บีโอไอไฟเขียว! "พลังงานมหานคร" ลงทุนกว่า 1,000 ล้าน ตั้งสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า 3,000 หัวจ่าย กระจายในทุกภาคทั่วประเทศ พร้อมอนุมัติโครงการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า หนุนการเติบโต หลังค่ายรถยนต์ชั้นนำของโลกหันลงทุนในไทย ป้อนความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลกว่า 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2564
นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการส่งเสริมการลงทุนได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนโครงการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าของ บริษัท พลังงานมหานคร จำกัด เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,092 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นโครงการลงทุนแห่งแรกในกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าของภาคเอกชน ที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ
[caption id="attachment_366246" align="aligncenter" width="503"]
นายโชคดี แก้วแสง[/caption]
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นการลงทุนเพื่อรองรับการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก หรือ ปลั๊ก-อินไฮบริด (Plug-In Hybrid Electric Vehicle : PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) ซึ่งปัจจุบันค่ายรถยนต์ชั้นนำของโลกได้ให้ความสนใจและวางแผนจะตั้งฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยตามแผนของการขับเคลื่อนด้านพลังงานและส่งเสริมการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาล คาดว่าจะมีรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลไม่น้อยกว่า 1.2 ล้านคัน ภายในปี 2564
"ปัจจุบันมีหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ขสมก., กฟน., กฟผ. และ ปตท. จัดให้มีสถานีอัดประจุไฟฟ้าบ้างแล้ว แต่เป็นเพียงโครงการนำร่องสำหรับรถโดยสารสาธารณะไฟฟ้า หรือ รถไฟฟ้าในหน่วยงาน ดังนั้น การลงทุนของบริษัทครั้งนี้ ซึ่งมีแผนกระจายการจัดตั้งสาขาสถานีบริการทั่วประเทศมากกว่า 3,000 หัวจ่าย ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น ระยอง ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ภูเก็ต สงขลา และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น นอกจากจะเป็นการบริการและอำนวยความสะดวก สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ใช้รถ ยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญให้บริษัทรถยนต์ลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น"
นายโชคดี กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ ยังได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่ บริษัท ดีทีเอส แดร็ค เซิลไมเออร์ ออโทโมทีฟ ซีสเท็มส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในกิจการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เงินลงทุนกว่า 542 ล้านบาท โดยโครงการนี้เป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญของระบบขับเคลื่อน ต้องใช้เทคโนโลยีทันสมัยและมีกระบวนการผลิตเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ นอกจากการลงทุนในกิจการครั้งนี้แล้ว บริษัทยังวางแผนจัดฝึกอบรมและส่งพนักงานคนไทยไปต่างประเทศ เพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีในการผลิตและการตรวจสอบคุณภาพการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า และการประกอบผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่อีกด้วย
ทั้งนี้ บีโอไอประกาศให้การส่งเสริมการลงทุนในกิจการรถยนต์ไฟฟ้าครอบคลุมทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle : HEV) รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก หรือ ปลั๊ก-อินไฮบริด (Plug-In Hybrid Electric Vehicle : PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) รวมถึงกิจการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าและกิจการสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย และสอดคล้องกับการเปลี่ยนเทคโนโลยียานยนต์ของโลก
ปัจจุบัน มีค่ายรถยนต์ได้รับส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ แล้วหลายโครงการ อาทิ โครงการผลิตรถยนต์ไฮบริดของ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท นิสสันมอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด ส่วนกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก หรือ ปลั๊ก-อินไฮบริด ได้แก่ เมอร์เซเดสเบนซ์ บีเอ็มดับเบิลยู เป็นต้น