แบงก์อู้ฟู่! รับ 1.6 หมื่นล้าน อานิสงส์ดอกเบี้ยขึ้นฝาก ธปท. กินส่วนต่าง 1.25%

26 ธ.ค. 2561 | 13:48 น.
'ทีเอ็มบี' ชี้ ธปท. ขยับดอกเบี้ย 0.25% เอื้อประโยชน์แบงก์ 1.6 หมื่นล้านบาท เหตุนำสภาพคล่อง 1.3 ล้านล้านบาท กินผลตอบแทน 1.25% ลั่น! ไม่ช่วยแก้เสถียรภาพการเงิน ด้าน "ซีไอเอ็มบี ไทย" เชื่อกลไกตลาดทำหน้าที่ ท้ายที่สุดแบงก์ขยับขึ้นดอกเบี้ย

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. มีมติขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ครั้งแรกในรอบ 7 ปี 4 เดือน ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบาย (RP) ปรับขึ้นจาก 1.5% เป็น 1.75% และยังส่งผ่านไปยังสถาบันการเงินในระบบ โดยจะเห็นว่า ธนาคารออมสินประกาศปรับดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทขึ้นทันที 0.25% ขณะที่ ฝั่งสินเชื่อยังไม่มีธนาคารรายใดขยับ หลายแห่งเลือกที่จะตรึงไว้ก่อน

 

[caption id="attachment_364653" align="aligncenter" width="321"] นริศ สถาผลเดชา นริศ สถาผลเดชา[/caption]

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ (TMB Analytic) ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ มองว่า กนง. ต้องการเก็บกระสุนไว้ใช้ในยามจำเป็น หรือ Policy Space และเพื่อแก้ปัญหาเสถียรภาพทางการเงิน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับตํ่าเป็นเวลานานส่งผลให้ผู้ฝากเงินแสวงหาผลตอบแทน หรือ ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น โดยประเมินความเสี่ยงตํ่ากว่าความเป็นจริง อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะเอื้อต่อธนาคารพาณิชย์มากกว่าผู้ฝากเงิน เนื่องจากจะไปกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์นำสภาพคล่องส่วนเกินไปฝากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ Bilateral Reversed Repo มากขึ้น เพราะจะได้รับอัตราดอกเบี้ยส่วนต่าง 1.25% เมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยผู้ฝากเงินออมทรัพย์ที่ได้ดอกเบี้ยเพียง 0.5% ซึ่งวิธีการบริหารจัดการสภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารหลัก ๆ มี 2 วิธี คือ หากไม่ฝาก ธปท. จะเก็บเป็นเงินสด หรือ การลงทุนในพันธบัตร ซึ่งมีความเสี่ยง

ทั้งนี้ ขณะนี้มีสภาพคล่องส่วนเกินที่ธนาคารนำไปฝากประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท ที่ ธปท. จะต้องรับกลับไปด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ 1.75% หากหักดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ 0.5% จะเหลืออัตราดอกเบี้ย 1.25% โดยธนาคารได้นำสภาพคล่องที่มี 1.3 ล้านล้านบาท ไปทำ Bilateral Reversed Repo ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ได้ผลตอบแทนราว 1.6 หมื่นล้านบาท โดยที่ไม่มีความเสี่ยง เมื่อเทียบกับการลงทุนประเภทอื่น ๆ

"อย่าง "การซื้อพันธบัตร" หรือ "การปล่อยสินเชื่อ" จะมีต้นทุนในการบริหารจัดการ เช่น ปล่อยสินเชื่อธุรกิจได้อัตราดอกเบี้ย 6% แต่ธนาคารต้องเจอการกันสำรองราว 3% ต้นทุนเงินฝาก 0.5% และต้นทุนบริหารจัดการ และการตั้งสำรองตามมาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) และยังมีความเสี่ยงจากการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ดังนั้น ธนาคารนำสภาพคล่องไปฝาก ธปท. ได้ 1.25% น่าจะดีกว่านำไปปล่อยสินเชื่อ"


MP24-3429-A

ดังนั้น มองว่าการนำสภาพคล่องไปฝาก ธปท. ถือเป็นต้นทุนประเทศที่ประชาชนที่ฝากเงินอาจเสียโอกาสได้ดอกเบี้ยที่ดี และอาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น (Search for Yield) ภายใต้การประเมินความเสี่ยงที่ตํ่าได้ ซึ่งอาจทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่จำเป็นต้องรีบขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก แต่ต้องไปพิจารณาว่า การปรับนโยบายการเงินจะสามารถแก้ปัญหาเสถียรภาพทางการเงินได้หรือไม่ เพราะถ้าสามารถแก้ปัญหาได้ ดอกเบี้ยเงินฝากของประชาชนก็ควรจะปรับขึ้น เพราะจะกระทบกับคนฝากเงินมากกว่าผู้กู้ ขณะเดียวกัน หากดอกเบี้ยธนาคารปรับขึ้น ภาคที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยต่าง ๆ เช่น อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) หรือ อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทวงเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) จะปรับขึ้นทันที ซึ่งแตกต่างจากสินเชื่อรายย่อย เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือ สินเชื่อรถยนต์ ที่จะเป็นอัตราดอกเบี้ยที่คำนวณไว้แล้ว จึงไม่กระทบภาระการผ่อนชำระ หรือ สินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต ก็มีเพดานกำหนด ดังนั้น หากมีการขึ้นดอกเบี้ยก็ควรมีมาตรการมาดูแลเอสเอ็มอีด้วย


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก

นายสุธีร์ โล้วโสภณกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจบริหารเงิน ธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เชื่อว่าประเด็นการนำสภาพคล่องไปฝาก ธปท. เพื่อได้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าการปล่อยสินเชื่อ มองว่า ท้ายที่สุด ... กลไกตลาดจะเป็นตัวปรับให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะผู้ฝากเงินจะหันไปลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็น พันธบัตร หุ้นกู้ หรือ ตราสารหนี้ หากธนาคารไม่ได้มีการปรับดอกเบี้ยเงินฝากขึ้น จะทำให้เงินฝากไหลไปลงทุนในแหล่งอื่น ๆ แทน และหากธนาคารต้องการปล่อยสินเชื่อ ทำให้ในท้ายที่สุด ธนาคารต้องปรับดอกเบี้ยขึ้นตาม เพื่อรักษาฐานลูกค้าตัวเองไว้

"กลไกตลาดหนีไม่พ้นที่แบงก์จะต้องปรับดอกเบี้ย เพราะอย่างอื่นขึ้นหมด เช่น ตราสารหนี้ ทำให้คนไม่ฝากเงิน แต่ไปลงทุนแทน ซึ่งที่สุดก็ต้องปรับขึ้น แต่ยอมรับว่า ปัจจุบันสภาพคล่องมีเหลือ แต่จะอีกนานไหม เพราะมีคนทยอยออกหุ้นกู้ราว 3-4 ล้านล้านบาท จากทั้งระบบที่มีเงินฝากอยู่ 12 ล้านล้านบาท"

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 3,429 วันที่  23 - 26 ธันวาคม พ.ศ. 2561

595959859