“สมคิด”ซื้อใจจีน ดันไทยหนุนการค้าเสรี

15 พ.ย. 2561 | 11:23 น.
ไชน่า เดลี่ สื่อใหญ่ของจีนตีพิมพ์ข่าวการเดินทางเยือนประเทศจีนของดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเพื่อร่วมงาน ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล อิมพอร์ท เอ็กซ์โป (CIIE) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมืองเซี่ยงไฮ้ เมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมา แสดงความชื่นชมที่ไทยให้การสนับสนุนความร่วมมือผลักดันระบบการค้าเสรี โดยข่าวของไชน่าเดลี่พาดหัวว่า  “ประเทศไทยให้การสนับสนุนการค้าเสรี” (Thailand offers its support to free trade) และนำเสนอภาพข่าวเมื่อครั้งดร.สมคิดได้รับเชิญเป็น “แขกพิเศษ” มาขึ้นเวทีกล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน Belt and Road Summit ครั้งที่3 ที่ฮ่องกงเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ASomkid1
ดร.สมคิดให้สัมภาษณ์พิเศษกับไชน่า เดลี่ว่า ท่ามกลางบริบทที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนหลากหลายรูปแบบ แต่จีนก็ยังคงแสดงความชัดเจนในการที่จะสนับสนุนระบบการค้าเสรี ซึ่งท่าทีดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นว่า จีนนั้นได้กลายมาเป็นเสาหลักต้นหนึ่งที่จะค้ำจุนการพัฒนาเศรษฐกิจโลก

ความพยายามของจีนในการที่จะปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างลงลึก และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเขตการค้าเสรีหลายแห่งที่มีอยู่ทั่วประเทศ และเปิดกว้างให้กับการลงทุนของต่างชาติจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ก่อให้เกิดความร่วมมือระดับโลก

ประเทศไทยเองมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศสมาชิกอาเซียน ทั้งยังตั้งอยู่กึ่งกลางรอบล้อมด้วยกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม จึงสามารถแสดงบทบาทของประเทศผู้ประสานงาน หรือ coordinator เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นและความร่วมมือที่ดีขึ้นในระดับอนุภูมิภาคที่ประกอบด้วย 5 ประเทศ CLMVT

Bsomkid3

รองนายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงโอกาสของการพัฒนาความร่วมมือที่ใกล้ชิดมากขึ้นในเขตลุ่มน้ำแยงซี และพื้นที่เกรทเตอร์ เบย์ แอเรีย (Greater Bay Area) ที่ประกอบด้วยกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า รวมทั้งพื้นที่แม่น้ำ 3 ประสาน หรือเขต Three Rivers Region ซึ่งได้แก่ ลุ่มแม่น้ำจินชา(อีกชื่อหนึ่งของแม่น้ำแยงซี) ล้านช้าง (แม่น้ำโขงในเขตประเทศจีน) และแม่น้ำนู่เจียง(แม่น้ำสาละวินส่วนที่ไหลผ่านมณฑลยูนนาน)  ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไทย-จีนจะสามารถพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันได้อีกมาก “บริษัทจีนจำนวนมากเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และผมเชื่อว่าจำนวนการลงทุนจากจีนจะยังคงเติบโตขึ้นเรื่อยๆ”

ในส่วนของข้อตกลงความร่วมมือเขตการค้าเสรีอาร์เซ็ป (RCEP) ซึ่งประกอบด้วยอาเซียน 10 ประเทศกับคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้มีการเร่งเครื่องเดินหน้าการเจรจาจนมีความคืบหน้า คาดว่าเมื่อมีการประกาศผลสรุปการเจรจา RCEP ในปีหน้า (2562) โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน (BRI) ก็จะพัฒนารุดหน้าได้เร็วขึ้น และจะสามารถขยายขอบเขตครอบคลุมเขตการค้าเสรีที่เกิดขึ้นภายใต้ RCEP และทำให้ความร่วมมือระหว่างประเทศมีมิติที่ลงลึกมากขึ้น  เพราะ RCEP และ BRI จะส่งเสริมและเติมเต็มให้กันและกัน และโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกของไทย (อีอีซี) ก็สามารถเชื่อมเข้าหา BRI ของจีน โดยไทยพร้อมจะให้การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศที่ไร้ตะเข็บ(เขตแดน) และการผนวกรวมความร่วมมือระหว่างภูมิภาคและอนุภูมิภาคภายใต้ RCEP และ BRI

595959859

[caption id="attachment_347372" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]