'ทรูฯ' ขานรับ! เปิดธุรกรรม "ภาษีออนไลน์"

12 ธ.ค. 2561 | 12:56 น.
121261-1936

หวั่นกฎหมายรีดภาษีออนไลน์ทำพร้อมเพย์สะดุด! หลังผู้ใช้ผวา ด้าน "ทรูมันนี่" ลั่น! พร้อมรายงานสรรพากร ขณะที่ 'สรรพากร' แจงยิบไม่มีเจตนาเก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ แต่ต้องการดึงเข้าสู่ระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์เต็มรูปแบบ

จากกรณีที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ...) พ.ศ. .... เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นว่าด้วยการชำระเงินภาษีผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์และนิติบุคคล ที่มีความเคลื่อนไหวทางบัญชีรับโอนและฝากเงินเกิน 3,000 ครั้งต่อปี และมีแก้ไขเนื้อหาในเรื่องการให้สถาบันการเงินรายงานการทำธุรกรรมฝากและรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกัน ตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปี และมียอดรวมเงิน 2 ล้านบาทขึ้นไป ที่ต้องถูกรายงานให้กรมสรรพากรทราบนั้น สร้างความกังวลให้กับผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ และผู้ให้บริการการเงินอิเล็กทรอนิกส์

 

[caption id="attachment_360526" align="aligncenter" width="503"] ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ ตลาดดอทคอม (Tarad.com) ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ ตลาดดอทคอม (Tarad.com)[/caption]

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ ตลาดดอทคอม (Tarad.com) กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า เห็นด้วยกับการมีกฎหมายดังกล่าว เนื่องจากรัฐต้องการจัดเก็บภาษีจากกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยที่กฎหมายดังกล่าวออกมาในช่วงเวลานี้ เพราะเกรงว่าจะกระทบกับนโยบายส่งเสริมการใช้งานเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-มันนี่ และพร้อมเพย์ รวมถึงนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยเข้าสู่อี-คอมเมิร์ซ ซึ่งมองว่า การออกกฎหมายดังกล่าวมาในช่วงที่กลุ่มผู้ใช้และผู้ประกอบการรายย่อยไม่มีความพร้อม อาจสร้างให้เกิดความกลัวและไม่กล้าใช้ช่องทางธุรกรรมการงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์

"การออกกฎหมายดังกล่าวมาในช่วงเวลานี้เหมือนตีปลาหน้าไซ เพราะรัฐต้องการส่งเสริมการใช้อี-มันนี่ หรือ ผลักดันสังคมไร้เงินสดผ่านพร้อมเพย์ แต่ออกกฎหมายมาเพื่อตรวจสอบการทำธุรกรรมเพื่อจัดเก็บภาษี"

ด้าน นางสาวมนสินี นาคปนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการทรูมันนี่ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างให้ทีมงานศึกษากฎหมายดังกล่าวอยู่ ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะกระทบกับการใช้งานอี-วอลเล็ตของผู้ใช้บริการหรือไม่ แต่ในทางปฏิบัตินั้น ที่ผ่านมา มีการตรวจธุรกรรมผิดปกติและมีการส่งข้อมูลการทำธุรกรรมให้กับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ดังนั้น เชื่อว่าหากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ก็พร้อมส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรเช่นเดียวกัน

 

[caption id="attachment_360527" align="aligncenter" width="503"] ©mohamed_hassan ©mohamed_hassan[/caption]

ขณะที่ นายปิ่นสาย สุรัสวดี รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า กรมสรรพากรยืนยันว่า การยกร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบแล้ว จึงไม่ได้เป็นการแก้ไขกฎหมายที่กระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เกินกว่าเหตุ เป็นการใช้สิทธิที่ชอบเพื่อประโยชน์สาธารณะและยืนยันว่า เป็นการส่งข้อมูลไปทำการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้เสียภาษี กลุ่มผู้เสียภาษี เพื่อทำแผนปรับปรุงประสิทธิภาพจัดเก็บต่อไป ไม่ได้นำข้อมูลไปตรวจสอบเรียกเก็บภาษีแต่อย่างใด

การแก้ไขกฎหมายมีวัตถุประสงค์หลักเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียภาษี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนของกรมที่จะเดินหน้าเรื่องอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบ โดยสาระสำคัญ คือ จะช่วยให้การเสียภาษี หัก ณ ที่จ่าย ในอัตรา 3% ซึ่งจากเดิมผู้เสียภาษีจะต้องเตรียมเอกสารมายื่นต่อกรมเอง แต่ต่อไป สถาบันการเงินจะทำหน้าที่หักภาษีและถือเป็นผู้ยื่นแบบเสียภาษีให้กรมสรรพากรแทนทั้งหมด และยังเป็นการรองรับระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในการยื่นเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจากเดิมที่ต้องยื่นเอกสารเป็นกระดาษ ก็จะเปลี่ยนเป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์แทน

 

[caption id="attachment_360528" align="aligncenter" width="503"] ©mohamed_hassan ©mohamed_hassan[/caption]

ทั้งนี้ ภายใต้กฎหมายดังกล่าว กำหนดให้สถาบันการเงิน รวมถึงนอนแบงก์ ต้องแจ้งข้อมูลบัญชีที่รับเงินเข้าเท่านั้น ไม่รวมโอนออก ภายใต้ 2 เงื่อนไข คือ 1.ฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีของ 1 บุคคล รวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปีต่อธนาคาร และ 2.การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปีต่อธนาคาร และยอดรวมของการรับโอนตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป

ส่วนกรณีที่กังวลว่าจะไปเรียกเก็บภาษีจากกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์และกลุ่มเอสเอ็มอีหรือไม่นั้น ยืนยันว่า กฎหมายดังกล่าวไม่ได้มีเจตนาโดยตรงที่จะเข้าไปจัดเก็บภาษีเหล่านี้ เพราะตามประมวลรัษฎากร ผู้มีรายได้มีหน้าที่ยื่นแบบเสียภาษีอยู่แล้ว ไม่ได้หมายความว่า มีกฎหมายนี้แล้วจะต้องเสียภาษี โดยวิธีการเสียภาษีมี 2 เกณฑ์ ขึ้นกับเกณฑ์ไหนมากกว่า คือ 1.เรียกว่าพันละ 5 บาท คือ 1 ล้านบาท จะเสียภาษี 5 พันบาท ซึ่งหากวงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่ต้องรายงาน ก็จะเสียเพียง 1 หมื่นบาทเท่านั้น กับอีกวิธี คือ นำรายได้มาหักค่าใช้จ่าย หักค่าลดหย่อน หักค่าบริจาคเหลือเท่าไหร่ จึงไปดูตามอัตราภาษีที่จะต้องจ่าย

อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2563 และจะมีผลต่อการยื่นแบบเสียภาษีในปี 2564 ขณะนี้ อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขรายละเอียดในการดำเนินงาน เช่น จะไม่นับข้อมูลผู้ที่ฝากโอนหรือถอนเงินเข้าบัญชีตัวเอง รวมทั้งการเปิดบัญชีครั้งแรก 2 ล้านบาท ก็จะไม่ให้ส่งข้อมูลเข้ามาที่กรมและการเปิดบัญชีร่วมที่อยู่ระหว่างหาข้อสรุปว่า จะนับจำนวนที่บุคคลใด


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,425 วันที่ 9 - 12 ธ.ค. 2561 หน้า 01+15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
สรรพากรเร่งปรับแก้กฎหมายเดินหน้าจัดเก็บภาษีออนไลน์
สุดต้านเสียงค้าน! สรรพากรรื้อ! 'ภาษีออนไลน์' ยันไม่ขัดกับอนุสัญญาภาษีซ้อน


เพิ่มเพื่อน
595959859