทางเยือนภูเก็ตในครั้งนี้อาจทำให้คุณอิ่มกับงานศิลปะ ราวกับค้นพบรสชาติของชีวิตที่ขาดหายไปก็เป็นได้

หน้า 28 ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,413 (863) วันที่ 28 - 31 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว