สคฝ.สานต่อ 5 ยุทธศาสตร์ โชว์กองทุนแกร่ง 1.13 แสนล้าน

05 มี.ค. 2559 | 09:30 น.
สคฝ.เรียกเชื่อมั่น-ป้องกันความเสียหาย "ผู้ฝากเงิน"พัฒนาระบบชำระบัญชีให้มีประสิทธิภาพ /แก้กฎหมายลดกระบวนการไม่ต้องยื่นคำขอ เดินหน้าสานต่อ 5 ยุทธศาสตร์ปี 59 แจงผลตอบแทนจากการบริหารกองทุนเฉลี่ย 3% ต่อปี

ตั้งแต่วันที่ 11สิงหาคม 2559 เป็นต้นไป สถาบันคุ้มครองเงินฝาก(สคฝ.)จะให้ความคุ้มครองผู้ฝากเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อคนต่อสถาบันการเงินโดยครอบคลุมผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ 98.24% ของจำนวนผู้ฝากเงินทั้งระบบ 68.9 ล้านราย วงเงินฝากประมาณ 12.3 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ สคฝ.จะให้ความคุ้มครองผู้ฝากเงินเป็นรายสถาบันการเงิน โดยผู้ฝากจะต้องได้รับเงินฝากคืนภายในเวลากำหนดที่รวดเร็วกรณีที่สถาบันการเงินแห่งหนึ่งแห่งใดถูกเพิกถอนใบอนุญาต

ต่อประเด็นดังกล่าวนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะประธานกรรมการสคฝ. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้แก้ไขกระบวนการให้ผู้ฝากเงินได้รับเงินฝากคืนภายในเวลารวดเร็วไม่เกิน 30 วันจากปัจจุบันที่กำหนดไว้ประมาณ 150วันโดยที่ผู้ฝากเงินไม่ต้องยืนคำขอต่อสถาบันการเงินเจ้าของบัญชี ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติตั้งแต่ประเทศไทยเริ่มใช้พระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝากพ.ศ. 2551(11ส.ค.2551)

ทั้งนี้ปัจจุบันสถาบันการเงินไทยทั้งระบบจะได้รับการดูแลอย่างดีทั้งตัวเลขสถานะและการกำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และยังมีเครดิตบูโรหรือบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติฯ(เอ็นซีบี)สะท้อนประวัติทางการเงิน ฉะนั้นอนาคตและวันนี้สถาบันการเงินจะเห็นสถานะของทุกบัญชีทั้งเงินฝากและเงินกู้

อีกทั้งปัจจุบัน(ณ สิ้นปี2558) สถาบันการเงินไทยทั้งระบบ 36 แห่งมีอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 17.45%เป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1(Tier 1)อยู่ที่ 14.60% มีเงินสภาพคล่องเหลือเฟือที่ระดับ 24.67%สำรองหนี้ต่อเอ็นพีแอลอยู่ที่อัตรา 131%จำนวนเงิน 4.43 แสนล้านบาทจากยอดหนี้เอ็นพีแอลทั้งระบบคิดเป็น 2.56%โดยรวมมีเงินกองทุนคุ้มครองเงินฝาก1.13 แสนล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อการดูแลสถาบันการเงิน

" อนาคต ถ้าถึงจุดสถาบันการเงินแห่งใดแห่งหนึ่งปิดสคฝ.ต้องดำเนินการคืนเงินให้ผู้ฝากเงินโดยอัตโนมัติไม่เกิน 30วันไม่ต้องยืนคำขอ หลังจากนั้นเมื่อชำระบัญชีแล้วจึงทยอยเงินส่วนที่เหลือตามบุริมสิทธิ แต่ยืนยันว่าสถาบันการเงินไทยทั้งระบบเข้มแข็ง ซึ่งคนส่วนใหญ่ได้รับการคุ้มครองดูแลและที่มีวงเงินเกิน1-2%ส่วนใหญ่มีความเชี่ยวชาญการลงทุนที่แทบไม่ขอความช่วยเหลือจากเราและได้บริหารจัดการมา 8ปีแล้ว"

นายสรสิทธิ์ สุนทรเทศ กรรมการและเลขานุการสคฝ. กล่าวว่า ฐานะของกองทุนคุ้มครองเงินฝาก ณ สิ้นปี 2558 มีจำนวน 1.13 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,604 ล้านบาทากปีก่อน โดยมีเงินเงินนำส่งจากสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองทั้งสิ้น1,155 ล้านบาท (อัตรา 0.01% ต่อปีของยอดเงินฝาก) โดยมีผลตอบแทนเป็นที่พอใจเฉลี่ยอยู่ที่ 3%ต่อปีโดยกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์ตามกฎหมายกำหนดเช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง ตราสารหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน เป็นต้น

นอกจากนี้ในปี2559 สคฝ.กำหนดแผนยุทธศาสตร์เป็น 5 ด้าน ได้แก่ 1. พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในระบบตาข่ายความมั่นคงทางการเงินของประเทศ 2. สื่อสารให้ประชาชนเข้าใจระบบการคุ้มครองเงินฝาก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการใช้บริการทางการเงิน และคุ้มครองประโยชน์ของผู้ฝากเงิน 3. ร่วมมือกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันปัญหาระบบสถาบันการเงิน 4. พัฒนาระบบการจ่ายคืนเงินฝากที่ทันสมัยและรวดเร็ว 5. พัฒนาระบบชำระบัญชีให้มีประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ของเจ้าหนี้และผู้ฝากเงิน ทั้งนี้เพื่อสานต่อพันธกิจสู่เป้าหมายป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผู้ฝากเงินและเพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบคุ้มครองเงินฝากของประเทศที่มีความมั่นคง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,136 วันที่ 3 - 5 มีนาคม พ.ศ. 2559