อีสท์เวสท์ซีดเล็งยอดโต11% เปิดตัวพืช7ชนิดสู้วิกฤติแล้ง

01 มี.ค. 2559 | 10:00 น.
"อีสท์ เวสท์ ซีด" พลิกวิกฤติแล้ง เชียร์เกษตรกร ปลูกพืช 7 ชนิด ใช้น้ำน้อย ขายไว รายได้ดี แทนปลูกข้าว ตั้งเป้ายอดขายปีนี้โต 11% จากยอดขายปี 58 เกือบ 2 พันล้าน เตรียมเปิดตัวมะเขือเทศ/ข้าวโพดข้าวเหนียวสายพันธุ์ใหม่ไร้จีเอ็มโอ เร็วๆนี้ ขณะสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์พืชไทยเผยไทยส่งออกเมล็ดพันธุ์พืชปี 57 กว่า 5.4 พันล้าน เป็นรองแค่ญี่ปุ่น จีน

นายวิชัย เหล่าเจริญพรกุล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ภายใต้ยี่ห้อ "ศรแดง" เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดเมล็ดพันธุ์ในประเทศไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เมียนมา และศรีลังกา และกำลังขยายธุรกิจไปยังอินเดีย จีน ลาตินอเมริกา อเมริกาใต้ และแอฟริกา โดยมีเกษตรกรกว่า 30 ล้านคนทั่วโลกใช้เมล็ดพันธุ์จากบริษัท ในปี 2558 มียอดขายในไทยประมาณ 900 ล้านบาท และในต่างประเทศกว่า 1 พันล้านบาท ในปี 2559 ตั้งเป้ายอดขายขยายตัวที่ 11% โดยเมล็ดพันธุ์ที่ขายดีที่สุด ได้แก่ ข้าวโพดข้าวเหนียว แตงกวา และพริก ตามลำดับ

"ยอดขายไตรมาสแรกของปี 2559 คาดว่าจะสูงกว่าไตรมาสแรกของปี 2558 เพราะปีที่แล้วไม่คาดคิดว่าภัยแล้งจะรุนแรงมาก ยอมรับว่าทางบริษัทไม่ได้เตรียมตัว แต่ปีนี้ได้มีการวางแผนและสนับสนุนนโยบายรัฐบาลให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน จำนวน 7 ชนิด ได้แก่ แตงกวา-แตงร้าน, ฟักทอง, แตงโม, ข้าวโพดหวาน,ข้าวโพดข้าวเหนียว,แฟง และถั่วฝักยาว ซึ่งพืชทั้ง 7 ชนิดนี้ให้ผลตอบแทนที่ดีมากในระดับเดียวกับพืชไร่เมื่อเปรียบเทียบจากต้นทุนในการเพาะปลูก" นายวิชัย กล่าว และว่า

บริษัท ได้นำร่องให้เกษตรกรปลูกพืชในจังหวัดต่างๆ อาทิ อ่างทอง และสิงห์บุรี เป็นต้น พร้อมกับแจกคู่มือการเตรียมดิน รวมทั้งตารางเปรียบเทียบผลตอบแทนพืชไร่และพืชใช้น้ำน้อย ต่อ 1 ไร่ ยกตัวอย่าง ปลูกข้าว อัตราการใช้น้ำ 1.18 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ ค่าเมล็ดพันธุ์ 780 บาท ระยะเวลา 100-120 วัน ต้นทุน (ค่าปุ๋ย ค่าสารเคมี แรงงาน) ประมาณ 4.51 พันบาท หลังหักค่าใช้จ่ายจะได้กำไรสุทธิ 2.49 พันบาท

ทั้งนี้มองว่ารัฐบาลได้เดินมาถูกทางแล้ว ในการที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรได้หันมาปลูกพืชใช้น้ำน้อย ส่วนในพื้นที่ใดไม่มีน้ำเลย จะต้องปรับเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างทดแทนไปพลางก่อน เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนให้เกษตรกรที่ประเมินว่าปีนี้สถานการณ์ภัยแล้งจะรุนแรง หรืออาจจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ในบางพื้นที่ ซึ่งเป็นความเสี่ยงของเกษตรกร ทางบริษัทเองก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้เกษตรกรอยู่ได้ เพราะหากเกษตรกรอยู่รอด บริษัทเองก็จะอยู่รอดเช่นเดียวกัน ขณะที่ในเร็วๆ นี้บริษัทจะเปิดตัวมะเขือเทศ และข้าวโพดข้าวเหนียว สายพันธุ์ใหม่มีคุณสมบัติที่ดีไม่แพ้พืชดัดแปลงพันธุกรรม(จีเอ็มโอ)

แหล่งข่าวจากสมาคมการค้าเมล็ดพันธุ์พืชไทย เผยว่า ในปี 2557 ไทยมีการส่งออกเมล็ดพันธุ์ กว่า 5.46 พันล้านบาท (ปัจจุบันไทยมีบริษัทเมล็ดพันธุ์ในประเทศ184 บริษัท) โดยไทยเป็นประเทศส่งออกเมล็ดพันธุ์เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากญี่ปุ่น และจีน โดยเมล็ดพันธุ์ที่ไทยส่งออกมาที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ข้าวโพด มะเขือเทศ และแตงโม บริษัทที่มีมูลค่าการส่งออกเมล็ดพันธุ์ควบคุมสูงสุด ได้แก่ บริษัท มอนชาโต้ ไทยแลนด์ จำกัด(บจก.) มูลค่า 1.24 พันล้านบาท บจก.ซินเจนทา ซีดส์ 824 ล้านบาท และบจก. เจียไต๋ เมล็ดพันธุ์ 623 ล้านบาท ส่วนการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ในปีเดียวกันมีมูลค่า 689 ล้านบาท ที่นำเข้ามากที่สุด ได้แก่ ข้าวโพด ทานตะวัน และผักชี เป็นต้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม พ.ศ. 2559