นิคมฯลำพูนส่อภัยแล้งวิกฤติ กนอ.ระดมซื้อนํ้าดิบจากภาคเอกชน8แสนคิวกระทบต้นทุนพุ่ง

07 มี.ค. 2559 | 11:00 น.
น้ำมันาภัยแล้งเล่นงานนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือแล้ว กนอ.งัดแผนกู้วิกฤติ สั่งซื้อน้ำจากภาคเอกชน 8 แสนลบ.ม.ไว้สำรองแล้ว หลังไม่สามารถสูบน้ำผลิตประปาจากลำน้ำแม่กวงที่แห้งได้ "วีรพงศ์" ยันผ่านพ้นวิกฤติได้ ยังมีน้ำสำรองอีก 4 แสนลบ.ม.และสูบจากบ่อบาดาลอีก 8 พันลบ.ม.ต่อวัน นักลงทุนไม่ต้องวิตก แต่ขอปรับราคาค่าน้ำประปา หลังต้นทุนซื้อน้ำพุ่ง ส่วนนิคมฯลุ่มเจ้าพระยา เฝ้าจับตามหวั่นน้ำเค็มรุกล้ำกระทบผลิตประปา

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงแผนการรับมือภัยแล้งที่จะเกิดกับภาคอุตสาหกรรมว่า ขณะนี้กนอ.ได้จัดทำแผนบริหารจัดการปัญหาภัยแล้ง ในพื้นที่นิคมฯทุกแห่งทั่วประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดย กนอ.จะที่เป็นหน่วยงานกลางในการเป็นศูนย์เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ด้านข้อมูลปริมาณน้ำกักเก็บ และน้ำท่าจากกรมชลประทาน ข้อมูลสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาและเป็นศูนย์กลางบัญชาการในการสั่งการแก้ไขปัญหากรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เพื่อรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้งนั้น พบว่า นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ในจังหวัดลำพูน เนื้อที่ 1.788 พันไร่ มีผู้ประกอบการอยู่จำนวน 75 โรงงาน มีแรงงาน 4.5 หมื่นคน มูลค่าการลงทุน 6 หมื่นล้านบาท กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติในการจัดหาแหล่งน้ำดิบธรรมชาติเพื่อมาทำน้ำประปา เนื่องจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่เคยใช้ในปกติได้ลดลงอย่างรวดเร็ว

ทั้งนี้ เป็นผลจากปริมาณน้ำในเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ที่ไหลลงแม่น้ำกวง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบในการทำประปาของนิคมฯภาคเหนือ มีปริมาณน้ำอยู่ในระดับต่ำไม่เกิน 20% ของความจุอ่าง ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำกวงแห้งไม่สามารถสูบขึ้นมาเก็บไว้ในอ่างภายในนิคมฯได้แล้ว จากที่ผ่านมาสูบมาเก็บกักไว้ได้ 4 แสนลูกบาศก์เมตร

ดังนั้น แนวทางการแก้ปัญหาทางกนอ.จึงจำเป็นต้องเจรจาขอซื้อน้ำจากบ่อดินของภาคเอกชนในระยะแรกนี้ 3 แสนลูกบาศก์เมตร ในราคา 7 บาทต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ เป็นต้นมาแล้ว เพื่อมาใช้เป็นน้ำสำรองในการผลิตประปาป้อนให้กับลูกค้าในนิคม และหากยังไม่เพียงพอ ก็จะมีบ่อดินแหล่งที่ 2 เพิ่มขึ้นอีก 5 แสนลูกบาศก์เมตร

นายวีรพงศ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กนอ.ได้ร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ทำการขุดเจาะบ่อบาดาล เสร็จแล้ว 1 บ่อ สามารถสูบน้ำได้ถึง 1.6 พันลูกบาศก์เมตรต่อวัน และกำลังทำการขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่มอีก 2 บ่อ สูบน้ำได้บ่อละ 3.2 พันล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งจะดำเนินการแล้วเสร็จประมาณปลายเดือนเมษายนนี้

ทั้งนี้ จากปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ 4 แสนลูกบาศก์เมตร จากบ่อบาดาลอีก 8 พันลูกบาศก์เมตรต่อวัน การนำน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วมาใช้ใหม่ 1 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อวัน และการซื้อน้ำจากภาคเอกชนมาสำรองไว้ที่ 8 แสนลูกบาศก์เมตร จะช่วยให้มีน้ำเพียงพอไม่ต่ำกว่า 200 วัน สามารถที่ผ่านพ้นวิกฤติหน้าแล้งนี้ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้

อย่างไรก็ตาม จากปริมาณน้ำดิบที่จัดหามาจากภาคเอกชนนั้น ทำให้กนอ.ต้องใช้งบประมาณค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำประปาที่สูงขึ้น ซึ่งในส่วนนี้กำลังอยู่ระหว่างการหารือกับผู้ประกอบการในนิคมที่จะขอปรับราคาค่าน้ำขึ้นไป เนื่องจากเป็นเหตุสุดวิสัยจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้น ซึ่งคาดว่านักลงทุนจะเข้าใจในต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมา

ส่วนปัญหาภัยแล้งที่จะกระทบนิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากนี้นั้น ยังไม่เกิดขึ้น เพียงมีการเฝ้าระวังหรือจับตาเป็นพิเศษในนิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเป็นพิเศษ เป็นนิคมที่อยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เช่น นิคมฯบางปะอิน นิคมฯบ้านหว้า ที่พึ่งแหล่งน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระในการผลิตน้ำประปา ซึ่งต้องเฝ้าติดตามว่าคุณภาพน้ำหรือน้ำเค็มจะขึ้นสูงถึงจนส่งผลให้ผลิตน้ำประปาได้หรือไม่ หากได้รับผลกระทบกนอ.ก็มีแผนที่จะให้นิคมฯหันมาใช้น้ำบาดาลแทน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,135 วันที่ 6 - 9 มีนาคม พ.ศ. 2559