"เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์" สื่อใหญ่ของฮ่องกงรายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ ว่า นอกเหนือจากผู้ซื้อที่เป็นนักลงทุนเก็งกำไรและเศรษฐีจากจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงที่ต้องการโยกย้ายเงินออกมาลงทุนนอกประเทศแล้ว อีกกลุ่มหนึ่งของผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย คือ บรรดาผู้มีอันจะกินจากจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ต้องการส่งลูกมาเรียนในโรงเรียนนานาชาติที่ประเทศไทย เพราะค่าเล่าเรียนของโรงเรียนนานาชาติในจีนแผ่นดินใหญ่นั้นแพงกว่ามาก
เพ็กกี้ หวัง แม่ของเด็กหญิงวัย 10 ขวบ และเด็กชายวัย 6 ขวบให้ข้อมูลกับสื่อจีน ว่า เธอตัดสินใจย้ายมาอยู่เชียงใหม่ เพราะค่าเล่าเรียนที่เชียงใหม่นั้นไม่ถึง 60,000 หยวนต่อปี (ประมาณ 2.86 แสนบาท ณ อัตรา 1 หยวน = 4.77 บาท) ซึ่งถูกกว่าค่าเล่าเรียนในโรงเรียนนานาชาติ 2 ภาษา ในกรุงปักกิ่ง ที่เธอเคยต้องจ่ายถึง 240,000 หยวนต่อปี (กว่า 1.14 ล้านบาท) นอกจากนี้ ครูในโรงเรียนที่ปักกิ่งยังเปลี่ยนบ่อย แต่ที่เมืองไทย เธอสังเกตว่า ครูจะมีครอบครัวอยู่ที่เมืองไทย จึงสอนเด็กได้ยาวนานต่อเนื่อง และเมื่อออกมานอกโรงเรียน ลูกก็ยังได้ใช้ภาษาอังกฤษ ต่างจากที่ปักกิ่งที่เธอต้องจ้างครูสอนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมให้ลูก เพราะสิ่งแวดล้อมนอกโรงเรียนไม่เอื้อให้เด็กได้ใช้ภาษาต่างประเทศ
ในอนาคตเธอยังมีแผนให้ลูกมาเรียนโรงเรียนนานาชาติในกรุงเทพฯ ซึ่งค่าเล่าเรียนอาจขยับขึ้นมาเป็น 100,000 หยวนต่อปี และเพื่อเตรียมการไว้ก่อน เธอจึงได้ซื้อคอนโดฯ ขนาด 31 ตารางเมตร ไว้ที่กรุงเทพฯ ในราคา 650,000 หยวน (ประมาณ 3.1 ล้านบาท) ดังนั้น ตอนนี้เธอจึงมีที่พักที่ซื้อไว้รวม 3 แห่ง คือ บ้านที่เชียงใหม่ คอนโดฯ ที่กรุงเทพและพัทยา เธอมองว่า ประเทศไทย คือ จุดหมายปลายทางที่เหมาะสมทั้งด้านการศึกษาของลูก ๆ และเพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
จากข้อมูลของ Juwai.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์เพื่อการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศของจีน พบว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ (2561) ยอดสอบถามและแจ้งความสนใจที่จะซื้อหาอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยนั้นมีปริมาณมากเกินยอดของปี 2560 ทั้งปีแล้ว โดยไทยยังได้ไต่อันดับจากที่ 3 ในปี 2560 มาเป็นที่ 1 ในปีนี้ ในฐานะประเทศที่ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ของจีนให้ความสนใจมากที่สุด (The Top Destination for Chinese buyers) ทั้งนี้ นับจากต้นปี 2560 เป็นต้นมา ทางเว็บไซต์ได้รับแจ้งความสนใจที่จะซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยคิดเป็นมูลค่ารวมถึง 962.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 31,752 ล้านบาท (ณ อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์ = 33 บาท)
ปัจจัยเรื่องค่าเล่าเรียนนับเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญประกอบการตัดสินใจในกลุ่มผู้ซื้อที่เป็นพ่อแม่ผู้ปกครอง ข้อมูลจากฐานข้อมูลโรงเรียนนานาชาติ พบว่า โรงเรียนนานาชาติเซี่ยงไฮ้มีค่าเล่าเรียนแพงที่สุดในโลกที่อัตรา 2,744 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน (กว่า 90,552 บาท) ตามมาด้วยโรงเรียนนานาชาติกรุงปักกิ่งที่แพงเป็นอันดับ 2 (2,519 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน) เปรียบเทียบกับค่าเล่าเรียนรายเดือนของโรงเรียนนานาชาติในไทยและบาห์เรน จะเห็นว่าแพงกว่ากันมาก (ในไทยตกประมาณ 1,032 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อเดือน และบาห์เรน 422 ดอลลาร์สหรัฐฯ)
นอกเหนือจากปัจจัยค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาแล้ว ปัจจัยอื่น ๆ ที่ขับดันให้ชาวจีนขนเงินออกมาลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยมากขึ้น คือ ค่าเงินหยวนที่กำลังอ่อนตัวลง ทำให้เกิดความกังวลว่า หากเก็บเงินไว้กับตัวภายในประเทศ (จีน) ก็มีแต่จะด้อยค่าลงเรื่อย ๆ นอกจากนี้ เงินเฟ้อของจีนยังอยู่ในอัตราสูง และไม่มีทางเลือกการลงทุนอื่น ๆ ภายในประเทศมากนัก ในอดีตนั้น ชาวจีนนิยมขนเงินไปลงทุนในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย แต่ปัจจุบัน ไทยแซงหน้าขึ้นมาโดดเด่นมาก เนื่องจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์อยู่ใกล้กับประเทศจีนมากกว่าและราคาอสังหาริมทรัพย์ก็ถูกกว่าในประเทศจีน
คริส เติ้ง นักธุรกิจชาวจีนจากเมืองนานจิง ซึ่งเดินทางไปมาระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาบ่อย ๆ เปิดเผยว่า ปีนี้ (2561) เขาตัดสินใจซื้อคอนโดฯ ขนาด 35 ตารางเมตร ในกรุงเทพฯ ที่ราคา 1.3 ล้านหยวน เพราะหวังจะส่งลูกสาวอายุ 2 ขวบ มาเรียนโรงเรียนอนุบาลนานาชาติในประเทศไทย และหากเป็นไปได้ก็อาจจะให้เรียนประถมในไทยด้วย เพราะอยากให้ลูกเติบโตในบรรยากาศที่เป็นนานาชาติ เขามองว่า การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในไทยเป็นส่วนหนึ่งของพอร์ทการลงทุนใหญ่ของเขา ซึ่งมีทั้งในสหรัฐอเมริกาและจีนแผ่นดินใหญ่