จี้เอกชนเร่งลงทุนก่อนยากระตุ้นรัฐหมดอายุ ชี้สุดคุ้มช่วยประหยัด/ลดต้นทุน/ดันจีดีพีโต

09 มี.ค. 2559 | 13:00 น.
ลุ้นมาตรการคลัง-ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เข็นจีดีพีไทยปี 59 ตามเป้ากว่า 3% ค่าย "กรุงไทย"แนะเอกชนลงทุนตามแผนล่วงหน้า 1-2 ปีเพื่อใช้สิทธิประโยชน์หักลดหย่อนทางภาษีได้ 2 เท่า เผยลงทุนภาครัฐขยายตัว 10%

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีแนวโน้มเปราะบาง โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนและประเทศในเอเชียที่ชะลอลงตามการส่งออกที่ยังหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่หน่วยงานเศรษฐกิจเตรียมทบทวนการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งปีนี้

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2559 ว่า จีดีพีปีนี้อยู่ในวิสัยที่ประมาณการไว้โดยเฉพาะถ้าโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสามารถลงนามได้ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาได้รับทราบความคืบหน้าจากกระทรวงคมนาคมว่า น่าจะลงนามในสัญญาโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมดมูลค่า 1.7 ล้านล้านบาทโดยประมาณกว่า 6 หมื่นล้านบาทที่สามารถดำเนินโครงการก่อน

ขณะเดียวกันมาตรการการเงินการคลังที่ได้ผลักดันไปก่อนหน้า ไม่ว่ามาตรการสินเชื่อผ่านกองทุนหมู่บ้าน หรือมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาท รวมวงเงินกว่า 3.6 หมื่นล้านบาทโดยคืบหน้าทำสัญญาแล้วกว่า 3 หมื่นล้านบาท เบิกจ่ายจริง 7 พันล้านบาท หรือมาตรการระยะเร่งด่วนสำหรับเอสเอ็มอีผ่านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) 1.5 แสนล้านบาท และโครงการค้ำประกันสินเชื่อผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง เป็นต้น

โดยเฉพาะปีนี้ทั้ง 3 หน่วยงานคือ สศค.คาดไว้ที่ 3.5% สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดที่ 3.3% (2.8-3.8%) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดไว้ที่ 3.5% แม้ตัวเลขจะแตกต่างแต่แนวทางคล้ายกันคือ อัตราเติบโตจีดีพีทั้งปีสูงกว่า 3% แน่ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวทำให้มั่นใจและยืนยันซึ่งกันและกัน ท่ามกลางภาวการณ์ฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ยังเป็นปัญหาสะท้อนความพยายามทุกประเทศหันมาให้น้ำหนักปัจจัยภายใน อย่างไรก็ตามสศค.กำหนดจะทบทวนตัวเลขประมาณการเดือนเมษายนอีกครั้ง (ธปท.กำหนดทบทวนสิ้นเดือนมี.ค.นี้)

นายรชตพงศ์ สุขสงวน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยความเสี่ยงธุรกิจธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมาธนาคารปรับลดประมาณการจีดีพีทั้งปีนี้เหลือ 3.2% จากเดิมคาดไว้ที่ระดับ 3.5% โดยอยู่บนสมมติฐานการบริโภคเอกชนขยายตัว 2.2% การบริโภคภาครัฐ 3.6% การลงทุนเอกชน 3.1% ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ติดลบ

"ปีนี้มองว่ามาตรการภาครัฐเป็นปัจจัยสนับสนุน โดยเฉพาะมาตรการสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่รัฐบาลกำหนดให้เอกชนลงทุนภายในสิ้นปีนี้โดยสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่า จึงเอื้อต่อภาคธุรกิจที่มีแผนจะลงทุนอยู่แล้วในอีก 1-2 ปีข้างหน้าสามารถเร่งการลงทุนในปีนี้ซึ่งช่วยประหยัดและลดต้นทุนลงด้วย"

นอกจากนี้ยังมีมาตรการซอฟต์โลน 1.5 แสนล้านบาท บวกกับการลงทุนภาครัฐที่จะเห็นมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นรถไฟรางคู่ หรือรถไฟฟ้าสายต่างฟ และสายสีเขียว เหล่านี้ล้วนมีส่วนในการดึงให้ภาคเอกชนลงทุนตามเพิ่ม โดยประเมินการลงทุนภาครัฐมีโอกาสขยายตัว 10%แต่ภาคส่งออกยังคงติดลบ 0.7% สะท้อนการติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 4

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการบริโภคภาคเอกชนที่มองการขยายตัว 2.2% หรือไม่โตจากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 2.4% นั้น สาเหตุหลักมาจากปัญหาภัยแล้งมีแนวโน้มจะรุนแรงกว่าที่คาดไว้เดิมนอกจากกระทบต่อรายได้ภาคเกษตรแล้วยังส่งผลต่อภาคการผลิตด้วย

"ในแง่ของการเติบโตของจีพีพีหากเทียบเป็นรายไตรมาสคาดว่าไตรมาสแรก/2559 มีโอกาสชะลงจากไตรมาส 4/2558 เพราะที่ผ่านมาได้มีการดึงอุปสงค์ล่วงหน้าไม่ว่าจะเป็นมาตรการช็อปช่วยชาติหรือผลจากการปรับขึ้นภาษีรถยนต์เร่งการตัดสินใจซื้อก่อนกรมสรรพสามิตจะปรับขึ้นอัตราภาษีรถยนต์"

ก่อนหน้านี้ ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์โดยประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะเติบโต 2.5% โดยมีแรงสนับสนุนมาจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายใน ทั้งจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่มีการตั้งงบประมาณลงทุนเพิ่มสูงขึ้นกว่า 20% จากปีก่อนและการลงทุนของภาคเอกชนที่จะกลับมาขยายตัวอีกครั้งหลังจากหดตัวในปีที่ผ่านมา โดยได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล อาทิ มาตรการเร่งรัดโครงการ PPP และ การเพิ่มแรงจูงใจในการลงทุนผ่านสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ

นอกจากนี้ ด้านการบริโภคยังคงฟื้นตัวช้าโดยมีแรงกดดันจากรายได้เกษตรกรที่ยังคงตกต่ำ อีกทั้ง ยังต้องเผชิญกับภัยแล้งที่จะส่งผลต่อปริมาณผลผลิตและหนี้ครัวเรือนในระดับสูง โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะช่วยให้การบริโภคในหมวดสินค้าไม่คงทนและความมั่นใจผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น แต่น่าจะมีผลแค่ในระยะสั้น ทั้งนี้ ภาคการท่องเที่ยวจะเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยปริมาณนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นถึง 9% ซึ่งนำโดยนักท่องเที่ยวจีน

อีไอซีเชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถผลักดันให้เกิดการลงทุนได้ในปีนี้ แต่ปัจจัยลบจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นจะยังคงฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจโลกจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยแต่ยังคงมีความเปราะบางสูง โดยการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะเป็นไปอย่างช้าๆ โดยอาศัยแรงสนับสนุนหลักจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทำให้ภาคบริการกลายเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจในทุกภูมิภาค รวมทั้งจีน ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังคงได้รับผลกระทบจากกำลังการผลิตส่วนเกินและการชะลอตัวของอุปสงค์ในจีน ทำให้การค้าระหว่างประเทศยังคงไม่ดีขึ้น อีกทั้ง ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับต่ำในปีนี้ ประกอบกับปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยังคงเรื้อรัง ปัจจัยข้างต้นเป็นอุปสรรคสำคัญต่อภาคการส่งออกไทยยังซบเซา

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135 วันที่ 6 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2559