‘คอฟฟี่ดรีมมี่’ชูกลยุทธ์CRM เจาะตลาดชานมไข่มุก ดันยอดขายครีมเทียมพุ่ง

28 ธ.ค. 2561 | 07:00 น.
ตลาดครีมเทียม 6,000 ล้านคึกคัก “คอฟฟี่ ดรีมมี่” ซุ่มตอดแชร์แบรนด์ยักษ์ ประกาศเดินหน้ารุกหนักเจาะร้านชานมไข่มุก พร้อมชูกลยุทธ์ซีอาร์เอ็ม จัดทริปนำผู้ประกอบการลุยไต้หวัน ดินแดนชาไข่มุก คาดสิ้นปีดันยอดขายทะลุ 1,500 ล้านบาท

ต้องยอมรับว่าตลาดครีมเทียมเมืองไทยซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 6,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมามีการเติบโตลดลงต่อเนื่องราว 3% โดยเหตุผลมาจากกระแสคนรักสุขภาพ ทำให้ลดการบริโภคโดยเฉพาะในครัวเรือน แต่สวนทางกับผู้ประกอบการร้านกาแฟ ชานมไข่มุกที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ตลาดสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการมีการเติบโต โดยข้อมูลนีลเส็น ประเทศไทย พบว่าในปีนี้สัดส่วนยอดขายของครีมเทียมในช่องทางโมเดิร์นเทรด อาทิ แม็คโคร, บิ๊กซี ฯลฯ มีการเติบโตเพิ่มขึ้น และคาดว่าในปีหน้าจะเติบโตราว 100% ขณะที่ในช่องทางเทรดิชันนัลเทรด จะมีการเติบโต 7%

อย่างไรก็ดี ตลาดรวมครีมเทียมเมืองไทยยังถูกครอบครองโดยผู้นำตลาดอย่าง “คอฟฟี่เมต” ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดเกือบ 90% แต่ในช่วงปีที่ผ่านมาพบว่า แบรนด์ “คอฟฟี่ ดรีมมี่” ได้รับกระแสตอบรับดีโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการร้านค้า ทั้งร้านกาแฟ และร้านชาไข่มุก ซึ่งนิยมใช้ครีมเทียมแบบบรรจุถุง 1 กก. จนสามารถครองส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มร้านค้าเป็นอันดับ 1

โดยนายภาณุ มหัทธโนบล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท พรีเซิร์ฟ ฟู้ด สเปเชียลตี้ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ครีมเทียม “คอฟฟี่ ดรีมมี่” เปิดเผยว่า จากกระแสนิยมของเครื่องดื่มชานมไข่มุกที่กลับมาแรงในขณะนี้ ทำให้ผลิตภัณฑ์ครีมเทียม ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญได้รับการตอบรับที่ดีไปด้วย ทั้งนี้จากการศึกษาตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคกาแฟสด และเฮลตี้ไลฟ์สไตล์ ทำให้บริษัทหันมารุกทำตลาดกับกลุ่มผู้ประกอบการกาแฟขนาดเล็ก และกลุ่มผู้ประกอบการชานมไข่มุก ซึ่งยังคงต้องใช้ผลิตภัณฑ์ครีมเทียมเป็นส่วนผสมของเครื่องดื่มบางเมนูเพื่อเพิ่มความหวาน มัน โดยเฉพาะตลาดชานมไข่มุก ซึ่งเป็นตลาดที่เติบโตได้ดี โดยชานมไข่มุกเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มยอดฮิตในกลุ่มวัยรุ่นโดยเฉพาะในอเมริกาเหนือ เอเชีย และประเทศไทยที่เติบโตสูงถึง 2,000 ล้านบาท

[caption id="attachment_365918" align="aligncenter" width="503"] ภาณุ มหัทธโนบล ภาณุ มหัทธโนบล[/caption]

ทำให้บริษัทใช้กลยุทธ์การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า (Customer Relationship Management : CRM) ในการจัดแคมเปญสำหรับผู้ประกอบการขึ้น ภายใต้ชื่อ “คอฟฟี่ดรีมมี่พาบินเปิดสูตรลับชานมไข่มุกที่ไต้หวัน” แคมเปญเชิงรุกที่ต้องการสื่อสารตรงกับลูกค้าที่ใช้ผลิตภัณฑ์ และต้องการสร้างความต่อเนื่องกับลูกค้าในเชิงการให้ข้อมูล ความรู้ ต่อยอดในการทำธุรกิจของลูกค้า โดยนำลูกค้าเที่ยวชมประเทศไต้หวัน เข้าชมโรงงานผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชานมไข่มุก POSSMEI ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นอย่างมากในประเทศไต้หวัน อีกทั้งยังเป็นอคาเดมีแนะนำการเปิดธุรกิจชานมไข่มุกที่ใหญ่ที่สุด มีสาขาในยุโรป เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี, รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐ อเมริกา และประเทศไต้หวันด้วย

IMG_2109

ด้านนายแจ๊คกี้ หวัง ประธาน บริษัท พอสเม่ จำกัด กล่าวว่าตลาดชานมไข่มุกทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 6.5 หมื่นล้านบาทคาดว่าปี 2566 จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนล้านบาท โดยตลาดที่เติบโตเร็วคืออเมริกาเหนือ ฮ่องกง และญี่ปุ่น ซึ่งร้านชานมไข่มุกได้รับความนิยมสูงขึ้นมากไม่แพ้ในไต้หวัน ด้วยจุดเด่นของชา นํ้าตาลบราวชูการ์ เม็ดไข่มุกจากมันสำปะหลังแท้ และครีมเทียม ที่ช่วยเพิ่มความหวานมัน ทำให้ชานมไข่มุกไต้หวัน เป็นเมนูยอดฮิตที่มีเอกลักษณ์ความอร่อย

IMG_1938

“พอสเม่ เป็นศูนย์กลางของผู้ประกอบการที่ต้องการทำธุรกิจชานมไข่มุกแบบครบวงจร โดยการให้คำปรึกษาด้านการบริหารการจัดการแบรนด์สินค้า กลยุทธ์ การวางแผนให้บริการ, การออกแบบแบรนด์, การตกแต่งภายใน, โปรแกรมการฝึกอบรม, การจัดการอุปกรณ์และวัตถุดิบ โดยปัจจุบันให้คำปรึกษาและสร้างแบรนด์ไปแล้วกว่า 100 แบรนด์ มีสาขาของแบรนด์มากกว่า 5 หมื่นสาขาทั่วโลก ทั้งในอเมริกา ยุโรป เอเชียและไทย”

แอดฐานฯ

อย่างไรก็ดี ในปีหน้าบริษัทมีแผนจัดโรดโชว์นำเสนอสินค้าในต่างจังหวัด หลังจากที่ปีนี้มุ่งสร้างการรับรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ รวมทั้งทำกิจกรรมต่างๆให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อโชว์ศักยภาพให้เห็นว่าครีมเทียมสามารถนำไปใช้ทำเมนูต่างๆ ได้มากมาย นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนขยายโรงงานโดยใช้งบลงทุนอีกกว่า 500 ล้านบาท สำหรับก่อสร้างและซื้อเครื่องจักรเพื่อขยายไลน์ผลิต ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัว รองรับการขยายตลาดใหม่ไปยังตะวันออกกลาง และแอฟริกา ซึ่งมีความต้องการใช้ครีมเทียมเพิ่มมากขึ้น สำหรับยอดขายครีมเทียมในปีนี้คาดว่าจะมีรายได้รวม 1,500 ล้านบาทเติบโตขึ้น 15% แบ่งออกเป็นยอดส่งออก 55% และขายในประเทศ 45% ขณะที่รายได้โดยรวมของบริษัทในปีนี้จะมียอดขายกว่า 5,000 ล้านบาท

หน้า 34 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,430 วันที่ 27 - 29 ธันวาคม พ.ศ.2561 595959859